สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๕

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ธ.ค. 2565

| 9,892 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพุธที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ณ ห้องประชุมกรมสารนิเทศ และทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. การสานต่อผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคระยะยาว

  • จากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่ได้ผ่านพ้นไป เราคงได้เห็นการรายงานข่าวถึงผลสำเร็จของการประชุมฯ ผ่านสื่อต่าง ๆ มากมายทั่วโลก จะขอขยายความถึงการสานต่อความสำเร็จจากผลการประชุมฯ ว่าจะเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประเทศไทยและภูมิภาคอย่างไร
  • ด้วยกระบวนการทำงานที่ต่อเนื่อง ผ่านการจัดประชุมในระดับต่าง ๆ และร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเอเปคกว่า ๑๐๐ ครั้ง ตลอดทั้งปี นำมาซึ่งความสำเร็จสูงสุดในจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยผู้นำฯ ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. ๒๐๒๒ และ (๒) เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทนำของไทยในฐานะเจ้าภาพ ที่ขับเคลื่อนเอเปคให้เดินหน้าทำงานท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายในปัจจุบัน และคงความสำคัญในการเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาคฯ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านความยั่งยืน
  • เอเปค ๒๕๖๕ ได้บรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ๓ ประการ ตามที่ตั้งเป้าไว้ ได้แก่

(๑) การทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทหลังโควิด-๑๙ โดยจัดทำแผนงานการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่อง (ค.ศ. ๒๐๒๓-๒๐๒๖) ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อม เพิ่มขีดความสามารถ และลดช่องว่างการพัฒนาให้เขตเศรษฐกิจในประเด็นการค้าการลงทุนยุคใหม่ เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่เข้าถึงประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างเต็มที่

(๒) ไทยผลักดันการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกปลอดภัยและไร้รอยต่อ โดยผลักดันข้อริเริ่มที่ช่วยกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

(๓) รับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เป็นเอกสารฉบับแรกในประวัติศาสตร์ของเอเปคที่วางบรรทัดฐานและระบุเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน การจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ สาธารณสุข และพลังงาน โดยมีการนำรูปแบบเศรษฐกิจ BCG ของไทยไปขยายผลต่อในเวทีความร่วมมือต่าง ๆ อีกทั้งยังเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและคนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจไทยและภูมิภาคในระยะยาว นอกจากนี้เป้าหมายกรุงเทพฯ จะได้รับการสานต่อโดยสหรัฐฯ ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๖ ด้วย ประโยชน์ที่ไทยได้รับทั้งหมดข้างต้น จะทำให้ไทยสามารถแสดงบทบาทนำในเรื่องดังกล่าวในเวทีระหว่างประเทศ และช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองด้านการต่างประเทศต่อไป

  • จากความสำเร็จของการประชุมเอเปค ไทยได้สร้างความเชื่อมั่นให้โลกเห็นถึงความพร้อมในการต้อนรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวกลับสู่ไทยอีกครั้งในยุคหลังโควิด-๑๙ โดยได้ถ่ายทอดความโดดเด่นทางศักยภาพทางเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่โอกาสการค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งภาพความโดดเด่นทางวัฒนธรรม ทั้งอาหาร ศิลปวัฒธรรมของไทยสู่สายตาของผู้นำและคณะต่างชาติเดินทางมาเยือนไทยประมาณ ๓,๐๐๐ คน และสื่อต่างชาติอีกกว่า ๒,๒๐๐ คนตลอดช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเอเปคที่ผ่านมา
  • ในส่วนของไทยการสานต่อประโยชน์ที่ได้รับจากการประชุมเอเปคให้เป็นรูปธรรมในระยะยาวเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการค้า การลงทุน ผ่านกฎหมาย ระเบียบวิธีการและงบประมาณ ภาคเอกชน ต้องปรับวิธีการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG ที่ครอบคลุมและยั่งยืน ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี พัฒนานวัตกรรม ภาคประชาชน ต้องเรียนรู้การเป็นผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบและพัฒนาทักษะความรู้ เพื่อก้าวสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง

 

๒. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ ๒๒ (๒๔ พ.ย. ๒๕๖๕)

  • นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผช.รมต.ประจำ กต. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วม กปช. สภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ ๒๒ (22nd Meeting of the Council of Ministers of the Indian Ocean Rim Association) ที่กรุงธากา บังกลาเทศ โดยมีบังกลาเทศเป็นประธาน
  • ทปช. ได้หารือแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนของประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ไทยย้ำความสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เน้นการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิก สนับสนุนให้ IORA บรรจุประเด็นความร่วมมือเพื่อการทำประมงอย่างยั่งยืน อาทิ การต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และการกำจัดขยะทะเลไว้ในแผนการทำงาน
  • ไทยยังได้นำเสนอความเกี่ยวโยงของวาระข้างต้นกับเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ทปช. ผู้นำเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ว่าจะช่วยสร้างโอกาสที่ดีสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการพัฒนาที่ครอบคลุมในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียในยุคหลังโควิด-๑๙
  • ทปช. ได้รับรองแถลงการณ์ธากา (Dhaka Communique) เป็นเอกสารผลลัพธ์ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของความร่วมมือแต่ละสาขา และสะท้อนเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-๑๙ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

๓. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือผู้อำนวยการสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) (๒๙ พ.ย. ๒๕๖๕)

  • นางสาวซาร่า ลู อิสมาเอล อาร์ริโอลา ผู้อำนวยการสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) คนใหม่ เข้าเยี่ยมคารวะนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัด กต. เนื่องในโอกาสได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานประจำภูมิภาคฯ ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
  • นางอาร์ริโอลา แสดงความชื่นชมบทบาทของไทยในฐานะประเทศที่อาสาเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบและปกติ (GCM Champion Country) และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานประจำภูมิภาคฯ โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนกิจกรรมและความร่วมมือในกรอบอาเซียนในประเด็นเกี่ยวการบริหารจัดการแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความท้าทายเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน ในบริบทของการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
  • ปลัด กต. ได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน IOM ทั้งระดับภูมิภาคและระดับประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ตั้งของสำนักงานทั้งสอง

