สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น. 

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น. 

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ส.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ส.ค. 2566

| 7,223 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น. 

ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. สถานการณ์ไฟป่าบนเกาะ Maui รัฐฮาวายของสหรัฐฯ (๘ ส.ค. ๒๕๖๖)

  • สกญ. ณ นครลอสแอนเจลิส รายงานสถานการณ์ไฟป่าที่เกาะ Maui รัฐฮาวาย ซึ่งสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนในวงกว้าง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน ๕๓ คน (สถานะเมื่อวันที่ ๑๐ ส.ค. ๒๕๖๖) โดยมีสาเหตุจากอากาศที่ร้อนจัดและแห้งในช่วงฤดูร้อน รวมถึงพายุลมแรงที่พัดกระหน่ำหลังเกิดเฮอร์ริเคน Dora
    ทำให้ไฟป่าก่อตัวและลุกลามอย่างรวดเร็ว
  • จำนวนคนไทยในรัฐฮาวายตาม Census 2020 ของสหรัฐฯ มีประมาณ ๕,๐๐๐ คน แต่ยังไม่มีความชัดเจนถึงจำนวนคนไทยที่พำนักบนเกาะ Maui ทั้งนี้ สกญ.ฯ ได้ประสานชุมชนไทยในพื้นที่แล้ว ทราบว่า มีคนไทยจำนวนหนึ่งได้อพยพไปอยู่ศูนย์ที่พักฉุกเฉินของทางการแล้ว ขณะที่บางส่วนได้ย้ายไปพำนักตามบ้านเพื่อน นอกจากนี้ ยังได้แจ้งให้ชุมชนไทยในพื้นที่ช่วยกันแจ้งช่องทางติดต่อของตนให้ สกญ. ทราบผ่านทางกรุ๊ปไลน์ “Maui rescue” ด้วย
  • นักศึกษาจากโครงการ Work and Travel ทั้ง ๑๒ คนที่อยู่ในพื้นที่ ปลอดภัย ทั้งนี้ นักศึกษาบางส่วนหนังสือเดินทางหายไปในห้วงสถานการณ์ ซึ่ง สกญ. จะช่วยดูแลให้ต่อไป
  • ในกรณีฉุกเฉิน ช่องทางติดต่อ สกญ.ฯ คือ ไลน์ @thaiconsulate.la

 

๒. รนรม./รมว.กต. พบหารือกับคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (๓ ส.ค. ๒๕๖๖)  

  • นายธานี แสงรัตน์ ออท. ณ กรุงวอชิงตัน ได้นำคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สหรัฐฯ นำโดยนาย Jason Smith สส. พรรครีพับลิกัน รัฐมิสซูรี ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ (House Committee on Ways and Means) เยือนไทยระหว่างวันที่ ๒-๓ ส.ค. ๒๕๖๖ พร้อม สส. สหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตอีก ๗ คน เพื่อกระชับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ
  • เมื่อวันที่ ๒ ส.ค. ๒๕๖๖ คณะ สส. สหรัฐฯ ได้เข้าพบหารือกับ รนรม./รมว.กต. ที่กระทรวงฯ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ การค้า การลงทุน การขยายโอกาสในกลุ่มสินค้าเกษตร การเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และความร่วมมือต่าง ๆ ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการที่สำคัญในภูมิภาค รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมาด้วย
  • ในโอกาสนี้ รนรม./รมว.กต. ได้ขอบคุณ สส. Michelle Steel ที่จัดตั้ง S.-Thai Alliance Caucus ในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทยกับประเทศต่าง ๆ ที่จะมุ่งสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกรัฐสภาของทั้งสองประเทศและเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ
  • รนรม./รมว.กต. ได้เป็นเจ้าภาพการหารือระหว่างอาหารกลางวันกับคณะ โดยมีผู้แทนระดับสูงจากหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย รวมถึงภาคเอกชนทั้งไทยและสหรัฐฯ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและหารือแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

 

