สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๓.๐๐ น.
ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. การจัดงานกิจกรรมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ๓ มิถุนายน ๒๕๖๗
ของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศ
- กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ มิถุนายน ๒๕๖๗ โดยมีการตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ ประดับธงชาติไทยและธงอักษรพระนามาภิไธย ส.ท. พร้อมทั้งตกแต่งอาคารสถานที่อย่างสมพระเกียรติ และมีการจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม พิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และพิธีลงนามถวายพระพร รวมถึงเปิดโอกาสให้ชุมชนไทยในต่างประเทศได้ร่วมลงนามถวายพระพรด้วย ขณะที่ในประเทศที่มีวัดไทย ได้มีการจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล
- สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลกยังได้จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และบำเพ็ญสาธารณกุศล ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ด้วย ตัวอย่างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เช่น
- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน อัดคลิปเสียงอ่านหนังสือแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเยอรมนีให้โรงเรียนคนตาบอดในประเทศไทย
- สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก มอบสิ่งของบริจาคจากชุมชนไทยในนครมิวนิก ให้แก่ผู้ไร้บ้าน ซึ่งรวมถึงผู้อพยพชาวยูเครน ผ่านมูลนิธิโบสถ์ในพื้นที่
- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ มอบอุปกรณ์ศิลปะให้สถาบันฝึกสอนทักษะอาชีพและงานฝีมือให้แก่ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย
- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา จัดกิจกรรมที่มูลนิธิด้านแม่และเด็ก
๒. การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Forum: IPEF) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่สิงคโปร์
- ระหว่างวันที่ ๕ - ๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) และการประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum ที่สิงคโปร์
- เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๗ รัฐมนตรีฯ ได้หารือกับนาง Gina Raimondo รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ โดยได้ผลักดันเรื่องการลงทุนด้าน semi-conductor พลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน และแนวทางเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างกัน และได้หารือกับนาย Gan Kim Yong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ซึ่งรัฐมนตรีฯ ได้หยิบยกประเด็นความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด และโลจิสติกส์ รวมถึงความร่วมมือผ่านกรอบ IPEF ก่อนจะร่วมงานเลี้ยงรับรองเพื่อต้อนรับรัฐมนตรีประเทศหุ้นส่วน IPEF ในช่วงค่ำ
- สำหรับวันนี้ (๖ มิถุนายน ๒๕๖๗) ช่วงเช้า รัฐมนตรีฯ ได้เข้าร่วมการประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum โดยมีนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวเปิดงานก่อนจะเข้าร่วมการเสวนากับรัฐมนตรีประเทศหุ้นส่วน IPEF และภาคเอกชน ในรูปแบบ Panel Discussion ในหัวข้อ Catalysing and Scaling Climate Technology: Bridging the Gap between Innovators and Investors ภายใต้ Forum ดังกล่าว
- หลังจากนั้น ในช่วงบ่าย รัฐมนตรีฯ จะพบหารือกับนาย Vivian Balakrishnan รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ก่อนจะเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF
- การเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสในการแสดงวิสัยทัศน์ของไทยในด้านเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาแห่งอนาคตในสาขาเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน IPEF ตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อสนับสนุนการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในสาขา climate tech ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศ
- นอกจากนี้ ก่อนการประชุม เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๗ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกด้าน ๓ ฉบับ ได้แก่
- ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง มีสาระสำคัญเพื่อจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือ IPEF ในระดับรัฐมนตรี
- ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีสาระสำคัญเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ กรอบการระดมทุน นโยบาย มาตรการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุนที่รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่สะอาดในสาขาต่าง ๆ
- ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีสาระสำคัญเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย หรือมาตรการด้านการต่อต้านการทุจริตและการบริหารการจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ
- ไทยจะได้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือ IPEF หลายประการ เช่น การเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การขยายโอกาสการระดมทุนเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ การเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยไปสู่มาตรฐานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักธรรมาภิบาล
๓. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย - สหภาพยุโรป (Thailand - EU Senior Officials Meeting: SOM) ที่กรุงเทพฯ
- เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๗ อธิบดีกรมยุโรป และรองอธิบดีกรมเอเชียและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป (EU) เป็นประธานร่วมในการประชุมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials Meeting) ไทย-EU ครั้งที่ ๑๗ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-EU โดยเฉพาะด้านการจัดทำ FTA ไทย-EU เจรจาเพื่อการยกเว้นวีซ่า Schengen ให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางไทย การต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และแลกเปลี่ยนประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ
- ในห้วงการประชุมนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ภายใต้กรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA) ในโอกาสแรก หลังจากลงนามกรอบความร่วมมือดังกล่าวเมื่อปี ๒๕๖๕
- นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ ๕ - ๗ มิถุนายน ๒๕๖๗ อธิบดีกรมประมง และนาย Roberto Cesari หัวหน้าหน่วย IUU (Head of IUU Unit of The Directorate-General for Maritime Affairs and Fisheries) เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะทำงานระหว่างรัฐบาลไทยกับคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ครั้งที่ ๗ ที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนกรมยุโรป และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ร่วมคณะทำงานฝ่ายไทย
- การประชุมนี้เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการดำเนินการด้านการทำประมงอย่างยั่งยืนของไทย ซึ่งไทยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมาโดยตลอด รวมถึงสหภาพยุโรปด้วย
๔. ความคืบหน้าการอพยพคนไทยจากนิวแคลิโดเนีย
- ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ได้เกิดเหตุประท้วงและจลาจลในหลายพื้นที่ของนิวแคลิโดเนีย ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส อันเนื่องมาจากความไม่พอใจต่อแผนการปฏิรูปกฎระเบียบการเลือกตั้งท้องถิ่นของรัฐบาลฝรั่งเศส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๗ มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและปิดท่าอากาศยานนานาชาติ La Tontouta เป็นการชั่วคราว
- ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยอยู่ประมาณ ๓๐๐ คนในนิวแคลิโดเนีย ส่วนใหญ่สมรสกับชาวฝรั่งเศส หรือประกอบอาชีพพนักงานนวด/พนักงานสปา
- เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๗ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ได้ประสานทางการฝรั่งเศสเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศสในการอพยพคนไทยที่แสดงความประสงค์ออกจากนิวแคลิโดเนีย ซึ่งในเบื้องต้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับการยืนยันความประสงค์ดังกล่าวจากคนไทย ๗ คน พร้อมคู่สมรสชาวฝรั่งเศส ๑ คน
- ต่อมา รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดเที่ยวบินอพยพจากนิวแคลิโดเนียไปยังสิงคโปร์ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ ซึ่งทั้ง ๘ คนข้างต้นได้โดยสารเที่ยวบินดังกล่าวด้วย และสถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ได้รับคณะดังกล่าว รวมถึงประสานการจัดหาบัตรโดยสารเครื่องบินกลับประเทศไทยให้ ขณะนี้ ทั้ง ๘ คนเดินทางถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพแล้ว
- กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศสในการให้ความช่วยเหลือคนไทยในนิวแคลิโดเนียและอำนวยความสะดวกในการอพยพทั้ง ๘ คนอย่างเต็มที่
รับชมย้อนหลังได้ที่: https://www.facebook.com/share/v/mLg4wMhbGsKo7k1Z/