 

๔. ผลการตัดสินโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ๒๕๖๕ (๒๘ พ.ย. ๒๕๖๕)

  • กต.ได้ร่วมแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ร่วมกับศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
  • ผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนฯ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้แก่
    ๑. นางสาวนภสิริ พุทธันบุตร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
    ๒. นายประณัยเดช เฮงสวัสดิ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
    ๓. นายปิยวัฒน์ คันธโกวิท คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ๔. นายศรุต เชาวะวณิช คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี ม.มหิดล
    ๕. นายเสฏฐนันท์ จารุเกษมกิจ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี ม.มหิดล
  • ผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ ข้างต้นจะเดินทางไปปฏิบัติงานด้านการศึกษาวิจัยฝึกปฏิบัติวิชาชีพ หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชนในต่างประเทศเป็นระยะเวลา ๑ ปี โดย กต. จะจัดการบรรยายสรุปและให้คำแนะนำในการเตรียมตัวของผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ ก่อนเดินทางไปปฏิบัติงาน พร้อมทั้งจะประสานงานกับ สอท./สกญ. ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกและดูแลผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ ระหว่างพำนักอยู่ในต่างประเทศต่อไป

 

๕. การนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย

  • ตามที่มีข่าวว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ (Muthu Raja) ซึ่งเป็นหนึ่งในช้างสามเชือกที่รัฐบาลไทยมอบให้รัฐบาลศรีลังกา ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ถูกร้องเรียนว่าถูกใช้งานหนักจนล้มป่วยนั้น ขอเรียนว่ารัฐบาล ศรีลังกาได้มอบพลายศักดิ์สุรินทร์ให้แก่วัด Kande Vihara (กานเด วิหาร) เป็นผู้ดูแลเพื่อเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าในงานแห่พระธาตุประจำปีของศรีลังกา
  • เมื่อเดือน พ.ค. ๒๕๖๕ กต. ได้รับแจ้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา (Rally for Animal Rights & Environmen—RARE) ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้แรงงานพลายศักดิ์สุรินทร์ค่อนข้างหนัก โดยพลายศักดิ์สุรินทร์ไม่ได้รับการดูแล และควรได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน
  • เมื่อทราบเรื่อง กต. ได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการเร่งด่วน ขณะที่ สอท. ณ กรุงโคลัมโบ ได้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้น พบว่า พลายศักดิ์สุรินทร์มีสุขภาพและสภาพความเป็นอยู่ไม่ดีนัก จึงได้ร่วมกับคณะสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญไทยจากกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เดินทางไปตรวจสุขภาพและความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์อีกครั้ง ซึ่งคณะสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ควรให้พลายศักดิ์สุรินทร์หยุดการทำงานและส่งตัวกลับมารักษาอาการป่วยที่ไทย
  • โดยตั้งแต่วันที่ ๙ พ.ย. ๒๕๖๕ พลายศักดิ์สุรินทร์ถูกนำตัวไปรักษาและฟื้นฟูสุขภาพเบื้องต้นที่สวนสัตว์ Dehiwala (เดฮีวาลา) โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญไทยและศรีลังกาให้การดูแล
  • โดยที่ช้างเป็นสัตว์ป่าสงวนตามกฎหมายไทย และเป็นสัตว์ตามบัญชีแนบท้าย ๑ ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) การนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีเอกสารแสดงความยินยอมของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายศรีลังกา และต้องดำเนินการตามกระบวนการขออนุญาตนำเข้า/ส่งออกสัตว์ป่าของอนุสัญญาอย่างครบถ้วน รวมทั้งต้องจัดเตรียมการขนส่งที่ปลอดภัยลดความเสี่ยงที่ช้างจะได้รับบาดเจ็บหรือทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น ตามระเบียบต่าง ๆ อาทิ ระเบียบการขนส่งสัตว์มีชีวิตของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA Live Animals Regulations) และแนวปฏิบัติของ CITES สำหรับการขนส่งสิ่งมีชีวิตและพืชที่ไม่ใช่การขนส่งทางอากาศ (the CITES guidelines for the non-air transport of live animals and plants)
  • ขณะนี้ หน่วยงานไทยและศรีลังกาอยู่ระหว่างการประสานงานกันเกี่ยวกับขั้นตอนการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามข้อกำหนดและแนวทางของ CITES โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดย สอท. ยังคงติดตามและเร่งรัดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

๖. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

  • พรุ่งนี้ (วันพฤหัสบดีที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๕) เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์คุณณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร (คุณเล็ก) ประธานบริหาร นายเลิศกรุ๊ป โรงแรมปาร์กนายเลิศ ในหัวข้อ “ปาร์คนายเลิศทุ่มสุดตัวโชว์ความเป็นไทยในงานประชุมเอเปค ๒๐๒๒” สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
  • วันศุกร์ที่ ๒ ธ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์คุณมาระตี นะลิตา อันดาโม ผอ. กองประมวลและวิเคราะห์ข่าว กรมสารนิเทศ ในหัวข้อ “Behind the Success of APEC 2022 Thailand” สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
  • กต. ขอขอบคุณองค์การ หน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพเอเปคที่ดี และทำให้การจัดการประชุมครั้งนี้ของไทยประสบความสำเร็จ

 

* * * * *

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง:  https://fb.watch/h6DRulRs0Y/

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA ThailandChannel”: https://www.youtube.com/user/mfathailand

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