สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ก.ย. 2567
| 1,861 view
ภารกิจของรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ
การเข้าร่วมการประชุม United Nations General Assembly ครั้งที่ 79 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 79 (UNGA79) ระหว่างวันที่ 23 - 30 ก.ย. 2567 ณ นครนิวยอร์ก โดยจะเข้าร่วมพิธีเปิดและกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป (General Debate) และมีกำหนดการสำคัญอื่นรวมถึงการกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Summit of the Future (SotF) และการประชุม Annual Ministerial Meeting of Group of Friends of Universal Health Coverage and Global Health (GoF on UHC)
การประชุม Summit of the Future ถือเป็นการประชุมที่มีความสำคัญที่สุดในช่วงสัปดาห์ UNGA79 High-level Week ภายใต้หัวข้อหลักการประชุม “Summit of the Future: Multilateral Solutions for a Better Tomorrow” โดยจะเป็นโอกาสให้ไทยได้ร่วมกำหนดวาระสำคัญของโลก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงได้แสดงวิสัยทัศน์ของไทยเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินความร่วมมือพหุภาคี
การประชุม Group of Friends on Universal Health Coverage (GoF on UHC) จะจัดขึ้นในหัวข้อ “Realizing Financial Protection to ensure Universal Health Coverage and Health Equity” ซึ่งไทยเป็นสมาชิกและประธานร่วม โดยการเข้าร่วมการประชุมนี้จะสะท้อนบทบาทนำของไทยในการผลักดันและขับเคลื่อนวาระงานด้าน Universal Health Coverage ในเวทีระหว่างประเทศ ที่ไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด
การเข้าร่วมการประชุมผู้นำ Asia Cooperation Dialogue (ACD Summit) ณ กรุงโดฮา กาตาร์
รัฐมนตรีฯ จะติดตามนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม ACD Summit ระหว่างวันที่ 2 - 3 ต.ค. 2567 ณ กรุงโดฮา โดยอิหร่านเป็นประธานการประชุม และกาตาร์เป็นเจ้าภาพการประชุม
การประชุมครั้งนี้มีหัวข้อหลัก คือ การทูตเชิงกีฬา (Sport Diplomacy) และมีวาระการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ การกล่าวถ้อยแถลงของหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิก ACD และการรับรองปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการทูตเชิงกีฬา และส่งเสริมให้ ACD เป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชีย เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างกัน หาแนวทางรับมือกับความท้าทายและการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จะเป็นการติดตามนายกรัฐมนตรีเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกของรัฐมนตรีฯ และจะเป็นการเข้าร่วมประชุมในต่างประเทศครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ไทยจะเป็นประธาน ACD ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
การเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว
รัฐมนตรีฯ จะเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในกรอบอาเซียน ในวันที่ 8 ตุลาคม 2567 และติดตามนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 ณ เวียงจันทน์
การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ที่จะเข้าร่วม ได้แก่ (1) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (2) การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ 28 (3) การประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ 35 โดยจะเป็นเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และครั้งที่ 45 และ การประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องในวันถัดไป และติดตามความคืบหน้าประเด็นคั่งค้างต่าง ๆ เช่น การดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมาและความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกอาเซียน
นอกจากนั้น ยังมีกำหนดการสำคัญอื่น ซึ่งรวมถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาจำนวน 11 การประชุม พิธีลงนามตราสารภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพิธีปิดและการส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนแก่มาเลเซีย
การประชุมประจำปีองค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา สมัยที่ 62 (AALCO)
เมื่อวันที่ 9-13 กันยายน 2567 ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา สมัยที่ 62 (AALCO) ที่กรุงเทพฯ โดยนางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานการประชุม และมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 39 ประเทศ และ 7 องค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญและเร่งด่วนระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานของ ILC ในการประชุมสมัยที่ 75 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กฎหมายทะเล สถานการณ์ในปาเลสไตน์ ความรุนแรงจากคตินิยมสุดขีดและการก่อการร้าย กฎหมายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ กฎหมายไซเบอร์ และกฎหมายอวกาศ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญากรุงเทพ (Krungthep Declaration) ซึ่งย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกต่อหลักการและเป้าประสงค์ของ AALCO อาทิ การส่งเสริมบทบาทของประเทศจากเอเชียและแอฟริกาในการพัฒนาและผลักดันการดำเนินการตามด้านกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นความท้าทายที่จะส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลังในอนาคตทั้งนี้ ผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้ คือ ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการที่สามารถผลักดันให้พัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศไทย รวมถึงเสริมสร้างบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศด้วย
