สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มี.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 มี.ค. 2567

| 3,305 view

สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ 

โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.

ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ  

* * * * *

๑. ผลการเยือนฝรั่งเศสและเยอรมนีของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการการะทรวงการต่างประเทศ

  • นายกรัฐมนตรีฯ พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗-๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ และเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๓-๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗ ซึ่งนับเป็นสองประเทศแรกในยุโรปที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ
  • ก่อนการเยือนฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีได้แวะกรุงเบอร์ลินในช่วงเช้าของวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๗ เพื่อเข้าร่วมในงาน ITB Berlin 2024 ซึ่งเป็นงานการท่องเที่ยวประจำปีที่มีชื่อเสียง โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของไทยในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญ โดยในช่วง ๑ ม.ค. - ๑๒ มี.ค. ๖๗ มีนักท่องเที่ยวจากเยอรมนีมาไทยแล้วจำนวน ๒๔๔,๔๑๙ คน เป็นอันดับสองในตลาดยุโรปรองจากรัสเซีย
  • ผลการเยือนฝรั่งเศสที่สำคัญ
    • ฝ่ายไทยขอรับการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้นักกีฬาไทยช่วงการแข่งขันโอลิมปิก
      ฤดูร้อน ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงปารีสในช่วงกรกฎาคม - สิงหาคมปีนี้ ทั้งในส่วนของสถานที่ฝึกซ้อมและการจัดตั้ง Thai House หรือศาลาไทย ที่ฝ่ายไทยจะไปจัดแสดงมวยไทย แฟชั่น และอาหารไทย
    • ฝ่ายไทยขอให้พิจารณาผลักดันเรื่องการขอยกเว้นวีซ่าเชงเกนให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย และเน้นย้ำการเร่งรัดการเจรจาไทย-EU FTA 
    • นายกรัฐมนตรีได้เชิญประธานาธิบดีฝรั่งเศสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๖๘ เพื่อฉลองครบรอบ ๓๔๐ ปีของความสัมพันธ์ระหว่างกัน และครบรอบ ๑๗๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๖๙
    • นายกรัฐมนตรีได้แถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยเน้นย้ำความมุ่งมั่นกระชับความสัมพันธ์ทุกมิติ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนาน ค่านิยมสากลร่วม เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน จุดยืนร่วมกันในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง และวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและดิจิทัล
    • นายกรัฐมนตรียังได้พบกับผู้บริหารหน่วยงานด้านพลังงานสะอาดและภาคเอกชนที่ฝรั่งเศสอีกกว่า ๒๐ หน่วยงาน เพื่อเชิญชวนมาลงทุนในไทยและหารือแนวทางการสร้างเสริมแรงจูงใจเพิ่มดึงดูดความสนใจให้ภาคธุรกิจของฝรั่งเศสมาลงทุนสินค้า บริการ กระบวนการผลิต รวมถึงแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับไทยมากขึ้น
  • ผลการเยือนเยอรมนี
    • เห็นพ้องแนวทางที่จะยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
    • สนใจขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง เศรษฐกิจ พลังงานสะอาดและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว แบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า การเกษตรยั่งยืน การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการสร้างความเชื่อมโยงผ่านโครงการ Landbridge ของไทย การสนับสนุนแรงงาน การผลักดัน FTA ไทย-สหภาพยุโรป การท่องเที่ยว และการยกเว้นวีซ่าเชงเกนสำหรับหนังสือเดินทางธรรมดาไทย
    • หารือความร่วมมือระดับภูมิภาคและความร่วมมือในกรอบอาเซียนและในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ
    • นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้พบหารือกับภาคเอกชนชั้นนำของเยอรมนีเพื่อเชิญชวนมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะบริษัทยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมหนัก และเซมิคอนดักเตอร์
  • การเยือนฝรั่งเศสและเยอรมนีในครั้งนี้เป็นการเยือนภูมิภาคยุโรปในระดับผู้นำหลังจากที่ว่างเว้นมา
    เป็นเวลานาน ซึ่งการเดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ ในระดับสูงนับเป็นภารกิจการต่างประเทศที่สำคัญ เพื่อเป็นเรื่องการจับมือให้อุ่นและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือและหว่างภาครัฐและเอกชนต่อไป โดยเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาและความต่อเนื่อง โดยจากนี้ก็จะมีการแลกเปลี่ยนในระดับสูงกับนานาประเทศเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ

