ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพุธที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๓

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพุธที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,781 view

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันพุธที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๖.๐๐ น.

ณ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน ศูนย์การค้า MBK Center

 

๑. ผลการเดินทางลงพื้นที่ของรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและเขตตรวจราชการที่ ๑๒ ณ จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓

-  นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยเน้นย้ำให้แต่ละจังหวัดจัดการปัญหาเร่งด่วน อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM ๒.๕ การรุกล้ำพื้นที่ป่าพื้นที่สาธารณะ การรับมือภัยแล้งและอุทกภัย และการกำจัดขยะ รวมทั้งมอบนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน

- รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เยี่ยมชมโครงการต่าง ๆ ของส่วนท้องถิ่นที่นำมาจัดแสดง โดยเฉพาะด้าน Startup วิจัย นวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การผลิตและการเรียนรู้ระบบราง และโครงการขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ (smart city) ที่จะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาภูมิภาคและประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะหาช่องทางสนับสนุนโครงการวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านงบประมาณ นอกจากนั้นยังได้เชิญจังหวัดไปจัดแสดงผลิตภัณฑ์และผลงานที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการสู่ระดับสากลต่อไป

- ในการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ต่อยอดการพัฒนาโดยใช้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ซึ่งประเทศไทยได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ เป้าหมายการพัฒนาดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญและส่งเสริมให้ภาคเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังเสนอให้ต่อยอดภาคธุรกิจจากกีฬาแนวผจญภัยที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคได้ โครงการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ โครงการร้อยแก่นสารสินธุ์ Railway Innopolis (TRAM) ที่มีเป้าหมายสร้างขอนแก่นและภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางเป็นศูนย์กลางระบบราง รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถสร้างและพัฒนาระบบรางได้เอง อันจะนำมาซึ่งการมีองค์ความรู้ สร้างบุคลากรในสาขาดังกล่าว และก่อตั้งมหาวิทยาลัยระบบราง (Railway University) ในอนาคต

- เช้าวันนี้ (๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๓) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประชุมร่วมกับกรมกองที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวงฯ เพื่อจะผลักดันผลการลงพื้นที่ฯ ให้เป็นรูปธรรม โดยจะนำไปหารือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป

๒. การอำนวยความสะดวกคนไทยในต่างแดนและชาวต่างชาติในการเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙

๒.๑ การอำนวยความสะดวกและดูแลคนไทยในต่างประเทศสำหรับการเดินทางกลับ

- สถิติจำนวนคนไทยที่เดินทางกลับไทยแล้ว นับตั้งแต่มีมาตรการชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อำนวยความสะดวกให้คนไทยกลับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๔ เมษายน ถึงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ แล้วทั้งสิ้น ๑๔๗,๖๓๒ คน

(๑) ทางอากาศ ๑๑๕,๐๙๖ คน (วันที่ ๔ เมษายน – ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓)

(๒) ทางบก ๓๐,๓๗๓ คน (วันที่ ๑๘ เมษายน – ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓)

(๓) ทางน้ำ ๒,๑๖๓ คน (วันที่ ๙ พฤษภาคม – ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓)       

- ในจำนวนคนไทยเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมด มีผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ สะสมทั้งหมด ๑,๑๑๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๐.๗๖ ของผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทั้งหมด และส่วนใหญ่รักษาตัวหายเรียบร้อยแล้ว (สถานะ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓)

- ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ กรมการกงสุลร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้อนุญาตให้สายการบินต่าง ๆ สามารถให้บริการเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์ (semi-commercial flight) เพื่ออำนวยความสะดวกคนไทยและชาวต่างชาติให้สามารถเดินทางเข้าไทย ปัจจุบัน มีสายการบินที่พร้อมดำเนินการ หรือดำเนินการให้บริการแล้ว จำนวน ๔๘ สายการบิน

- กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดระบบการลงทะเบียนเพื่อขอรับ COE แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ coethailand.mfa.go.th ล่าสุด มีผู้ลงทะเบียนในระบบ COE ออนไลน์กลางแล้วทั้งสิ้น ๖๕,๐๐๖ คน แบ่งเป็นคนไทย ๓๘,๖๑๑ คน และคนต่างชาติ ๒๖,๓๙๕ คน