๓. การเยือนไทยของ ลธก. องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) (๘–๑๑ ส.ค. ๒๕๖๖)

  • นายฮุซัยน์ บรอฮีม ฏอฮา (Hissein Brahim Taha) ลธก. OIC เดินทางมาเยือนไทย ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๑ ส.ค. ๒๕๖๖ ตามคำเชิญของ รนรม./รมว.กต. โดยมีกำหนดการที่สำคัญ ได้แก่ การเยี่ยมคารวะ นรม. การประชุมหารือกับ รนรม./รมว.กต. การเยี่ยมชุมชนสามศาสนา (วัดประยูรวงศาวาส วรวิหาร กรุงเทพฯ) รวมถึงการพบหารือกับผู้บริหารสำนักจุฬาราชมนตรี และผู้บริหารมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย
  • เมื่อวันที่ ๙ ส.ค. ๒๕๖๖ ลธก. OIC ได้เข้าพบหารือกับ รนรม./รมว.กต. โดยมี พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร ลธก. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย โดยทั้งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการดำเนินโครงการความร่วมมือไตรภาคีกับ OIC ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ที่ไทยเชี่ยวชาญ เช่น การเกษตร การประมง การท่องเที่ยว สาธารณสุข ฯลฯ ให้แก่ประเทศที่สาม ขณะที่ ลธก. OIC ชื่นชมประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนที่มีศักยภาพ รวมถึงแสดงความพึงพอใจต่อการดำเนินนโยบายของไทยที่ให้การดูแลคนทุกกลุ่มวัฒนธรรมในสังคมโดยเท่าเทียมกัน
  • ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ลธก. OIC ได้เดินทางไปเยี่ยมชมชุมชนวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร มัสยิดบางหลวง และโบสถ์ซางตาครู้ส ( “ชุมชนสามศาสนา”) เพื่อสัมผัสความเป็นสังคมพหุสังคมวัฒนธรรมของไทย ซึ่งชุมชนต่างวัฒนธรรมเหล่านี้ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติมาช้านาน
  • เมื่อช่วงเช้าของวันที่ ๑๐ ส.ค. ๒๕๖๖ ลธก. OIC ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นรม. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดย นรม. ได้เน้นย้ำถึงการเคารพสิทธิเสรีภาพในการนับถือทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม โดยพี่น้องชาวไทยมุสลิมสามารถแสดงออกและปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเสรี ที่ผ่านมา คนไทยมุสลิมมีบทบาทสำคัญการพัฒนาประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเลขาธิการ OIC รับทราบด้วยความขอบคุณ
  • องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC มีชื่อเดิมว่า องค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of the Islamic Conference) ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๑๒ ปัจจุบัน มีสมาชิก ๕๗ ประเทศ เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลที่สำคัญที่สุดของโลกมุสลิม มีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่เมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย ไทยเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ของ OIC ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ เพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่นโยบายของไทยต่อโลกมุสลิม ยกระดับความร่วมมือกับประเทศโลกมุสลิม

 

๔. การประชุมหารือระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย - อินเดีย (Thailand - India Foreign Office Consultations: FOC) ครั้งที่ ๗ (๗ ส.ค. ๖๖)

  • นายเสารัภ กุมาร (Saurabh Kumar) ปลัด กต. อินเดีย (ฝ่ายกิจการภูมิภาคตะวันออก) เดินทางเยือนไทยเมื่อวันที่ ๗ ส.ค. ๒๕๖๖ เพื่อเป็นประธานร่วมกับปลัด กต. ในการประชุม FOC ไทย – อินเดีย ครั้งที่ ๗
  • การประชุมครั้งนี้ได้หารือประเด็นต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ย้ำความสำคัญของการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและการพบหารือระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง การเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างกัน การส่งเสริมความเชื่อมโยง รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการศึกษา ซึ่งเป็นจุดเด่นของอินเดีย ขณะที่มีเยาวชนไทยเดินทางไปศึกษาในอินเดียจำนวนไม่น้อย
  • ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือในอนุภูมิภาค ภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในกรอบความร่วมมือแม่โขง-คงคา และ BIMSTEC ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน อาทิ เมียนมา ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงจะประสานท่าทีกันอย่างใกล้ชิดในกรอบความร่วมมืออาเซียน-อินเดีย กรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) และสหประชาชาติต่อไป
  • ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ปลัด กต. อินเดียได้เข้าเยี่ยมคารวะ รนรม./รมว.กต. โดยทั้งสองฝ่ายย้ำความพร้อมที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับอินเดียในทุกมิติด้วย

 

๕. การเพิ่มความสะดวกในการขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน (ร่วมกับนายนฤชัย นินนาท รองอธิบดีกรมการกงสุล)

  • นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ใน ๒ รูปแบบ คือ ขอวีซ่า และได้รับการยกเว้น
  • ในกรณีที่ไม่ต้องขอวีซ่า – ๕๗ ประเทศได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (ผ.๓๐) พำนักได้ ๓๐ วัน / ๑๓ ประเทศมีความตกลงทวิภาคีกับไทย / และ ๑๗ ประเทศสามารถขอรับการตรวจลงตราแบบ Visa-on-Arrival (VOA)
  • ในกรณีที่ต้องขอวีซ่า – นักท่องเที่ยวสามารถขอรับการตรวจลงตราได้ที่ สอท./สกญ. และเมื่อปี ๒๕๖๒ กรมการกงสุลได้จัดทำระบบ e-Visa ให้บริการออนไลน์ผ่าน สอท./สกญ. นำร่อง ๓๘ แห่ง ใน ๒๓ ประเทศทั่วโลก รวมถึงจีน เพื่อความรวดเร็วในการสมัคร การให้บริการทุกวันตลอด ๒๔ ชั่วโมง และการสร้างความเชื่อมโยงของระบบจัดการข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)
  • ไทยดำเนินการด้านการตรวจลงตราโดยรักษาความสมดุลระหว่างการคัดกรองเพื่อความปลอดภัยกับการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมา ได้รับฟังความคิดเห็นจาก สอท./สกญ. และนักท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กรมการกงสุลได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ททท. กก. ตม. มท. ก่อนจะปรับมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงจีน ดังนี้ (๑) ลดจำนวนเอกสารในการสมัครผ่านระบบ e-Visa จาก ๑๐ รายการ เหลือ ๖ รายการ (ประกอบด้วย หน้าหนังสือเดินทาง รูปถ่าย บัตรโดยสารเครื่องบิน ที่พัก เอกสารยืนยันที่อยู่ และหลักฐานทางการเงิน) และ (๒) ลดระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติการตรวจลงตราจาก ๑๔ วันทำการเหลือ ๗ วันทำการ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๗ ส.ค. ๒๕๖๖
  • กต. ยังให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับบริษัทนำเที่ยว ซึ่งเป็นที่นิยมในจีน โดยบริษัทนำเที่ยวสามารถยื่นหนังสือรับรอง ๑ ฉบับเพื่อทดแทนเอกสารบางรายการของนักท่องเที่ยวในสังกัดได้ เช่น ตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก เอกสารการเงิน ฯลฯ ทั้งนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวกับหน่วยงานด้านความมั่นคงแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงในภาพรวม
  • กต. หวังว่า มาตรการอำนวยความสะดวกดังกล่าวจะสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวใช้ระบบ e-Visa มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลในระบบและจะสามารถแบ่งปันข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ อีกทั้งพร้อมจะมุ่งพัฒนาระบบ e-Visa ต่อไปเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ตลอดจนจะขยายระบบ e-Visa ให้ครอบคลุมประเทศอื่น ๆ อีกและรองรับหลากหลายภาษา รวมถึงภาษาจีน

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/mlFleULbDZ/

* * * * *

กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ppt_ประกอบการแถลงข่าว_11_ส.ค._as_of_11Aug23_11.00.pdf