๒. ภารกิจด้านการต่างประเทศของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

  • รองนายกรัฐมนตรีฯ พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และการประชุมระดับรัฐมนตรีในกรอบ IPEF รวมถึงการหารือกับภาคเอกชนสหรัฐ
    • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ ๑๒-๑๕ มีนาคม ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นผลจากการเยือนกรุงวอชิงตันอย่างเป็นทางการของรองนายกรัฐมนตรีฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ซึ่งได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
    • เมื่อวันอังคารที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เดินทางถึงประเทศไทยพร้อมกับคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ (President's Export Council : PEC) โดยได้พบหารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหารือเต็มรูปแบบเต็มคณะร่วมกับคณะ PEC แล้ว
    • รองนายกรัฐมนตรีฯ มีกำหนดพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และคณะ PEC ในช่วงบ่ายของวันนี้ โดยจะหารือนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ และแนวทางที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนในด้านเศรษฐกิจและการขยายการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะนำคณะเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายกรัฐมนตรี รวมถึงจะพบหารือกับรัฐมนตรีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย
    • กำหนดการที่จะเกิดขึ้นที่กระทรวงการต่างประเทศฯ ได้แก่ (๑) การหารือทวิภาคีระหว่างรองนายกรัฐมนตรีฯ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และ (๒) การร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF โดยรัฐมนตรีจากประเทศหุ้นส่วน IPEF อีก ๑๒ ประเทศจะเข้าร่วมผ่านระบบทางไกล ซึ่งจะเป็นโอกาสในการหารือถึงพัฒนาการความร่วมมือภายใต้ IPEF ที่ผ่านมา และแผนการดำเนินการในระยะต่อไป
    • การจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ถือเป็นการแสดงบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ของไทยในภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนายกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือเพื่อรับมือกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับประเทศไทยและภูมิภาคด้วย
    • การเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยจะเป็นการส่งเสริมโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่จะตอบโจทย์ด้านการพัฒนาของไทยและ Thailand Vision 2030 อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงพื้นที่ชายแดนจังหวัดเชียงราย และร่วมประชุม ครม. สัญจร จังหวัดพะเยา และเยี่ยมชมการให้บริการทำหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ จังหวัดพะเยา
    • การลงพื้นที่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดชายแดนเป็นหนึ่งในภารกิจด้านการต่างประเทศของรัฐบาลเพื่อรับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่น รวมถึงประชาชนตามแนวชายแดน
    • รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ มีกำหนดเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายในวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๗ เพื่อรับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย เกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าชายแดน การเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยวและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
    • จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ จะเดินทางต่อไปยังจังหวัดพะเยา ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๗ เพื่อเข้าร่วมการประชุม ครม. สัญจร และจะใช้ในโอกาสนี้ แวะตรวจเยี่ยมหน่วยหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ ที่ศาลาประชาคม จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่การให้บริการของกรมการกงสุลภายใต้โครงการกงสุลสัญจร

