สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 มิ.ย. 2567

| 997 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องแถลงข่าว  
และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

 

. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS

  • เมื่อวันที่ ๙ - ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่าง BRICS กับประเทศกำลังพัฒนา ที่เมืองนิจนีนอฟโกรอด รัสเซีย ภายใต้วาระการเป็นประธาน BRICS ของรัสเซีย และได้กล่าวถ้อยแถลงในห้วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในหัวข้อ “การส่งเสริมระบบพหุภาคีเพื่อการพัฒนาและความมั่นคงระดับโลกที่เป็นธรรม”
  • ในคำกล่าว รัฐมนตรีฯ ได้ย้ำความสำคัญของ BRICS ที่ส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบพหุภาคี ซึ่งไทยสามารถมีส่วนร่วมในการยกระดับความร่วมมือของ BRICS โดยเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง BRICS กับกรอบความร่วมมือที่ไทยเป็นสมาชิก นอกจากนี้ ไทยยังได้เสนอให้ BRICS ขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้วต่อไป
  • ประโยชน์หลักที่ไทยได้รับจากการประชุมครั้งนี้ คือ ได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิก BRICS ซึ่งไม่ใช่การเลือกข้างหรือการรวมกลุ่มเพื่อคานอำนาจฝ่ายใด แต่จะช่วยส่งเสริมบทบาทและศักยภาพของไทยให้มีบทบาทร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ในการชี้นำหรือวางแนวทางการพัฒนาของประชาคมโลก เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและเสมอภาค ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
  • นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้การพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย อีกทั้งพบปะกับผู้แทนระดับสูงจากนานาประเทศ และได้ใช้โอกาสนี้ผลักดันการเข้าเป็นสมาชิก BRICS ของไทยต่อไป

 

. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสันติภาพในยูเครน (The Summit on Peace in Ukraine) ที่สวิตเซอร์แลนด์

  • เมื่อวันที่ ๑๕ - ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสันติภาพในยูเครน (The Summit on Peace in Ukraine) ที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้เข้าร่วมจาก ๙๒ ประเทศ ๘ องค์การระหว่างประเทศ
  • ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวถ้อยแถลง โดยเน้นย้ำว่า โลกจำเป็นต้องเสริมสร้างสันติภาพอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับยูเครนในการรักษาความมั่นคงทางอาหารโลก ซึ่งถือเป็นบทบาทของไทยในฐานะ “ครัวของโลก” อยู่แล้ว ผ่านการสนับสนุนข้อริเริ่มต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยรักษาความมั่นคงของระบบอาหารโลกในยามวิกฤตอย่างเต็มที่ อีกทั้งไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือยูเครนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่เกษตรกรรมจากภาวะสงคราม
  • ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอดกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ผ่านการเจรจาและทางการทูตบนพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครนมาอย่างต่อเนื่อง
  • การเข้าร่วมการประชุมนี้แสดงให้เห็นว่า ไทยสนับสนุนความพยายามของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ความขัดแย้งยุติโดยเร็ว และไทยจะร่วมสนับสนุนการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งดังกล่าว ทั้งในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป
  • ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหราชอาณาจักร และอธิบดีกรมกิจการการเมืองเนเธอร์แลนด์ เพื่อหารือและผลักดันประเด็นด้านทวิภาคีระหว่างไทยกับประเทศดังกล่าวด้วย

 

๓. ความคืบหน้าการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย

  • เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๗ คณะมนตรีองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มีมติเห็นชอบให้เชิญไทยเข้าสู่กระบวนการการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย
  • ขั้นตอนต่อไป ไทยจะร่วมกับ OECD จัดทำแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) เพื่อกำหนดเป้าหมาย เงื่อนไข และกรอบเวลาในการดำเนินการให้สอดคล้องกับตราสารของ OECD
  • การตอบรับดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีค่านิยมและเป้าหมาย ได้แก่ ประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน และตลาดที่เปิดกว้างและโปร่งใส สอดคล้องกับประเทศสมาชิก OECD มีบทบาทด้านการทูตเศรษฐกิจที่แข็งขัน รวมถึงมีความร่วมมือกับ OECD มาอย่างต่อเนื่อง และมีความสัมพันธ์อันดีประเทศสมาชิก OECD
  • การหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยมุ่งที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างไทยกับ OECD และประเทศสมาชิก เพื่อยกระดับมาตรฐานและปรับปรุงนโยบายภายในของไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานของ OECD โดยเฉพาะด้านการลงทุน การค้า ธรรมาภิบาล การแข่งขันที่เป็นธรรม การพัฒนานวัตกรรม และการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง
  • การดำเนินการตามแผนการเข้าเป็นสมาชิกจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งช่วยเพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระยะยาว

. ภารกิจการต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในห้วงสัปดาห์หน้า

๔.๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ ๑๙ ที่กรุงเตหะราน

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ ๑๙ ที่กรุงเตหะราน อิหร่าน ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๗
  • ACD ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๕ โดยการริเริ่มของไทย ปัจจุบันมีสมาชิก ๓๕ ประเทศ เป็นเวทีเดียวที่มุ่งหารือระดับนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้ในเชื้อใจ และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงหาแนวทางรับมือความท้าทายต่าง ๆ ของโลก
  • ประธาน ACD จะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีปีละครั้ง โดยปีนี้อิหร่านเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ขณะที่ไทยได้แจ้งความประสงค์ขอเป็นประธาน ACD วาระปี ๒๕๖๘ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
  • ไทยต้องการผลักดันประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมให้กรอบ ACD มีพลวัตต่อเนื่องและยั่งยืน ยกระดับให้ ACD เป็นเวทีหารือระดับนโยบายที่มีความหมายและตรงประเด็นสำหรับภูมิภาคเอเชีย ใช้ประโยชน์จากกรอบ ACD ในการทำให้ไทยเป็นที่ประจักษ์ในเวทีระหว่างประเทศ และขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ

 

๔.๒ การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีภูฏาน

  • ดาโช เชริง โตบเกย์ (Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีภูฏานและภริยา มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๗ ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีภูฏาน หลังจากเข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๗
  • การเยือนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะในปีนี้ที่เป็นโอกาสครบรอบ ๓๕ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ภูฏาน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา พลังงานสะอาด และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนของไทยในโครงการเมืองอัจฉริยะ Gelephu Mindfulness City ของภูฏานด้วย
  • นายกรัฐมนตรีภูฏานมีกำหนดการพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ โดยจะมีพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ การหารือเต็มคณะ การแถลงข่าวร่วม การหารือระหว่างอาหารกลางวัน รวมถึงการร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทยกับภูฏาน ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับภูฏาน และ (๒) บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกรมการแพทย์ กับ Khesar Gyalpo University of Medical Sciences ภูฏาน
  • ระหว่างการเยือน นายกรัฐมนตรีภูฏานมีกำหนดจะเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย อาทิ การพบปะผู้แทนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว และการกล่าวปาฐกถาพิเศษ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

. การคืนโบราณวัตถุชิ้นส่วนปราสาทหินพนมรุ้งจากสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโกกลับสู่ประเทศไทย

  • เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๗ สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก แจ้งความประสงค์ที่จะส่งคืนเสาติดผนังสลักจากหินทรายรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะให้แก่ไทย โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า เป็นเสาติดผนังด้านซ้ายของกรอบประตูมณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งคาดว่าถูกลักลอบนำออกไปจากไทยเมื่อปี ๒๕๐๘ ก่อนที่กรมศิลปากรจะเริ่มโครงการบูรณะปราสาทฯ
  • ก่อนจะมีการพิจารณาส่งคืน ผู้เชีี่ยวชาญของสถาบันฯ ได้ทำการศึกษาโบราณวัตถุดังกล่าวแล้วและพบว่า โบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นเสาติดผนังที่มีอายุในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ และคาดว่า น่าจะเป็นชิ้นส่วนจากปราสาทหินพนมรุ้้งของไทย จึงได้เริ่มประสานงานตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย เมื่อได้รับการยืนยันจากกรมศิลปากร สถาบันฯ จึงได้จัดทำความตกลงระหว่างกันเพื่อคืนโบราณวัตถุชิ้นนี้ให้แก่ไทย โดยคณะกรรมการจัดการทรัพย์สินของสถาบันฯ ได้เห็นชอบให้ถอดโบราณวัตถุรายการนี้ออกจากทะเบียนของสถาบันฯ แล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา
  • สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก มีบทบาทในการประสานงานเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น โดยได้ประสานกับสถาบันฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทย ทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกรมศิลปากร เพื่อดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งจะประสานรายละเอียดเพิ่มเติมกับทุกฝ่าย เพื่อหารือเกี่ยวกับขั้นตอนและการจัดส่งโบราณวัตถุดังกล่าวกลับสู่ไทยต่อไป

* * * * *

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/CfiMQspfmsSgKvag/?

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