สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันศุกร์ที่ ๒๑ เม.ย. ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องแถลงข่าว
และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. ความคืบหน้าการเตรียมการจัดการเลือกตั้งทั่วไปนอกราชอาณาจักร (ลต.นรจ.) ปี ๒๕๖๖
- ตามที่ สอท./สกญ./สนง.การค้าและเศรษฐกิจไทย ได้เปิดลงทะเบียนขอใช้สิทธิ ลต.นรจ. ระหว่างวันที่ ๒๕ มี.ค. - ๙ เม.ย. ๒๕๖๖ นั้น มียอดลงทะเบียนทั้งหมด ๑๑๕,๑๓๙ คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ ลต.นรจ. ครั้งที่แล้ว
- ผู้ลงทะเบียนสามารถตรวจสอบรายชื่อผ่าน ๔ ช่องทาง คือ (๑) เว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทย https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelection (๒) แอพพลิเคชั่น Smart Vote (๓) แอพพลิเคชั่น ThaID และ (๔) สื่อสังคมออนไลน์ของ สอท./สกญ. ที่ท่านได้ลงทะเบียน
- สำหรับการเลือกตั้งแบบคูหา ให้ท่านเตรียมเอกสารยืนยันตัวตนให้พร้อม ประกอบด้วย (๑) บัตรประชาชน หรือ (๒) บัตรที่ทางราชการออกให้ ที่มีภาพใบหน้า มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก และมีอายุการใช้งาน อาทิ ใบขับขี่ หรือแสดง Digital ID จากแอพพลิเคชั่น ThaID
- สำหรับการกำหนดวัน เวลา สถานที่ และวิธีในการจัดการเลือกตั้ง แต่ละ สอท./สกญ. จะพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยวิธีการจัดเลือกตั้ง ประกอบด้วย การจัดคูหาเลือกตั้ง การเลือกตั้งทางไปรษณีย์ หรือบริการหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มากที่สุด
- กกต. กำหนดให้จัด ลต.นรจ. ระหว่างวันที่ ๒๔ เม.ย. - ๕ พ.ค. ๒๕๖๖ ท่านสามารถโทรศัพท์สอบถามหรือติดตามช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของ สอท./สกญ. ที่ท่านลงทะเบียน เกี่ยวกับข้อมูล วัน เวลาสถานที่และวิธีในการจัดการเลือกตั้ง
- ในประเด็นของบัตรเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๔ เม.ย. ๒๕๖๖ กระทรวงฯ ได้รับมอบบัตรเลือกตั้งจาก กกต. และได้จัดส่งให้แก่ สอท./สกญ./สนง. การค้าฯ ทั่วโลกแล้ว โดยขณะนี้ สอท./สกญ. ๘๘ แห่ง (จาก ๙๔ แห่ง) ได้รับบัตรเลือกตั้งแล้ว (สถานะ ณ วันที่ ๒๑ เม.ย. ๒๕๖๖)
- สำหรับการขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับมานับคะแนนในประเทศไทย กระทรวงฯ ได้ถอดบทเรียนจากการจัด ลต.นรจ. เมื่อปี ๒๕๖๒ และได้นำประสบการณ์มาปรับใช้เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยในประเทศที่การขนส่งและระบบไปรษณีย์ที่มีปัญหา เจ้าหน้าที่ สอท./สกญ. จะเดินทางนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วมาส่งที่ประเทศไทยด้วยตนเอง
- กระทรวงฯ ได้นำระบบดิจิทัล คือ ระบบ Overseas Voting Monitoring System (OVMS) มาใช้ในการติดตามการจัด ลต.นรจ. ของ สอท./สกญ. ทุกแห่ง โดยระบบสามารถประมวลผลความคืบหน้าของ ลต. นรจ. แบบตามเวลา (real time) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการ ลต.นรจ. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และสะดวกเข้าถึงได้สำหรับผู้ลงทะเบียนทุกท่าน ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจที่กระทรวงฯ จะทำทุกวิถีทางให้ท่านเข้าถึงสิทธิในการเลือกตั้ง
๒. การให้ความช่วยเหลือคนไทยในซูดาน
- ตามที่เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพซูดาน (Sudan Armed Forces: SAF) และกองกำลังติดอาวุธ Rapid Support Forces (RSF) ในกรุงคาร์ทูมและบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เม.ย. ๒๕๖๖ เป็นต้นมานั้น เมื่อวันที่ ๒๐ เม.ย. ๒๕๖๖ รปกต. ณัฐพล ขันธหิรัญ เป็นประธานประชุมคณะทำงานศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน (Rapid Response Center: RRC) เพื่อติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในซูดาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า ๑๕ หน่วยงานเข้าร่วมการประชุมเพื่อพิจารณาความพร้อมและแผนการช่วยเหลือคนไทยต่าง ๆ โดย สอท. ณ กรุงไคโร (เขตอาณารับผิดชอบซูดาน) นำโดย ออท. พุทธพร อิ้วตกส้าน (ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย) และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม เป็นหน่วยงานหลักของไทยในพื้นที่ที่ช่วยติดต่อกับคนไทยในพื้นที่ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
