สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2567 สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2567 วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ส.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ส.ค. 2567
| 2,027 view
สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมกรมสารนิเทศ และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ
การพิจารณาของรัฐสภาต่อกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก ( PCA ไทย-EU)
ในวันที่ 29 สิงหาคม 2567 (วันนี้) รัฐสภาไทยอยู่ระหว่างพิจารณาให้ความเห็นชอบ “กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU) และรัฐสมาชิก” (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ EU และประเทศสมาชิก EU 27 ประเทศให้ก้าวไปสู่ความเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกว่าเดิม
PCA เป็นกรอบความตกลงรอบด้านที่ไทยจัดทำร่วมกับ EU และประเทศสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานในการเพิ่มพูนการหารือและขยายความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และสังคม และมีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมที่รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี นวัตกรรม และประเด็นความท้าทายใหม่ ๆ ในด้านความมั่นคง เช่น ไซเบอร์ สมุทราภิบาล รวมทั้งการโยกย้ายถิ่นฐาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยความตกลงนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานค่านิยมที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน นิติรัฐและนิติธรรม เป็นต้น
ประโยชน์ที่สำคัญของกรอบความตกลง PCA ไทย-EU
เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ EU โดยเฉพาะการเร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-EU ซึ่งปัจจุบัน EU เป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 และเป็นคู่ลงทุนลำดับที่ 6 ของไทย
เป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจให้เข้าถึงมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและโครงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อันมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและนโยบายการพัฒนาของประเทศ
เป็นส่วนหนึ่งของการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการผลักดันการขอรับการยกเว้นการตรวจลงตรา Schengen สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย
เสริมสร้างบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงการสมัครเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and development – OECD)
ส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ EU ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
เมื่อรัฐสภาไทยให้ความเห็นชอบต่อกรอบความตกลง PCA จะทำให้กระบวนการภายในของฝ่ายไทยเสร็จสิ้น และจะมีผลใช้บังคับภายใน 30 วัน หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ฝ่าย EU ทราบ
กรอบความตกลงนี้เป็นความคืบหน้าสำคัญระหว่างไทยและ EU ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศมีแผนจะร่วมมือกับคณะผู้แทน EU ประจำประเทศไทย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจเนื้อหาและความสำคัญของกรอบความตกลงในนี้แก่สาธารณชนในวงกว้างต่อไป
คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม ครั้งที่ 50 (OIC-CFM 50) ที่แคเมอรูน (29-30 ส.ค. 2567)
นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด และผู้แทนถาวรไทยประจำ องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม ครั้งที่ 50 (Council of Foreign Ministers of the Organisation of Islamic Cooperation : OIC-CFM 50) ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2567 ที่กรุงยาอุนเด แคเมอรูน
การประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Developing Intra-OIC Transportation and Communication Infrastructure: Key Instrument for Combating Poverty and Insecurity” ซึ่งการเข้าร่วมของคณะผู้แทนไทยจะมีส่วนสำคัญในการรักษาพลวัตความร่วมมือระหว่างไทยกับ OIC โดยหัวหน้าคณะผู้แทนไทยจะใช้โอกาสดังกล่าวในการหารือทวิภาคีกับประเทศสมาชิก OIC เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกของ OIC ด้วย
OIC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2512 ปัจจุบัน มีสมาชิก 57 ประเทศ นับเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลที่สำคัญที่สุดของโลกมุสลิม มีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่เมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย ขณะนี้ นาย Hissein Brahim Taha อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การบูรณาการในแอฟริกา และพลเมืองชาดในต่างประเทศ สาธารณรัฐชาด ดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ ทั้งนี้ ประเทศไทยเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ของ OIC ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมกิจกรรม AOIP Forum: Towards UN Sustainable Development Goals 2030 ที่เวียงจันทน์ (30 ส.ค. 2567)
นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรม ในกรอบ ASEAN Outlook on Indo-Pacific (AOIP) Forum: Towards UN Sustainable Development Goals 2030 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว
กิจกรรม AOIP Forum ประกอบด้วย(1) High-Level Segment โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว กล่าวเปิด และเลขาธิการอาเซียนกล่าวแสดงความยินดีในรูปแบบ pre-recorded remarks และ (2) การหารือรูปแบบ panel discussion ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ Connecting the Connectivities: Towards a Green ASEAN / Climate Resilience / และ Green Production and Consumption
มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) เริ่มต้นจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่รับรองเอกสาร AOIP ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นพื้นฐานในการรักษาพลวัตเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียนและส่งเสริมความร่วมมือที่เปิดกว้างกับภาคีภายนอก โดยระบุความร่วมมือหลัก 4 สาขา ได้แก่ (1) ความร่วมมือทางทะเล (2) ความเชื่อมโยง (3) การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs และ (4) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และสาขาความร่วมมืออื่น ๆ
เมื่อปี 2566 อินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ได้ริเริ่มจัด ASEAN Indo-Pacific Forum ในหัวข้อเกี่ยวกับความเชื่อมโยง เพื่อส่งเสริมการดำเนินการตาม AOIP ซึ่งอาเซียนเห็นควรจัดเวทีหารือในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันความร่วมมือภายใต้ AOIP
ความร่วมมือกับจีนและ สปป. ลาว ในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงเพื่อป้องกันน้ำท่วม
เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นประเด็นเร่งด่วนสูงสุดของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ประเทศไทยมีฝนตกหนักและจังหวัดภาคเหนือของไทยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงได้หารือเร่งด่วนกับหลายหน่วยงานเพื่อบรรเทาผลกระทบ
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในแม่น้ำโขง รวมทั้งประสานงานกับฝ่ายจีนและ สปป. ลาว เพื่อชะลอการปล่อยน้ำจากเขื่อนในแม่น้ำโขงหากปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกได้หารือทางโทรศัพท์กับเอกอัครราชทูต สปป.ลาวประจำประเทศไทย และอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบ่งปันข้อมูลและประสานงานระหว่างกันอย่างใกล้ชิด เพื่อการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน ทั้งนี้ ในกรณีจำเป็น ขอให้ชะลอการปล่อยน้ำจากเขื่อนในแม่น้ำโขง เพื่อไม่ให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นจนเกิดน้ำท่วม
ในการนี้ ผู้แทนของทั้งลาวและจีนรับจะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ ขณะที่ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้ตรวจสอบข้อมูลด้วยแล้ว ทราบว่า (1) ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนจิ่งหงระหว่าง 18-25 ส.ค. 2567 ลดลงประมาณ ร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปีก่อน ไม่ได้มีการปล่อยน้ำเพิ่ม (2) สถานการณ์น้ำในแม่น้ำล้านช้าง (หรือแม่น้ำโขงในพรมแดนจีน) ยังอยู่ระดับปกติ และรองรับน้ำได้อีก (3) จีนพร้อมร่วมมือกับไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อบริหารจัดการผลกระทบและใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำร่วมกันต่อไป
กระทรวงการต่างประเทศได้ใช้กลไกหารือทั้งกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยนอกจากจะประสานงานกับเอกอัครราชทูต สปป. ลาวประจำประเทศไทยและอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีแล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังได้หารือเรื่องการจัดการน้ำระหว่างประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ซึ่งมีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านกลไกที่มีอยู่ โดยเฉพาะระบบ early warning เวียนข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำในประเทศต้นน้ำและประเทศปลายน้ำให้ประเทศสมาชิกทราบโดยทั่วกันในคราวเดียว
เตือนภัยเว็บไซต์หลอกลวงคนไทยไปทำงานที่ออสเตรเลีย
ขณะนี้ มีการโฆษณาชักชวนคนไทยไปทำงานในออสเตรเลียผ่านทางเว็บไซต์หรือเพจ Facebook จำนวนมาก โดยหลอกลวงว่า รัฐบาลออสเตรเลียร่วมกับกรมการจัดหางานของไทย จัดหาคนไทยไปทำงานในฟาร์มที่ออสเตรเลีย โดยจะได้รับการตรวจลงตราประเภททำงานเป็นระยะเวลา 3-5 ปี และมีค่าตอบแทนเดือนละ 90,000 – 120,000บาทซึ่งเมื่อมีผู้แสดงความสนใจ (1) จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวและเอกสารประจำตัว ก่อนที่ต่อมา จะอ้างว่าต้องใช้เวลาในการดำเนินการเอกสารต่าง ๆ พร้อมให้ชำระค่าบริการ 100,000 – 200,000 บาท จากนั้น จะแจ้งว่าไม่ได้รับอนุมัติการตรวจลงตราและเริ่มขาดการติดต่อไปในที่สุด หรือ (2) บางกรณีจะแนะนำให้ผู้สนใจขอรับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยว โดยมีการเก็บค่าบริการ แต่เมื่อเดินทางถึงออสเตรเลียก็จะไม่สามารถติดต่อใครได้
กระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า ปัจจุบัน รัฐบาลออสเตรเลียไม่มีความร่วมมือกับประเทศไทยในลักษณะการจัดหาและส่งแรงงานระหว่างกัน อีกทั้งไม่มีนโยบายการอนุมัติการตรวจลงตราประเภทการเกษตรให้กับคนไทย ในการนี้ จึงขอเตือนให้คนไทยระมัดระวังเว็บไซต์หรือเพจ Facebook ที่มีเนื้อหาหลอกลวงในลักษณะเช่นนี้ หากไม่มั่นใจ ขอให้สอบถามไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา หรือสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ หรือที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