สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพุธที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
- ขณะนี้ในบางภูมิภาคของไทยยังคงประสบกับปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะภาคใต้ที่ประสบกับมรสุมซึ่ง มีกำลังแรง ทำให้ที่ผ่านมามีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวใต้ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร ในบางพื้นที่ถนนและเส้นทางคมนาคมรวมทั้งทางรถไฟได้รับความเสียหาย ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดจากฝนตกหนัก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งลงพื้นที่เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว
จึงขอถือโอกาสนี้ให้กำลังใจท่านที่ประสบภัย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัย ให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยดี
๑. การเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยปี ๒๕๖๕
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับมอบตำแหน่งการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ จากนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
- กระทรวงการต่างประเทศในฐานะคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศและนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะร่วมเป็นประธานเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤศจิกายนนี้ ในเวลา ๑๓.๐๐ - ๑๓.๓๐ น. ณ บริเวณโถงทาราฮอล และจะมอบรางวัลและเกียรติบัตรให้แก่ผู้ชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย รวมทั้งผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชย ตราสัญลักษณ์ที่ชนะเลิศเป็นผลงานของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถติดตามเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการออกแบบในการถ่ายทอดสดงานผ่านทาง Facebook LIVE ช่อง APEC2022 Thailand
- ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยปี ๒๕๖๕ ได้รับแรงบันดาลใจจากชะลอม ซึ่งเป็นเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของในการเดินทาง และเป็นสัญลักษณ์
การค้าขายและน้ำใจของ“การให้” ของคนไทยมาแต่โบราณ และในวันเดียวกันจะมีการเปิดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับเอเปค และการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยอีกด้วย
- ในส่วนของการประชุมระดมสมอง APEC Media Focus จะจัดขึ้นระหว่างเวลา ๑๔.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. อธิบดีกรมสารนิเทศ และอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จะร่วมเป็นผู้ดำเนินการการเสวนา (co-moderators) กับสื่อมวลชนไทยในสาขาต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย และหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางตลอดจนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยให้ประชาชนไทย“ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม” ตลอดจนใช้โอกาสดังกล่าวในการแสดงศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทย
๒. นายกรัฐมนตรีประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๘ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๘ ที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพผ่านระบบการประชุมทางไกล
โดยผู้นำเอเปคได้หารือ ๓ ประเด็นสำคัญคือ (๑) บทบาทของเอเปคในการแก้ปัญหาวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-๑๙ อย่างเร่งด่วน (๒) การทำงานเพื่อเร่งรัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ (๓) การสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในระยะยาว
- นายกรัฐมนตรีได้เสนอ ๓ ประเด็นที่เอเปคควรให้ความสำคัญ ได้แก่
- (๑) การเร่งให้ภูมิภาคกลับมาเชื่อมโยงกัน โดยสนับสนุนการกำหนดมาตรการส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนที่ปลอดภัย
- (๒) กระตุ้นการค้าการลงทุน ผลักดันการเปิดเสรีการค้าและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการค้าพหุภาคี โดยมีเป้าหมายคือการบรรลุเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)
- (๓) การพลิกโฉมเศรษฐกิจเพื่อสร้างการเจริญเติบโตในระยะยาวที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม
- นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับภาคเอกชน ได้แก่ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ภายใต้หัวข้อ “ประชาชน สถานที่ และความเจริญรุ่งเรือง” โดยเรียกร้องให้ เอเปคเร่งดำเนินการใน ๓ เรื่อง ได้แก่
- (๑) ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยจัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียม พัฒนาศักยภาพของ MSMEs สตรี และกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อน
- (๒) กำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม การปฏิรูปโครงสร้างที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม การค้าและ
สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการเจริญเติบโตสีเขียว และ
- (๓) ยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยการผลักดันการเปิดพรมแดนอย่างปลอดภัย สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และเดินหน้าไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก
- ในการประชุม นายกรัฐมนตรีได้ร่วมหารือแนวทางเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเอเปคไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทยโดยภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยของเสียและมลพิษโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อน
๓. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทำกิจกรรมบัวแก้วสัญจรที่โรงเรียนอนุบาลกระบี่ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
- นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนอนุบาลกระบี่ ตามโครงการบัวแก้วสัญจร และเป็นกิจกรรมลงพื้นที่ในโอกาสที่เดินทางไปเข้าร่วม การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดกระบี่
- รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้พบหารือผู้บริหาร ครู และตัวแทนนักเรียนโรงเรียนอนุบาลกระบี่ รวมทั้งผู้บริหารจากโรงเรียนสหกรณ์นิคมอ่าวลึก ๒ และโรงเรียนบ้านถ้ำโกบ นอกจากนี้ ยังได้มอบเงินสนับสนุนและสื่อการเรียนการสอนตลอดจนเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานในด้านต่าง ๆ ของนักเรียนด้วย
๔. การประชุม ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development ครั้งที่ ๓ เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป
- ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับนางยุตตา อูร์ปิไลเนน กรรมาธิการยุโรปด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ จะเปิดการประชุม ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development ครั้งที่ ๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยในช่วงพิธีเปิดจะมีการถ่ายทอดให้สาธารณชนที่สนใจรับชมผ่านทาง Facebook ของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเวลา ๑๕.๐๐ -๑๕.๓๐ น. ของวันดังกล่าว
- ไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และสหภาพยุโรป จะยืนยันความมุ่งมั่นร่วมกันและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงในบริบทการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙
- การประชุม ASEAN-EU Dialogue for Sustainable Development จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดตั้งกลไกหารือความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียนกับสหภาพยุโรป เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
