สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๔

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,695 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์  
วันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

  • วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญที่มีความหมายต่อประชาชนชาวไทยหลายประการ โดยเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร
    มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันพ่อแห่งชาติ วันชาติ และวันดินโลก ซึ่งหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนไทยทั่วประเทศได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอย่างพร้อมเพรียง ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเช้าวันนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้ทำกิจกรรมปลูกต้นไม้ตามโครงการจิตอาสา “รู้รักสามัคคี รักษ์สิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิต”รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์และทัศนียภาพบริเวณกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสในการตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำความดีร่วมกันเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
  • กระทรวงการต่างประเทศขอร่วมแสดงความยินดีกับนักแบดมินตันคู่ผสมของไทย “บาส-ปอป้อ” หรือเดชาพล พัววรานุเคราะห์ และทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ที่ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ ๑ ของโลกโดยสหพันธ์แบดมินตันโลก หลังจากที่คว้าแชมป์ติดต่อกันได้ถึง ๔ รายการ นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการกีฬาไทย
    ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ soft power ของประเทศที่ต้องสนับสนุน

 ๑. การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

  • นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๖ ธันวาคม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ
    การเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
  • ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี รวมทั้งร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับนักธุรกิจไทย
  • การเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และกระชับความร่วมมือในประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญร่วมกัน ไทย-สหรัฐฯ มีประเด็นทวิภาคีสำคัญหลายประเด็นที่จะหารือที่กระทรวงการต่างประเทศ

. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือกับนาย Daniel Kritenbrink ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

  • เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับนางจุฬามณี ชาติสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับ
    นาย Daniel Kritenbrink ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในโอกาสการเยือนไทยระหว่างวันที่ ๒ – ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นการเยือนไทยครั้งแรกภายหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๔
  • ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้น ฝ่ายสหรัฐฯ ชื่นชมการดำเนินการของไทย โดยเฉพาะการประกาศเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖ (COP26) โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทาง
    ความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ การพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้า และได้หารือถึงความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ และแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมีผลต่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้า
  • ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕ ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยฝ่ายสหรัฐฯ ได้แสดงความยินดีกับไทยในโอกาสรับหน้าที่เจ้าภาพเอเปค และกล่าวถึงข้อเสนอการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖ ฝ่ายสหรัฐฯ ย้ำถึงความพร้อมทำงานร่วมกับไทยอย่างใกล้ชิด

. ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ

  • เมื่อวันที่ ๒ - ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ ไทยจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค อย่างไม่เป็นทางการที่ จ.ภูเก็ต โดยนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
    ทําหน้าที่ประธานการประชุมในฐานะประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคปี ๒๕๖๕ (APEC SOM Chair 2022) และมีเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคและผู้แทนจาก ๒๑ เขตเศรษฐกิจเอเปคและสํานักเลขาธิการเอเปคเข้าร่วม
  • ที่ประชุมให้ความสําคัญกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และเห็นพ้องว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-๑๙ ต้องสร้างความเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน เน้นเปิดเสรีค้าการลงทุนและการกระชับความร่วมมือในการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ การเร่งฟื้นฟูความเชื่อมโยงในภูมิภาคอย่างปลอดภัยส่งเสริมการดําเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคํานึงถึงสิ่งแวดล้อมและนําเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการทํางานใน ทุกมิติ
  • สำหรับภาคเอกชน ที่ประชุมได้หารือกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) เพื่อรับฟังแผนงานและบูรณาการการทํางานร่วมกันระหว่าง
    เอเปคกับภาคเอกชนด้วย
  • ในการประชุมครั้งนี้ ไทยในฐานะเจ้าภาพได้นําเสนอ (๑) การเปิดโอกาสด้านการค้าการลงทุนในทุกมิติ ผลลัพธ์ที่คาดหวัง คือการนําบทเรียนจากโควิด-๑๙ มาอยู่ใน
    บทสนทนาเพื่อขับเคลื่อนการค้าการลงทุนที่ครอบคลุมและยั่งยืน 
    (๒) การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยการส่งเสริมให้เอเปคมีมาตรฐานการเดินทางที่ปลอดภัยและสอดคล้องกัน และอํานวยความสะดวกการเดินทางให้กับบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การทําธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ง่ายยิ่งขึ้น (๓) ปรับสู่สมดุลให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ครอบคลุม ยั่งยืน และคํานึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยนําโมเดลการพัฒนาต่าง ๆ รวมถึง BCG มาปรับใช้
  • การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ ๒ ปีที่เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคได้ประชุมแบบกายภาพ สะท้อนถึงความสามารถของไทยในการปรับตัวและอยู่ร่วมกับโควิด-๑๙ และความมุ่งมั่นของเอเปคในการเดินหน้าทํางาน ปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติแบบใหม่
  • นอกจากนี้ ก่อนการประชุมฯ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศยังได้จัดการสัมมนาเชิงอภิปราย หัวข้อ ประเด็นสำคัญของการประชุมเอเปค ปี ๒๕๖๕ (APEC Symposium) ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล และวางพื้นฐานไปสู่การประชุมเอเปคตลอดปี ๒๕๖๕ โดยมีภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน เจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจเอเปค
    เข้าร่วม
  • ที่ประชุมยังได้พูดคุยถึงเรื่อง BCG Economy โดยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวสุนทรพจน์นำเสนอแนวคิด BCG economy และการปรับเปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืน โลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการมีโครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งภาคธุรกิจจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ
    จึงต้องเปลี่ยนความคิดจากการมุ่งเน้นกำไรของผู้ถือหุ้นเป็นการมองไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นหัวใจหลักของ
    การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ของโลกต่อไป ทั้งนี้ สามารถติดตามได้ที่ Facebook และทวิตเตอร์
  • ในช่วง APEC Symposium เด็กชายภูมิ ตันศิริมาศ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์วัย ๑๓ ปี ยังได้ร่วมนำเสนอมุมมองการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนที่เริ่มจากพลังและการกระทำของตัวบุคคล
  • ประเด็นที่ได้มีการหารือในการเสวนา ได้แก่ บทบาทของภาครัฐและเอกชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น ภาครัฐจะต้องให้สิทธิประโยชน์และดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการปรับตัวของเอกชน เอกชนต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจจากการมุ่งแสวงผลกำไรไปสู่ความยั่งยืน ภาคการเงินต้องสรรหาเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสีเขียว นอกจากนี้ ภาคการเดินทางและท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-๑๙ จำเป็นต้องฟื้นฟู โดยมีมาตรการเดินทางและหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ที่สอดคล้องและใช้ร่วมกันได้ระหว่างเขตเศรษฐกิจ รวมทั้งความพยายามในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ชี้ให้เห็นว่าการประชุมเอเปคเป็นการประชุมที่จับต้องได้และสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

. การประชุม OSCE Ministerial Council ครั้งที่ ๒๘

  • นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ครั้งที่ ๒๘ (The 28th Organization for Security and Co-operation in Europe Ministerial Council – OSCE MC 28) ทางไกล เมื่อวันที่ ๒ - ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔
    ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิก OSCE เข้าร่วมด้วยตนเองรวม ๖๘ ประเทศ 
  • ไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาฝ่ายเอเชียขององค์การ OSCE ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในช่วงการประชุมเต็มคณะ รวมทั้งกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม Troika ร่วมกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาฝ่ายเอเชียอื่น ๆ โดยย้ำถึงบทบาทที่แข็งขันในการสร้างสังคมที่มีความยืดหยุ่น เปิดกว้าง และครอบคลุม ผ่านแนวทาง whole-of-society และ whole-of-government โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนมุ่งผลักดันการประสานความร่วมมือของไทยกับนานาประเทศรวมถึง OSCE เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบอบพหุภาคีบนพื้นฐานของหลักการ 3Ms ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน
  • ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีบทบาทในกรอบ OSCE ในฐานะประเทศหุ้นส่วนฯ ฝ่ายเอเชีย ซึ่งไทยได้ยกตัวอย่างการเป็นสะพานเชื่อม OSCE กับอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านเวทีการประชุมต่าง ๆ ในกรอบ OSCE เช่น
    การเป็นเจ้าภาพร่วมกับสาธารณรัฐแอลเบเนียจัดการประชุม 2021 OCSE Asian Conference ในหัวข้อ “Common Responses to Emerging Challenges in Advancing Comprehensive Security” โดยไทยได้เชิญผู้แทนจาก ASEAN Women for Peace Registry (AWPR) เข้าร่วมอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของสตรีในมิติด้านความมั่นคงและการสร้างสันติภาพ เมื่อวันที่ ๒๐ - ๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความพยายามในการหารือถึงประเด็นความมั่นคงที่ครอบคลุมทุกมิติ

. กิจกรรมเฉลิมฉลองวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ประจำปี ๒๕๖๔

  • วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๔) เวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ น. กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมจัดกิจกรรมวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ๒๐๒๑ ภายใต้หัวข้อ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน” (International Universal Health Coverage Day 2021: Leave No One’s Health Behind, Invest in Health System for All) ในรูปแบบ Hybrid ณ วิเทศสโมสร และผ่านระบบประชุมทางไกล โดยจะมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน
  • กิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) รักษาพลวัตกิจกรรมวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ และรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้ และเห็นความสำคัญของการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะในบริบทการรับมือกับความฉุกเฉินทางสาธารณสุข (๒) หารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อเสนอแนะและสิ่งท้าทายในการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยเฉพาะในช่วงโควิด-๑๙ พร้อมทั้งแนวทางพัฒนาการดำเนินงานด้านส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้สอดคล้องตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. ๒๐๓๐ และ (๓) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและบทบาทของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ ในประเด็นด้านสุขภาพโลก
  • กลุ่มเป้าหมายในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้แก่ คณะผู้แทนต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศในไทย หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม เครือข่ายเยาวชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ขอเชิญผู้สนใจชมการถ่ายทอดสดการจัดงานผ่านทางเฟซบุ๊กของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) facebook.com/NHSO.Thailand/ และหนังสือพิมพ์ข่าวสด www.facebook.com/Khaosod/

. โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมบนเส้นทางสายเกลือ

  • กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมได้บูรณาการร่วมกันดำเนิน “โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมบนเส้นทางสายเกลือ” นำคณะสื่อมวลชนร่วมกันสำรวจศึกษาแหล่งอารยธรรมและวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดสกลนคร บึงกาฬ และนครพนม ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน – ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ เพื่อศึกษาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคอีสาน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์ ยั่งยืน และร่วมกันเผยแพร่วัฒนธรรมพื้นถิ่นให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอีสานในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงคราม โดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับเกลือสินเธาว์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคอีสาน สามารถส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบผจญภัย การท่องเที่ยวเชิงลึก และเชิงวัฒนธรรม
  • คณะได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเกลือสินเธาว์แบบดั้งเดิม ณ บ่อเกลือหัวแฮด และบ่อเกลือบ้านนาถ่อน ได้พบปะ พูดคุยร่วมกิจกรรมกับกลุ่มชาวบ้าน ณ ชุมชนคุณธรรมบ้านท่าวัดเหนือ บ้านท่าแร่ จ. สกลนคร และบ้านนาถ่อน จ. นครพนม ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มนักพัฒนางานหัตถกรรมรุ่นใหม่ในพื้นที่ เช่น สตูดิโอเครื่องปั้นดินเผา “ดอนหมูดิน” และแบรนด์ครามท้องถิ่น “ครามสุขชม” มีการผลิตชะลอม ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย สะท้อนการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ประจักษ์ต่อนานาประเทศ
  • นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น พระธาตุเชิงชุม วัดพระธาตุพนมวรวิหาร อาสนวิหารอัครเทวดามิคาแอล ท่าแร่ ชุมชนไทยคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในไทย สะท้อนให้เห็นถึงสังคมพหุวัฒนธรรมอันมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาของทั้งชาวไทยคาทอลิก ไทยพุทธ รวมถึงความสามัคคีเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

. ประชาสัมพันธ์

     ๗.๑ MFA CEO FORUM ปาฐกถา (ภาษาอังกฤษ) โดย ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หัวข้อ “Thai Economy In The Next Normal: Getting the policy response right” ในวันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. ทางเฟสบุ๊ค Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Globthailand”

     ๗.๒ รายการบันทึกสถานการณ์ ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์นายไกรจักร ธีรตยาคีนันท์ นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หัวข้อ “ความตกลง RCEP กับผลประโยชน์ของไทย” ในวันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง Youtube “MFA Thailand Channel”

    ๗.๓ รายการ “MFA Update” ทาง FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) สัมภาษณ์
นายพืชภพ มงคลนาวิน รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ หัวข้อ “The 75th Anniversary of Membership in the UN: Thailand's Commitment as a Responsible, Reliable and Constructive Member and Development Partner” ในวันศุกร์ที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง Youtube “MFA Thailand Channel”

    ๗.๔ รายการ Spokesman Live!!! สัมภาษณ์ ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ นายสมปอง สงวนบรรพ์ ที่ปรึกษา
รัฐมนตรีว่่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอดีตเอกอัครราชทูตฯ หลายประเทศ หัวข้อ “การแข่งขันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ” ในวันศุกร์ที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ppt_ประกอบการแถลงข่าวประจำสัปดาห์_9_ธ.ค._2564_as_delivere.pdf