๓. การช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับที่กัมพูชา  

  • เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๖.๑๕ น. ทางการกัมพูชาได้จับกุมคนไทยจำนวน ๕๔ คน ข้อหาลักลอบทำงานผิดกฎหมาย (คอลเซ็นเตอร์) ในจังหวัดพระสีหนุ และนำตัวคนไทยทั้งหมดส่งมอบให้แก่ฝ่ายไทยที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
  • กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทาง จังหวัดจันทบุรีร่วมสังเกตการณ์ และมีผู้แทนหน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดตราดรอรับกลุ่มคนไทยดังกล่าว
  • คนไทยกลุ่มนี้ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดตราดที่ ๑ หนองเสม็ด อำเภอเมืองตราด โดยทีมสหวิชาชีพเพื่อคัดกรองเหยื่อค้ามนุษย์ออกจากผู้ร่วมอยู่ในกระบวนการอาญากรรมข้ามชาติ
  • ทั้งนี้ ยังมีกระบวนการคอลเซ็นเตอร์อีกหลายแห่งในกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะบริเวณแนวชายแดน ซึ่งในห้วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็มีกลุ่มคนไทยถูกจับกุมและส่งกลับมาหลายครั้งซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
  • กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำเตือนว่า ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ มีความผิดทั้งภายใต้กฎหมายไทยและกฎหมายของประเทศเพื่อนบ้าน และมีโทษร้ายแรง ทั้งนี้ มีคนไทยเข้าร่วมขบวนการทั้งโดยสมัครใจและถูกหลอกลวง
  • หากถูกชักชวนไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีการโฆษณาค่าแรงและเงื่อนไขการทำงานที่ดีเกินจริง ขอให้รอบคอบและระมัดระวังอย่างยิ่ง รวมถึงหาข้อมูลให้รอบด้านก่อน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการใด ๆ โดยอาจสอบถามไปที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศนั้น ๆ กรมการกงสุล หรือกระทรวงแรงงาน เป็นต้น

    ประเด็นเพิ่มเติม

    ๑. นโยบายของไทยต่อเมียนมารวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ
  • ตามที่ได้มีข้อคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับนโยบายเรื่องเมียนมา ซึ่งหลายฝ่ายอาจยังได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนนั้น ขอเรียนว่า กระทรวงการต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด ได้ดำเนินการบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนไทยเสมอ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและค่านิยมสากล
  • รัฐบาลปัจจุบันมีข้อริเริ่มให้มีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาตามแนวชายแดน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ โดยไม่เลือกว่าเป็นฝ่ายใด ไทยต้องการเห็นความสงบและเสถียรภาพในเมียนมา เราคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
  • ข้อริเริ่มดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการโดยเอกเทศ แต่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศด้วย และถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการของอาเซียนในการผลักดันให้มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตาม 5 Point Consensus โดยเฉพาะในเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อ ๒๕ ของเอกสารแถลงข่าวผลการประชุม ASEAN Foreign Ministers’ Retreat เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๗ ที่ลาวซึ่งระบุว่า “ที่ประชุมต้อนรับข้อริเริ่มระหว่างไทยและเมียนมา เพื่อเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมบริเวณชายแดน ผ่านทางสภากาชาดของทั้งสองประเทศเพื่อจัดหาสิ่งของจำเป็นอย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ ให้แก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือโดยไม่มีการแบ่งแยก และที่ประชุมประสงค์ให้ AHA Centre เข้ามาร่วมสังเกตการณ์การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งข้อริเริ่มนี้จะช่วยสนับสนุนความพยายามร่วมกันของอาเซียนในการการทำให้ฉันทามติ ๕ ข้อดำเนินไปได้”
  • คาดว่าจะสามารถส่งความช่วยเหลือครั้งแรกได้ภายในเดือนนี้ และหากประสบความสำเร็จ ก็จะมีการขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
  • ในหลักการ ไทยสนับสนุนให้ฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมาได้หารือกันเพื่อนำไปสู่สันติภาพระยะยาว โดยไทยพร้อมสนับสนุนกระบวนการหารือในทุกรูปแบบ ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยหารือกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ไม่จำกัดเพียงแค่รัฐบาลเมียนมาขอให้มั่นใจว่ากระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ กระทรวงฯ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากทุกฝ่าย

๒. สถานการณ์ความไม่สงบในเฮติ

  • สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบในเฮติในขณะนี้ หลายประเทศได้ออกคำเตือนและเคลื่อนย้ายเจ้าหน้าที่บางส่วนออกจากเฮติแล้ว กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ประสานงานกับทางการเฮติ เพื่อดูแลช่วยเหลือคนไทยหากพบว่ามีคนไทยอยู่ในพื้นที่ แม้ว่าตามฐานข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูตฯ จะไม่มีคนไทยอาศัยหรือทำงานในเฮติ และได้แจ้งประกาศเตือนคนไทยไม่ให้ไปท่องเที่ยวในขณะนี้ รวมถึงแจ้งหมายเลขฉุกเฉินของสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อการติดต่อไว้ด้วยอีกทางหนึ่งแล้ว

 

* * * * *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