- กระทรวงการต่างประเทศได้สำรวจจำนวนคนไทยแสดงความประสงค์ที่จะกลับในเดือนมกราคม ๒๕๖๔ เพื่อประโยชน์ในการเตรียมมาตรการในการรองรับ มีคนไทยประสงค์เดินทางกลับจำนวน ๑๓,๒๔๑ คน แบ่งเป็นทางบก ๒๒๐ คน และทางอากาศ ๑๓,๐๒๑ คน

- กระทรวงฯ ได้ออก COE สำหรับชาวต่างชาติกลุ่มต่าง ๆ แล้วทั้งสิ้น ๕๘,๓๗๗ คน (สถานะ ณ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓)

๒.๒ มาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทยจากต่างประเทศ

- แม้จะมีผู้เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนย้ำว่า สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ มีมาตรการที่เข้มงวดรัดกุมในการคัดกรองโควิด-๑๙ สำหรับการเดินทางเข้าไทยของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งจะดำเนินการด้านเอกสารต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทางก่อนเดินทางเข้าไทย กล่าวคือ ทุกคนจะต้องมีหนังสือรับรองเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry: COE) ที่ออกให้โดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ พร้อมใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (Fit to Fly Health Certificate/ Fit to Travel Health Certificate) ตลอดจนใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางดังกล่าวไม่มีเชื้อโรคโควิด-๑๙ โดยวิธี RT-PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมง สำหรับชาวต่างชาติ

- ทุกคนที่เดินทางเข้าไทยจะต้องเข้ารับการกักกันโรคเป็นเวลา ๑๔ วัน โดยชาวไทยสามารถเข้ากักตัวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ สถานที่กักกันโรคของรัฐ (State Quarantine: SQ) ที่มีอยู่ ๒๗ แห่ง และสถานที่กักกันโรคทางเลือกในต่างจังหวัด (Alternative Local Quarantine) จำนวน ๕๒ แห่งทั่วประเทศ ส่วนคนต่างชาติหรือผู้เดินทางชาวไทยที่มีความพร้อมที่จะเสียค่าใช้จ่ายเองสามารถกักตัวในสถานที่กักกันโรคทางเลือก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน ๑๒๑ แห่ง

- ในระหว่างการกักกันโรค ๑๔ วัน ผู้เดินทางเข้าไทยทุกคนจะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ โดยวิธี RT-PCR จำนวน ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๓-๕ และครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๓ ของระยะเวลาที่ถูกกักกันหลังเดินทางถึงประเทศไทย หากตรวจไม่พบเชื้อจึงจะได้รับอนุญาตให้ออกจากสถานที่กักกันโรคไปใช้ชีวิตภายนอกได้ตามปกติ

๓. พัฒนาการด้านความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการบริหารจัดการแรงงานและกลุ่มเสี่ยงในบริบทของโควิด-๑๙

อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งข้อมูลและพัฒนาการเพิ่มเติม ดังนี้

๓.๑ ความร่วมมือกับเมียนมา

- เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ นายจ่อ ติน รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศเมียนมา ได้ส่งข้อความแสดงความเสียใจถึงนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ที่จังหวัดสมุทรสาคร และขอบคุณต่อคำแถลงของโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (ศบค.) ที่ช่วยทำให้แรงงานเมียนมามีความพึงพอใจในระดับหนึ่ง รวมทั้งขอบคุณที่ทางการไทยจะออกเอกสารชั่วคราวให้แก่แรงงาน ทั้งนี้ ฝ่ายเมียนมาได้ขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาให้มีการแยกแรงงานที่ไม่ติดเชื้อออกจากแรงงานที่ติดเชื้อ และให้ความช่วยเหลือเรื่องวีซ่าของแรงงานที่กำลังจะหมดอายุ

- การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ

(๑) กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเอเชียตะวันออก ได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยเป็นระยะ โดยสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาฯ ให้ความร่วมมือด้วยดีในการสื่อสารไปยังแรงงานเมียนมาให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของทางการไทยอย่างเคร่งครัด

(๒) เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือไปยังสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาฯ เพื่อขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ไม่ให้แรงงานเมียนมาในไทยเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดที่พำนักอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาฯ ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังชาวเมียนมาในไทยแล้ว

- การดำเนินการของสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย

- สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาฯ ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับจังหวัดสมุทรสาครในการดำเนินการในพื้นที่ โดยเมื่อวันอังคารที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาได้เข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือกับจังหวัดสมุทรสาครในการเยียวยาแรงงานเมียนมาที่อยู่ในพื้นที่กักกัน เช่น การสร้างความผ่อนคลายให้แรงงานเพื่อลดความเครียดในช่วงถูกกักบริเวณ การสนับสนุนอาหารสำหรับแรงงานการจัดเจ้าหน้าที่ล่ามสื่อสารกับแรงงานเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งการช่วยประชาสัมพันธ์ให้แรงงานเมียนมาทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายเข้ารับการตรวจหาเชื้อโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับกุมดำเนินคดี

- ด้านการประสานงานบริเวณชายแดน มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ชายแดนของสองประเทศอย่างใกล้ชิดถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ตามพื้นที่ชายแดนที่อาจส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรคฯ เช่น ระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระหว่างกองทัพ และระหว่างคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee–TBC) ของไทยและเมียนมา

- นอกจากนี้ ในส่วนการให้ความช่วยเหลือของคนไทยที่มีต่อแรงงานเมียนมา ปัจจุบันมีการบริจาคอาหารและน้ำดื่มจากสภากาชาด ประชาชนทั่วไปและนายจ้างของแรงงานที่อยู่ในพื้นที่กักกันให้แรงงานเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นความเข้าใจถึงความสำคัญของแรงงานของประเทศเพื่อนบ้านต่อเศรษฐกิจ และเน้นการพึ่งพากันและกัน

. การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขอทำหนังสือเดินทางด้วยตัวเองด้วยเครื่อง KIOSK

นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐพิจารณาแผนงานหรือโครงการที่สมควรดำเนินการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๔ ให้แก่ประชาชน

- นอกจากการให้บริการแปลและการยกเว้นค่าธรรมเนียมการขอรับรองเอกสารทะเบียนราษฎรและทะเบียนครอบครัว ๑๙ ประเภท ซึ่งจะเริ่มระหว่างวันที่ ๓๐ ธันวาคม - ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔ ที่สำนักงานหนังสือเดินทางแจ้งวัฒนะ สำนักงานหนังสือเดินทางสาขา MRT คลองเตย สำนักงานหนังสือเดินทางจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานหนังสือเดินทางจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานหนังสือเดินทางจังหวัดสงขลา กระทรวงการต่างประเทศโดยกรมการกงสุลยังได้ริเริ่มการให้บริการเครื่องรับคำร้องขอทำหนังสือเดินทางด้วยตนเอง หรือ Kiosk ซึ่งเป็นการใช้นวัตกรรมในการให้บริการและบริหารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการสัมผัส และลดโอกาสการแพร่เชื้อของโควิด-๑๙ โดยจากการทดสอบใช้ตู้ Kiosk พบว่าใช้เวลาเพียง ๘ นาทีต่อคน เมื่อเทียบกับการให้บริการปกติซึ่งใช้เวลา ๑๒ นาทีต่อคน

- เครื่อง Kiosk เครื่องแรกถูกติดตั้งที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน แห่งนี้ และจะเริ่มให้บริการในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ ระหว่างเวลาช่วงเวลา ๑๐.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. ทั้งนี้ มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนเครื่อง Kiosk จำนวน ๑๐ ตู้ ในสำนักงาน และ ๕ ตู้ ภายนอกสำนักงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนนอกเวลาทำการ ภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔

- ทั้งนี้ ผู้ที่จะใช้บริการฯ จะต้องเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วที่เคยถือหนังสือเดินทางมาก่อน และไม่สามารถขอทำหนังสือเดินทางแบบด่วนพิเศษภายในวันเดียวได้ ทั้งนี้ สามารถชำระค่าธรรมเนียมขอทำหนังสือเดินทางจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ได้ด้วยบัตรเครดิต

ภายหลังการแถลงข่าว อธิบดีกรมการกงสุลและอธิบดีกรมสารนิเทศได้นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมการให้บริการประชาชนของสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน (MBK Center) ที่เน้นด้านเทคโนโลยีและความยั่งยืน (cashless และ paperless)

 

สามารถรับชมวิดีทัศน์การแถลงย้อนหลังได้ที่นี่ >>> และ >>>

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