AALCO เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกาเข้ามามีบทบาทในการประมวลและการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับประโยชน์ของประเทศในทวีปเอเชียและแอฟริกา โดย AALCO จะประมวลความเห็นของประเทศสมาชิกในประเด็นกฎหมายดังกล่าว และแจ้งต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อเป็นองค์การระหว่างประเทศสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านกฎหมายระหว่างประเทศเอเชียและแอฟริกา เมื่อปี 2564 ดร. กมลินทร์ พินิจภูวดล อดีตเลขาธิการสมาคม นักกฎหมายระหว่างประเทศแห่งประเทศไทยได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ AALCO คนที่ 7 เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ขณะที่ก่อนหน้านั้น ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัด การประชุมประจำปีของ AALCO 2 ครั้ง คือ เมื่อปี 2509 และ 2530
การเปิดงาน Colours of Africa ณ Central World
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดงาน The Colours of Africa 2024 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 11 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดงานร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตแอฟริกาประจำประเทศไทย 12 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เปิดโลกทัศน์และมุมมองใหม่เกี่ยวกับแอฟริกา และส่งเสริมให้สาธารณชนไทยมีความรู้และความเข้าใจในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนไทยกับประชาชนในแอฟริกา
ภายในงาน มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการแข่งขันตอบปัญหาเกี่ยวกับภูมิภาคแอฟริกา การแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับภูมิภาคแอฟริกา ในหัวข้อ “Africa in My Imagination” และ “Africa: Unity in Diversity” และการประกวดวาดภาพหัวข้อ “Africa in My Imagination” ทั้งยังมีการจัดคูหากว่า 20 คูหาโดยสถานเอกอัครราชทูตแอฟริกาประจำประเทศไทย สายการบินแอฟริกาที่มีบริการเที่ยวบินมายังประเทศไทย และเครือโรงแรมไทยที่มีโรงแรมในภูมิภาคแอฟริกา รวมถึงร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มแอฟริกา
นอกจากนี้ มีการแสดงดนตรีของวงดนตรีชาวแอฟริกาซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) การแสดงทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวแอฟริกาในประเทศไทย และการบรรเลงเพลงร่วมสมัยแอฟริกาด้วยระนาดฝรั่งโดยศิลปินไทย “Fino the Ranad” และการแสดงแฟชั่นโชว์ไทย-แอฟริกา
การจัดงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากและมีคนเข้าร่วมงานหลายพันคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยเปิดใจและสนใจภูมิภาคแอฟริกามากขึ้น ที่ผ่านมา กระทรวงฯ เคยจัดงาน Colours of Africa มาแล้ว 3 ครั้งและหวังจะจัดต่อไปอย่างสม่ำเสมอ
การเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเสียมราฐ กัมพูชา จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 และเปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 โดยนับเป็นสถานกงสุลใหญ่แห่งล่าสุดของไทย มีเขตกงสุลครอบคลุม 8 จังหวัดทางภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ประกอบด้วย (1) เสียมราฐ (2) พระตะบอง (3) ไพลิน (4) บันทายมีชัย (5) อุดรมีชัย (6) พระวิหาร (7) สตึงแตรง และ (8) โพธิสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก
ปัจจุบัน สถานกงสุลใหญ่ฯ มีข้าราชการประจำ 4 คน รวมกงสุลใหญ่ และสำนักงานชั่วคราวตั้งอยู่ที่โรงแรมธารา อังกอร์ (Tara Angkor) เมืองเสียมราฐ ขณะที่อยู่ระหว่างปรับปรุงที่ทำการของสถานกงสุลใหญ่ที่ Rose Apple Square เมืองเสียมราฐเพื่อรองรับการให้บริการของสถานกงสุลใหญ่ฯ อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายในไตรมาสแรกของปี 2568
ขณะนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ให้บริการในส่วนของการดูแลคุ้มครองและช่วยเหลือคนไทย รวมถึงเป็นศูนย์รวมในการประสานงานต่าง ๆ ของหน่วยราชการและเอกชนไทยที่มาดำเนินงาน ติดต่อ หรือเข้าประชุมกับหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ (สำนักงานชั่วคราว)ได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ +855 63 966 661-2 ต่อ 204 หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected]
การเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเสียมราฐ มีประโยชน์แก่ไทย ดังนี้
เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทย
ช่วยขยายโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สนับสนุนและคุ้มครองธุรกิจไทย
ช่วยให้ฝ่ายไทยประสานงานกับหน่วยงานของฝ่ายกัมพูชาในการร่วมกันแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาด้านความมั่นคง และอาชญากรรมข้ามชาติบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เช่น การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์ และปัญหาแรงงานข้ามชาติ
5. การประกาศรางวัลผู้ได้รับรางวัล Public Diplomacy Awards 2024 ของมูลนิธิไทย
กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทย (Thailand Foundation) จะมอบรางวัลการทูตสาธารณะ ของไทยประจำปี 2567 ให้แก่บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรไทยและต่างชาติที่ได้สร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ความนิยมไทยและความเป็นไทยจนเป็นที่ประจักษ์ในหมู่ชาวต่างประเทศ
จุดประสงค์ของรางวัล ได้แก่
เชิดชูเกียรติให้แก่ผู้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมงานด้านการทูตสาธารณะของไทย
ส่งเสริมให้ผู้ที่ได้รับรางวัลสามารถดำเนินงานตามเจตนารมณ์ต่อไปรวมถึงเป็นแบบอย่างและแนวทางให้แก่บุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรได้
สนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักว่าทุกคนสามารถ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานการทูตสาธารณะ
พิธีประกาศผู้ได้รับรางวัลประจำปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2567 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมกรมสารนิเทศ
งานรัฐมนตรีพบปะสื่อมวลชน Meet the Press #2
กระทรวงฯ จะจัดงาน “Meet the Press #2 ในวันที่ 19 กันยายน 2567 เพื่อให้สื่อมวลชนไทยและสื่อมวลชนต่างประเทศในไทยพบปะ รับฟังพัฒนาการทิศทางนโยบายการต่างประเทศ และร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับรัฐมนตรีฯ โดยลงทะเบียนเวลา 9.30 น. และเริ่มงาน 10.00 น. ที่ห้องบัวแก้ว
รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://www.facebook.com/share/v/AoFCPicAEjfiaRvx/?mibextid=lpLi9V
* * * * *