๕. ดร. วิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้รับเลือกตั้งจากสหประชาชาติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ
- ดร. วิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖ ณ นครนิวยอร์ก ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission – ILC) วาระปี ๒๕๖๖ - ๒๕๗๐ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
โดย ดร. วิลาวรรณฯ เป็นผู้สมัครสตรีคนแรกของไทย ผู้สมัครสตรีคนเดียวจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และนักกฎหมายระหว่างประเทศสตรีคนแรกของอาเซียนที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
- การได้รับเลือกตั้งของ ดร. วิลาวรรณฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยคะแนนเสียงสูงถึง ๑๖๒ เสียง เป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือคิดเป็นร้อยละ ๘๕ ของประเทศสมาชิก เป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทของไทยในการสนับสนุนการทูตพหุภาคี ที่อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในตัวผู้สมัคร และสถานะและบทบาทของไทยในเวทีโลก ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับรัฐสมาชิกต่าง ๆ ของสหประชาชาติ และกับสถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุญใหญ่ของไทย รวมถึงความรู้ความสามารถในทางกฎหมายระหว่างประเทศของผู้สมัครของไทย รวมทั้งเป็นตัวอย่างอันดีแก่คนรุ่นใหม่ของไทยในการก้าวไปสู่เวทีระหว่างประเทศ
- ในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ ดร. วิลาวรรณฯ จะมุ่งผลักดันการประมวลแนวปฏิบัติในประเด็นที่เป็นความท้าทายและข้อห่วงกังวลของประชาคมระหว่างประเทศ เช่น การจัดทำสนธิสัญญาในยุคดิจิทัล การพัฒนาหลักกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับผลกระทบของการเพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเล และการพัฒนาหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด (Pandemic Treaty) ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วโลก ไม่เฉพาะประชาชนไทยเท่านั้น
๖. เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยหารือปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
- เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง
- ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับจีน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
- นอกจากนี้ เห็นพ้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการผลิตและการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนรวมถึงความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-๑๙ นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องเร่งรัดจัดการประชุมภายใต้กลไกทวิภาคีด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ
ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจระหว่างไทย – จีน การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างรถไฟจีน –ลาว กับระบบรางของไทยเพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการเดินทางระหว่างประชาชน
๗. ไทย-สิงคโปร์ประชุม Political Consultation ครั้งที่ ๒
- เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและนายชี วี เคียง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมหารือทางการเมืองระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย - สิงคโปร์ ครั้งที่ ๒ ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล
- ทั้งสองฝ่ายยืนยันความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ และความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความความท้าทายจากโรคโควิด-๑๙ รวมทั้งได้หารือแนวทางที่จะขยายความร่วมมือในสาขาที่มีความสำคัญหลัก รวมทั้งสาขาใหม่ ๆ ได้แก่ สาธารณสุข การเปิดพรมแดนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างกัน
ความร่วมมือเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่สิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญ การพัฒนาอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจสีเขียว ความมั่นคง และโครงการแลกเปลี่ยนข้าราชการระหว่างไทยกับสิงคโปร์ (Civil Service Exchange Programme)
- นอกจากนี้ ยังได้หารือแนวทางความร่วมมือที่สะท้อนความสอดประสานของแนวคิด BCG Economy ของไทยกับ Green Plan 2030 ของสิงคโปร์ รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และย้ำว่าการเปิดให้มีการเดินทางระหว่างสองประเทศในโอกาสแรกจะช่วยให้มีการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและ
การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความขอบคุณซึ่งกันและกันสำหรับการสนับสนุนเวชภัณฑ์และวัคซีนโควิด-๑๙
- นอกจากนั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการในภูมิภาคและสถานการณ์ระหว่างประเทศ โดยได้ย้ำความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเป็นแกนกลางของอาเซียน การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในกรอบต่าง ๆ อาทิ ในกรอบเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๖๕
๘. การประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ปี ๒๕๖๔
- มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๔ เมื่อวันทีี่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ โดยมีผู้ได้รับรางวัลในสาขาการแพทย์ ๓ ท่าน ได้แก่
- รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก จากฮังการี/สหรัฐอเมริกา
- ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน จากสหรัฐอเมริกา และ
- ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คัลลิส จากแคนาดา
- รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยวิธีการนำเมสเซนเจอร์ อาร์เอนเอ (mRNA) มาใช้ในทางการแพทย์และนำเทคโนโลยีเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโควิด-๑๙ ทั้งสองท่านมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนโควิด-๑๙ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ จนทำให้วัคซีนโควิด-๑๙ ชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตอบสนองกับการระบาด เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย รวมถึงชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ถือเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
- ส่วนศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คัลลิส เป็นผู้บุกเบิกงานด้านอนุภาคไขมัน ลิปิดนาโนพาร์ติเคิล ซึ่งมีการใช้ในทางการแพทย์ในลักษณะต่าง ๆ รวมถึงใช้ในการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ก่อประโยชน์ ต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตของมนุษย์หลายร้อยล้านคนทั่วโลก
- รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ใน ๒ ด้าน คือ ด้านการแพทย์และด้านการสาธารณสุข เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัลประกาศนียบัตร และเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ
- กระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนงานประชาสัมพันธ์ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
๙. ความคืบหน้าการเปิดประเทศด้วยระบบ Thailand Pass
- ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่ระบบได้เริมเปิดใช้ มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว ๒๑๔,๒๕๑ คน ได้รับอนุมัติแล้ว ๑๖๗,๔๑๕ คน โดยในจำนวนดังกล่าว ได้รับการอนุมัติแบบอัตโนมัติ ๘๖,๗๑๙ คน หรือครึ่งหนึ่ง (สถานะ ณ วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น.)
- สถิติผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่ ๑-๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เข้ามา ๓๘,๕๘๔ คน ติดเชื้อ ๔๒ คน ท่าอากาศยานภูเก็ต ๑๘,๔๒๑ คน ติดเชื้อ ๓๒ คน ท่าอากาศยานสมุย ๑,๒๕๙ คน ไม่มีผู้ติดเชื้อ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ๒๑๐ คน ไม่มีผู้ติดเชื้อ รวมผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ๕๘,๘๗๐ คน ติดเชื้อ ๗๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๐.๑๓
- ในขณะนี้ ระบบ Thailand Pass ได้มีการปรับปรุงเพื่อตอบโจทย์ผู้เดินทาง โดยได้ทำ drop down list ให้เลือกโรงแรมที่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาล เพื่อป้องกันปัญหาข้อมูลไม่เชื่อมต่อกัน สามารถใช้งานได้แล้ว นอกจากนี้ ด่านควบคุมโรคยังได้จัดทำประกาศที่สนามบินแจ้งรายละเอียดเอกสารที่ต้องใช้แสดง ได้แก่ หนังสือเดินทาง Thailand Pass QR Code ผลตรวจโควิด-๑๙ แบบ RT-PRC Boarding Pass และใบ ตม.๖ ซึ่งใช้เวลาในการรอที่สนามบินไม่นาน แต่ในบางช่วงอาจมีผู้เดินทางจำนวนมาก
Updates on Thailand Pass system
- As of 17 November 2021, 09.00 hrs, the accumulated number of travelers registered through the “Thailand Pass” website is 214,251 persons – 167,415 of which have been approved. 86,719 of those were approved by auto-approve system.
- Number of travelers entering Thailand during 1-16 November 2021; through Suvarnabhumi and Don Mueng Airport 38,584 persons – 42 of which detected positive for COVID-19, through Phuket Airport 18,421 persons-32 of which detected positive, through Samui Airport 1,259 persons-without infected person and through Chiang-Mai Airport 210 person-without infected person. The accumulated number of travelers have entered Thailand is over 58,870 persons-74of which or 0.13 percent detected positive.
- As of now, the system has provided a drop down list for choosing hotels that are connected to hospitals. Registrants can individually check their registration status and get the QR code once approved without having to wait for a confirmation e-mail.
- Once travelers arrived at the airports, you will see Department of Disease Control’s announcement indicating documents to be shown; Passport, Thailand Pass QR code, Covid-19 RT-PCR report, Boarding pass and T.M. 6 immigration form. The waiting time at the airports will not be long.
๑๐. ประชาสัมพันธ
- ๑๐.๑ รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update ผมให้สัมภาษณ์ในรายการ “บันทึกสถานการณ์” (เทปพิเศษ) ทาง FM 92.5 หัวข้อ “มาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยและระบบ Thailand Pass” ในวันพุธที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔เวลา ๐๘.๓๐ น.
- ๑๐.๒ รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อ “ไทยกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ตอบโจทย์ประเทศไทยอย่างไรบ้าง” ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง Youtube “MFA Thailand Channel
- ๑๐.๓ รายการ “MFA Update” ทาง FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) สัมภาษณ์นายพฤทธิพงษ์ ปุณฑริโกบล ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หัวข้อ “Thailand’s Host of APEC 2022” ในวันศุกร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ น. สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
- ๑๐.๔ รายการ Spokesman Live!!! สัมภาษณ์นายนรชิต สิงหเสนี อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อ “มุมมองต่อนโยบายการต่างประเทศและบทบาทนักการทูตไทยในยุค post COVID-19” ในวันศุกร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”
- ๑๐.๕ รายการ คุยกับทูต ซีซั่น ๒ สัมภาษณ์นายตุลย์ ไตรโสรัส กงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทย - ฮ่องกง ผ่านหนังผีและครูมวยไทยเกือบพันคนในฮ่องกง” วันเสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. สามารถติดตามได้ทางเว็ปไซต์ the Cloud เฟสบุ๊คกระทรวงการต่างประเทศ และ “Saranrom Radio”