สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 11 ตุลาคม 2567 เวลา 14.30 น.

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 11 ตุลาคม 2567 เวลา 14.30 น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ต.ค. 2567

| 2,391 view

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์

โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 11 ตุลาคม 2567 เวลา 14.30 น.

ณ ห้องบัวแก้ว และทาง Facebook/TIKTOK live กระทรวงการต่างประเทศ

 

  1. พัฒนาการสถานการณ์ตะวันออกกลาง
  • ตามที่ได้มีการสู้รบกันระหว่างอิสราเอล และกลุ่ม Hezbollah ในเลบานอน และกระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งพัฒนาการเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้น กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งพัฒนาการของสถานการณ์ว่า
    • ยังมีการต่อสู้กันอย่างต่อเนื่องระหว่างกองทัพอิสราเอลและพื้นที่โดยรอบ ทั้งในฉนวนกาซา ในเขต West Bank การโจมตีทางอากาศต่อเนื่องใกล้กรุงเบรุต เลบานอน การโจมตีทางอากาศไปยังเขตอุตสาหกรรม และที่ตั้งทางทหารของซีเรียและยังมีการยิงจรวดจำนวนมากจากฝั่งเลบานอนไปยังอิสราเอล
    • มีความเป็นไปได้ที่อิสราเอลอาจตอบโต้ประเทศอื่นในภูมิภาค ทำให้สายการบินบางสาย ประกาศยกเลิกเที่ยวบินเข้าและออกจากอิหร่านและอิรักเป็นการชั่วคราว
  • กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำว่า กระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูตไทยในพื้นที่ทุกแห่งได้ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และติดต่อประสานงานกับชุมชนไทยในที่ต่าง ๆ เพื่อแจ้งพัฒนาการของเหตุการณ์อยู่เสมอ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีแผนรองรับในสถานการณ์ ต่าง ๆ รวมถึงแผนอพยพคนไทยในทุกแห่งไว้พร้อมแล้ว
  • ในการนี้ กระทรวงฯ ขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า โดยที่สถานการณ์ยังมีแนวโน้มตึงเครียดและอาจบานปลายมากขึ้น กระทรวงการต่างประเทศขอแนะนำคนไทยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยสูงพิจารณาเดินทางออกจากพื้นที่ ในขณะที่สถานการณ์ยังอำนวยและสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในประเทศ/พื้นที่ที่กำลังมีความขัดแย้ง โดยเฉพาะตอนเหนือของอิสราเอลและเลบานอน ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงหากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้

 

  1. ผลกระทบของพายุเฮอริเคนมิลตันซึ่งพัดขึ้นชายฝั่งรัฐฟลอริดา
  • ตามที่พายุเฮอริเคนมิลตันได้ขึ้นชายฝั่งรัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 เวลา 20.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ด้วยความรุนแรงระดับ 3 ความเร็วลมสูงสุด 195 กม./ชม. และต่อมาเมื่อเช้าวันที่ 10 ต.ค. 2567 ได้อ่อนกำลังเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 นั้น
  • ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ รายงานว่าพายุเฮอริเคนมิลตันเป็นพายุเฮอริเคนลูกที่ 3 ที่เข้ารัฐฟลอริดาในปีนี้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ และมีประชาชนกว่า 3 ล้านคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ อีกทั้งมีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 คน และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก
  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้ติดตามสถานการณ์พายุเฮอริเคนที่พัดเข้ารัฐฟลอลิดาที่ผ่านมา รวมถึงพายุเฮอริเคนมิลตันอย่างใกล้ชิด โดยได้ตรวจสอบกับวัดไทยและเครือข่ายชุมชนไทยในรัฐฟลอริดาอยู่เสมอ และทราบว่ายังไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีชุมชนไทยบางส่วนที่อยู่ในเขตพื้นที่ต่ำ ใกล้ชายฝั่ง จึงได้รับผลกระทบจากต้นไม้หัก ไฟฟ้าดับ และน้ำท่วม ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ จะติดตามผลกระทบของพายุดังกล่าวต่อคนไทยในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

