สรุปผลการแถลงข่าวผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ข่าว เวียงจันทน์ สปป.ลาว

สรุปผลการแถลงข่าวผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ข่าว เวียงจันทน์ สปป.ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ก.ค. 2567

| 9,963 view

สรุปผลการแถลงข่าว โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา (Post Ministerial Conference)

วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 15.45 – 16.15 น. ณ ศูนย์ข่าว เวียงจันทน์ สปป.ลาว

 

  • เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา รวมทั้งหมด 9 ประเทศและ 1 องค์กร ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป อีกทั้งได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong - Japan) ครั้งที่ 15 ซึ่งไทยเป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK) ครั้งที่ 12
  • ในวันพรุ่งนี้ (27 กรกฎาคม) รัฐมนตรีฯ จะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ก่อนจะเข้าร่วมการประชุม ดังนี้
    1. การประชุมอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3) ครั้งที่ 25
    2. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 14
    3. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศว่าด้วยความรวมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) ครั้งที่ 31
    4. การประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ (ASEAN-U.S.)
    5. การประชุมระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสหรัฐฯ (Mekong-U.S.) ครั้งที่ 3

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา

  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - จีน ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) การเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 27 กิจกรรมภายใต้ปีแห่งความร่วมมืออาเซียน - จีนว่าด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศด้วย
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - นิวซีแลนด์ ที่ประชุมได้ทบทวนและกำหนดทิศทางของสาขาความร่วมมือที่สนใจและมีผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership: SP) รวมถึงเตรียมการสำหรับการฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - นิวซีแลนด์ในปี 2568 รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศด้วย
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - ญี่ปุ่น ท่านรัฐมนตรีฯ เป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ทบทวนความสำเร็จของการฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2566 และหารือแนวทางส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) อาเซียน – ญี่ปุ่นในทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ (2) หุ้นส่วนเพื่อร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคต และ (3) หุ้นส่วนใจถึงใจจากรุ่นสู่รุ่น โดยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ฯ วาระปี 2564 - 2567 ได้ชูบทบาทที่แข็งขันในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่นในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านพลังงาน เศรษฐกิจดิจิทัล และความร่วมมือด้านสาธารณสุข ก่อนจะส่งมอบหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ฯ ให้สิงคโปร์ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนทรรศนะต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศด้วย
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – สหภาพยุโรป ที่ประชุมทบทวนและหารือแนวทางการส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership: SP) และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยไทยแสดงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและผลักดันความเป็นหุ้นส่วนสีเขียวและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างสองภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศด้วย
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ที่ประชุมสนับสนุนการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) ในโอกาสครบรอบ 35 ปีความสัมพันธ์ฯ เมื่อปี 2567 และหารือเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลีครั้งที่ 25 ในเดือนตุลาคม ปีนี้ โดยไทยย้ำความพร้อมในการทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ฯ วาระปี 2567 - 2570 และมีบทบาทที่แข็งขันในการเสริมสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ นวัตกรรม และซอฟต์พาวเวอร์รวมทั้งสนับสนุนบทบาทเชิงบวกของสาธารณรัฐเกาหลีในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนทรรศนะต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศด้วย
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - อินเดีย ที่ประชุมได้ผลักดันความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) ที่สอดคล้องกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) และ Indo-Pacific Oceans Initiative (IPOI) ของอินเดีย โดยเน้น 2 ประเด็นหลักเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ได้แก่ (1) การส่งเสริมความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ การค้าการลงทุน และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และ (2) การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสีเขียว พลังงานสะอาด และการเกษตรอัจฉริยะที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศด้วย
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - รัสเซีย ที่ประชุมได้หารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership: SP) ในทุกมิติ อีกทั้งสนับสนุนให้รัสเซียมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในกรอบต่าง ๆ ของอาเซียนมากขึ้น โดยยึดมั่นความเป็นแกนกลางของอาเซียนและกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ นอกจากนี้ ที่ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศด้วย
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - สหราชอาณาจักร ที่ประชุมยินดีต่อความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) ค.ศ. 2022 - 2026 ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้อง และหารือแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์คู่เจรจาและความร่วมมือในอนาคต รวมถึงส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านความยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับสหราชอาณาจักร ซึ่งจะสนับสนุนมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และบทบาทที่แข็งขันของสหราชอาณาจักรในอินโด-แปซิฟิกด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระหว่างประเทศด้วย
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - แคนาดา ในที่ประชุม ไทยได้ผลักดันความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership: SP) ที่สอดคล้องกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) และ Indo-Pacific Strategy (IPS) ของแคนาดา โดยเน้น ๒ ประเด็นหลักเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต และส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ได้แก่ (๑) การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล เพื่อลดช่องว่างด้านดิจิทัลในภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการให้บริการทางดิจิทัล อาทิ ด้านสาธารณสุขและการศึกษา และ (๒) การพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - ออสเตรเลีย ที่ประชุมได้ทบทวนและกำหนดทิศทางของความร่วมมือในสาขาที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ ภายใต้การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) โดยเฉพาะในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปีความสัมพันธ์ฯ ทั้งยังได้รับรองแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน ค.ศ. 2025 - 2029 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและต่างประเทศอีกด้วย
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น (MJ) ครั้งที่ ๑๕ ที่ประชุมได้รับรองยุทธศาสตร์กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ค.ศ. ๒๐๒๔ ซึ่งจะกำหนดแนวทางความร่วมมือในระยะ ๕ ปี ใน ๓ เสาความร่วมมือ ได้แก่ (๑) สังคมที่มีความยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกันในโลก (๒) การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และ (๓) การตอบสนองเชิงรุกต่อประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของญี่ปุ่นในการสนับสนุนโครงการเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในสาขาที่ญี่ปุ่นเชี่ยวชาญ และแสดงความมุ่งมั่นของไทยที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ไปสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และเจริญรุ่งเรือง
  • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-ROK) ครั้งที่ ๑๒ ที่ประชุมชื่นชมบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตลอด ๑๓ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพัฒนาการของกองทุนกว่า ๔๘ โครงการในอนุภูมิภาคฯ ในโอกาสนี้ ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือต่าง ๆ โดยรัฐมนตรีฯ ย้ำการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ (หลอกลวงออนไลน์ การค้ามนุษย์ ยาเสพติด ไซเบอร์) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน การมีส่วนร่วมมากขึ้นของภาคเอกชน การบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการประสานงานระหว่าง Mekong-ROK ACMECS กับ ASEAN

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าว PMC ที่เวียงจันทน์