- จากข้อมูล ณ วันที่ ๑๙ เม.ย. ๒๕๖๖ มีพลเรือนเสียชีวิตแล้ว ๑๘๘ ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า ๑,๘๐๐ ราย คาดว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะไม่ยุติลงโดยเร็ว
- ปัจจุบัน มีคนไทยพำนักอยู่ในซูดานประมาณ ๒๕๐ คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนไทยมุสลิมประมาณ ๒๐๐ คน โดย ศอบต. ให้ความสนใจและประสานงานกับกระทรวงฯ อย่างใกล้ชิด นักศึกษาส่วนใหญ่ ศึกษาอยู่ที่ International University of Africa ในกรุงคาร์ทูม และส่วนที่เหลือเป็นคนไทยที่ทำงานหรือสมรสกับชาวซูดาน ซึ่งในชั้นนี้ทุกคนยังปลอดภัย กระทรวงฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ สอท. ณ กรุงไคโร ได้ประสานติดต่อกับหัวหน้าชุมชนไทย และนายกสมาคมนักเรียนไทยในซูดาน
- ล่าสุด กระทรวงฯ ได้อนุมัติงบประมาณให้ สอท. ณ กรุงไคโร ร่วมกับสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่คนไทยในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องอาหารและน้ำดื่ม
- กระทรวงฯ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้หารือเตรียมพร้อมเรื่องการอพยพคนไทยไว้แล้ว ขณะนี้ยังต้องรอดูและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากน่านฟ้าซูดานและสนามบินยังปิดอยู่ และเส้นทางการเดินทางทางบกยังคงไม่ปลอดภัยนัก
- สอท. ณ กรุงไคโร ได้ประสานกับ สอท. ต่างชาติประจำซูดานและอียิปต์ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น และหน่วยงานของสหประชาชาติ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อติดตามสถานการณ์ในซูดาน รวมทั้งขอรับความร่วมมือในการจัดเตรียมแผนอพยพร่วมกันด้วย โดยขอให้วางใจว่าทางการไม่ดูดายความปลอดภัยของพี่น้องคนไทย และขอร่วมส่งกำลังใจให้ผ่านพ้นความยากลำบากในครั้งนี้ไปได้
- หมายเลขฉุกเฉินสำหรับการติดตามให้ความช่วยเหลือคนไทยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสาธารณรัฐซูดาน
- กระทรวงการต่างประเทศ (สำหรับญาติของนักเรียนและคนไทยในซูดานที่ประสงค์จะสอบถามสถานการณ์)
- โทร. ๐๙๖-๑๖๕-๗๑๒๐ / ๐๙๖-๓๕๒-๐๕๑๓ / ๐๙๖-๓๕๒-๙๐๑๕
- สอท. ณ กรุงไคโร
๓. การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย ครั้งที่ ๘
- กระทรวงฯ จะจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย (Joint Thai-Russian Commission on Bilateral Cooperation: JC) ครั้งที่ ๘ ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๗ เม.ย. ๒๕๖๖ โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รนรม./รมว.กต. เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และนายอะเล็กเซย์
เซคุนคอฟ (Aleksey Chekunkov) รมว.กระทรวงการพัฒนาภูมิภาค ตะวันออกไกลและอาร์กติก เป็นประธานร่วมฝ่ายรัสเซีย
- การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวน กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย ผ่านการผลักดันสาขาความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ การค้าและการลงทุน อุตสาหกรรม พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกษตร และการประมง การศึกษา วัฒนธรรม กีฬา คมนาคม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวรัสเซีย
- การประชุม JC ไทย-รัสเซีย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๖ โดยฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุม JC ไทย-รัสเซีย ครั้งที่ ๗ เมื่อปี ๒๕๖๑ ที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนสำคัญ ที่ช่วยทำให้ไทยและรัสเซียมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นดังสังเกตได้จากการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงหลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมาและการร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ ๑๒๕ ปี ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย ในปีที่แล้ว
๔. ประชาสัมพันธ์กิจกรรมสำหรับสื่อมวลชน
- (๑) การแถลงข่าวรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๖ (๒๘ เม.ย. ๒๕๖๖)
- กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทย จะจัดการแถลงข่าวรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๖ ในวันที่ ๒๘ เม.ย. นี้ ภายหลังการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดย อธ.กรมสารนิเทศ/โฆษกกระทรวงฯ และออท.ธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย จะเป็นผู้แถลงร่วมกัน
- รางวัลการทูตสาธารณะจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๖๕ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะคนแรกของประเทศไทย คือ นายแพทย์สุนทร อันตรเสน มีผลงานโดดเด่นในการจัดตั้งและดำเนินโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ซึ่งออกตรวจรักษาและผ่าตัดโรคหูน้ำหนวกในต่างประเทศมาตลอดระยะเวลามากกว่า ๓๐ ปี โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน
- สื่อมวลชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการแถลงข่าวที่ https://forms.gle/D8f1X8xen7V3MTTX7
- (๒) การประชุม ESCAP Commission สมัยที่ ๗๙ (CS79) (๑๕ พ.ค. ๒๕๖๖)
- ในระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๗ พ.ค. ๒๕๖๖ จะมีการประชุม ESCAP 79th Session of the Commission (CS79) แบบ hybrid ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน โดยการประชุมนี้เป็นการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ ESCAP ที่จัดขึ้นเป็นสมัยที่ ๗๙
- การประชุม CS79 มุ่งหารือเกี่ยวกับนโยบายและโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อเร่งรัดการดำเนินการรับมือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการกระตุ้นการเงิน และการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ผู้แทนระดับสูงจากหลายประเทศจะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมที่ประเทศไทย ได้แก่ นรม. ตองกา / นรม. หมู่เกาะคุก / นรม. ซามัว/ รมว. กต. ตองกา / รมว. กต. ซามัว / และ รมว. คลัง ตูวาลู (สถานะ ๑๐ เม.ย. ๖๖) และคาดว่าจะมีผู้แทนประเทศเข้าร่วมการประชุมนี้ ทั้งหมดประมาณ ๔๐๐ คน
- สื่อมวลชนสามารถร่วมทำข่าวกิจกรรมสำคัญ ดังนี้
- พิธีเปิดในช่วงเช้าของวันที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๖๖ โดย รนรม./รมว.กต. จะกล่าวถ้อยแถลงของไทยผ่านวีดิีทัศน์ และนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผช.รมต.กต. ในฐานะปธ. วาระการประชุมสมัยก่อนหน้า จะส่งมอบตำแหน่งให้ตองกา เป็น ปธ. ในวาระนี้ต่อไป
- นิทรรศการ Climate Solutions Fair บริเวณหน้าห้องประชุม ซึ่งจัดแสดงองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติของประเทศสมาชิก ESCAP ในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ
- งานเลี้ยงรับรองหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศต่าง ๆ ในช่วงค่ำของวันที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๖๖ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
- สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/YLzw8gGSUWYYbZLb7
รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/k1VwjIxS2s/
* * * * *
กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