  1. ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และครั้งที่ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
  • ในตอนนี้ นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังคงอยู่ ณ สปป.ลาว เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยกรมสารนิเทศได้รับผลรายงานเป็นระยะ โดยมีประเด็นดังนี้
  • เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 แบบเต็มคณะ และครั้งที่ 45 แบบไม่เป็นทางการ (retreat) ที่เวียงจันทน์
    • การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 แบบเต็มคณะ หารือภายใต้หัวข้อ “ASEAN : Enhancing Connectivity and Resilience” ไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการแสดงบทบาทนำในภูมิภาคเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน รวมถึงหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 โดยเน้นส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชน เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ผลักดันประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การรับมือปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเสพติดและการหลอกลวงออนไลน์ และการบริหารจัดการภัยพิบัติ ซึ่งประเด็นน้ำเป็นหนึ่งในประเด็นหารือในนั้น
    • การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 45 แบบไม่เป็นทางการ (retreat) เป็นการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศและในภูมิภาค โดยทุกประเทศ เห็นพ้องให้เน้น ASEAN Centrality และการมีเสียงเดียวกันในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยไทยเสนอให้จัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการ Extended Informal Consultation ในเดือนธันวาคม 2567 เพื่อหารือต่อโดยเฉพาะในประเด็นทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในฉนวนกาซา และสถานการณ์ในเมียนมา
  • เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วม (1) การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 27 (2) การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 25 ในโอกาสครบรอบ 35 ปีของความสัมพันธ์ฯ (3) การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 27 และ (4) การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 27 โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงของไทย ย้ำถึงความท้าทาย ของภูมิภาคที่ต้องอาศัยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) ของอาเซียน การยกระดับความสัมพันธ์ และบูรณาการความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเน้นการขับเคลื่อนไปสู่สังคมดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและน้ำ การแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน และการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน รวมถึงได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยว กับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศด้วย
  • การประชุมสุดยอดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีผู้แทนระดับสูงของไทยเข้าร่วม ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 4 / การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 21 / การประชุมสุดยอดอาเซียน-แคนาดา สมัยพิเศษว่าด้วยการเพิ่มทวีความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งในอาเซียน / การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน / และการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนเยาวชนอาเซียน
  • นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี นายกรัฐมนตรีแคนาดา นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายกรัฐมนตรีจีน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ รวมถึงผู้ก่อตั้งและประธาน World Economic Forum (WEF) ในห้วงการประชุมครั้งนี้ด้วย

 

  1. ผลการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027
  • เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ( Human Rights Council: HRC) วาระปี พ.ศ. 2568-2570 ซึ่งต้องแข่งขันกันทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไซปรัส กาตาร์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และไทย โดยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิก HRC ด้วยคะแนนเสียงสูงสุดในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก (177 คะแนน)
  • ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยได้รับเลือกมีหลายประการ กล่าวคือ
    • ไทยได้ประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งและแลกเสียงตั้งแต่เนิ่น และการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการแสวงหาและใช้โอกาสในการแลกเสียงข้ามกรอบ และการแลกเสียงล่วงหน้า
    • พัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าไทยจะยังมีข้อท้าทายในด้านสิทธิมนุษยชน แต่ไทยมีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ เช่น การตรา พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 การลงมติเห็นชอบ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม) และการขยายผลของนโยบายเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) เป็นต้น
    • ความสัมพันธ์ทวิภาคีจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้แทนประเทศต่าง ๆ และการพบหารือทวิภาคีเพื่อรณรงค์หาเสียงระหว่าง
  • นอกจากนี้ ไทยมีความชัดเจนในการการกำหนดภาพลักษณ์ (branding) ที่ต้องการนำเสนอชัดเจน เช่น การเป็นสะพานเชื่อมและประสานความแตกต่างของท่าทีของประเทศสมาชิก ช่วยแสวงหาทางออก และฉันทามติโดยอาศัยจุดแข็งของไทยที่มีมุมมองในหลายเรื่องที่ก้าวหน้าที่คล้ายกับประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็มีเข้าใจในบริบททางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมของประเทศกำลังพัฒนา การส่งเสริมความร่วมมือและการเสริมสร้างขีดความสามารถ และการมุ่งลดความขัดแย้งและสร้างพลวัตของความร่วมมือที่ดี และการมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ มีประสิทธิภาพ ปฏิบัติงานที่เกิดประโยชน์กับประชาชน

 

รับชมย้อนหลังได้ที่:  https://www.facebook.com/share/v/FTaBJiaoY9QExtAG/?mibextid=WC7FNe

 

*****  

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