สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพุธที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
(๑) ผลการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี
- เมื่อวันที่ ๒๕ - ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ
เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
- การเยือนครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า ๓๐ ปี ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้กลับสู่ระดับปกติอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมายาวนาน โดยได้หารือการภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระยะแรก เช่น การแต่งตั้งเอกอัครราชทูต และการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคี รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีในสาขาต่าง ๆ เช่น การค้าและการลงทุน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน สาธารณสุข และการท่องเที่ยว และสาขาใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น สิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
- ในระหว่างการเยือน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบกับเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด
(His Highness Prince Faisal bin Farhan Al Saud) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือรายละเอียดในการจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคีระหว่างสองประเทศ รวมทั้งเพื่อวางแผนและกำหนดสาขาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศต่อไป
- นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับซาอุดีอาระเบีย และแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่าง
ปี ๒๕๓๒ - ๒๕๓๓ โดยยืนยันว่าไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่าง ๆ และหากมีหลักฐานใหม่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณาต่อไป
- การประกาศปรับความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นปกติ จะสร้างประโยชน์ร่วมกันให้ทั้งสองประเทศในทุกมิติ โดยไทยและซาอุดีอาระเบียสามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมายใน
การพัฒนาของกันและกัน โดยเฉพาะนโยบาย Bio - Circular - Green (BCG) Economy ของไทย และวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. ๒๐๓๐ (Saudi Vision 2030)
- นอกจากนี้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประชาชนของสองประเทศ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจไทยเข้าถึงตลาดซาอุดีอาระเบียที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว บริการ และการก่อสร้าง สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล และสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตอาหารในซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งที่ไทยเชี่ยวชาญ รวมถึงส่งผลให้มีการกลับเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบียของแรงงานฝีมือ แรงงานภาคบริการและแรงงานเฉพาะทางของไทย ช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของไทย และคาดว่านักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียจะสร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่าปีละ ๕,๐๐๐ ล้านบาท
- นายกรัฐมนตรีได้พบกับชุมชนไทยที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด รวมทั้งขอให้คนไทยในซาอุดีอาระเบียประสบแต่ความสุข และเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่จะเริ่มต้นศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย
๒. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หารือกับอธิบดีกรมเอเชียแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี
- เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๕ นางเพทรา ซิกมุนด์ อธิบดีกรมเอเชียและแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเข้าร่วมการประชุม Bilateral Political Consultations ไทย-เยอรมนี ครั้งที่ ๓ โดยมีนางจุฬามณี ชาติสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมที่กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๖ มกราคม ๒๕๖๕
- ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำมิตรภาพที่แน่นแฟ้นและยาวนาน ระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งครบรอบ ๑๖๐ ปี ในปี ๒๕๖๕ ซึ่งฝ่ายไทยมีแผนจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง “EV Hackathon” (การแข่งขันเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ภายใต้โจทย์ที่ได้รับภายในระยะเวลาจำกัด) หัวข้อเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle – EV) ซึ่งเป็นสาขาที่ฝ่ายเยอรมนีมีความเชี่ยวชาญ
- ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือแนวทางการผลักดันความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ให้มีผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับโรคโควิด-๑๙ การค้าการลงทุน
สิ่งแวดล้อม อาชีวศึกษา ระบบราง และการพัฒนาที่ยั่งยืน
- การเยือนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันต่อประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือกับฝ่ายไทยให้แนบแน่นทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี
๓. การปรับมาตรการที่เกี่ยวข้องในการเดินทางเข้าประเทศไทย
- ตามมติที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๕ ได้มีการปรับมาตรการ ในการเดินทางเข้าประเทศไทยที่สำคัญ ดังนี้
- ระบบ Thailand Pass เปิดลงทะเบียน เพื่อเข้าประเทศแบบ Test and Go ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น. ตามเวลาประเทศไทย โดยมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดในการลงทะเบียนฯ ได้แก่
- การลงทะเบียนไม่จำกัดประเทศ/พื้นที่ต้นทางของผู้เดินทางเข้ามา
- ผู้เดินทางต้องมีการตรวจ RT-PCR สองครั้ง ในวันแรกที่เดินทางถึง และวันที่ ๕ ที่อยู่ในประเทศไทย โดยต้องแสดงหลักฐานการจองและจ่าย
ค่าโรงแรมหรือที่พัก SHA Extra Plus /AQ/OQ/AHQ จำนวน ๒ คืน
ในวันที่ ๑ และ ๕ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรงแรมเดียวกัน หรืออยู่ในจังหวัดเดียวกัน โดยในการจองโรงแรมจะรวมค่าตรวจ RT-PCR หรือมีการจ่าย
ค่าตรวจ (ทั้งสองครั้ง) และผู้เดินทางต้องรออยู่ในโรงแรมเพื่อรอผลตรวจ
- กรณีพักไม่เกิน ๕ วัน ไม่ต้องแสดงหลักฐานการจองและจ่ายค่าที่พักและค่าตรวจครั้งที่ ๒ แต่ให้แสดงบัตรโดยสารเครื่องบินขากลับแทน
- การเข้าประเทศแบบ Test and Go จะเป็นมาตรการหลักในการเข้าประเทศหลังจากวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ก็อาจพิจารณาปรับมาตรการให้เหลือเพียง Sandbox/AQ ตามเดิมได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
- ที่ประชุม ศบค. ยังได้มีมติเปิดพื้นที่ Sandbox เพิ่มเติม ใน ๒ พื้นที่ ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เช่นกัน ได้แก่ (๑) จ.ชลบุรี (อ.บางละมุง เมืองพัทยา อ.ศรีราชา เกาะสีชัง สัตหีบ เฉพาะ ต.นาจอมเทียนและบางเสร่) และ (๒) จ.ตราด (เกาะช้าง) โดยผู้เดินทางสามารถเดินทางไป-มา ระหว่างพื้นที่ Sandbox เดิม (จ.ภูเก็ต กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะเต่า และเกาะพะงัน) ได้ภายใน ๗ วันที่พำนักใน Sandbox และต้องจองโรงแรม SHA Extra Plus หรือ AQ เป็นเวลา ๗ วัน พร้อมการตรวจ RT-PCR ๒ ครั้ง (ในวันแรกและวันที่ ๕-๖) โดยสามารถย้ายโรงแรมในพื้นที่/กลุ่มจังหวัด Sandbox ได้ไม่เกิน ๓ แห่ง
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจับตาและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ก็อาจพิจารณาปรับมาตรการให้เหลือเพียง Sandbox/AQ ตามเดิมได้
Updated Measures for entering Thailand (Resumption of Test and Go Scheme and additional Sandbox areas)
- From the outcomes of the CCSA General Meeting on 20 January 2022, there are important updates regarding measures for entering the country.
- Registration for Test and Go will resume on 1 February 2022. Some adjustment in details have been made as follows;
- Travelers from all countries/areas will be eligible to apply for this scheme.
- Two RT-PCR tests will be required. One on the first day of arrival and the second on Day 5 of arrival.
- Travelers must prepare documents for entering the countries such as proof of hotel (SHA Extra Plus/AQ/OQ/AHQ) booking with a confirmed payment for Day 1 and Day 5 including a pre-payment of 2 RT-PCR tests.
- Hotel that travelers choose for your first and second test do not have to be the same hotel or even in the same province, as long as they are SHA Extra Plus/AQ/OQ/AHQ approved.
- In case that travelers have duration of stay in Thailand less than 5 days, they can show the outbound air ticket instead of hotel booking and the confirmation of 2nd RT-PCR test.
- From 1 February, the sandbox areas will be expanded to include areas in Chonburi province (only for specific districts and areas including Pattaya City) and Trat province (Koh Chang Island). Travelers who wish to visit these areas through the sandbox scheme will be able to register in the Thailand Pass system.
- Travelers will now also be able to travel between Phuket, Krabi, Pang Nga, Surat Thani (Koh Samui, Koh Pa Ngan, Koh Tao) within the 7 days. The hotel booking confirmation including a
pre-payment of two RT-PCR tests will be required. Travelers can make no more than 3 hotel transfers during the 7 days.
- Thai authorities concerned continue to monitor and assess the situation closely. If the Covid-19 situation becomes more severe, the measures will be constantly adjusted. The Ministry will keep you updated.
๔. ความคืบหน้าระบบ Thailand Pass และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่ชาวต่างชาติ
- สถานะล่าสุดจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ มีผู้ลงทะเบียน
ขอเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว ๙๕๗,๐๒๓ คน ได้รับอนุมัติแล้ว ๗๖๔,๐๒๒ คน โดยในจำนวนผู้ได้รับอนุมัติแล้ว เป็นผู้ลงทะเบียนเดินทางเข้าแบบ Test and go ๕๒๘,๖๒๑ คน แบบ Sandbox ๑๗๘,๖๕๔ คน และแบบ AQ ๕๖,๗๔๗ คน (ข้อมูลสถานะ ณ วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๒.๓๐ น.)
- ตามที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดให้ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในไทยลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนทางเว็บไซต์ expatvac.consular.go.thสถานะล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕ มีชาวต่างชาติที่ได้รับการนัดหมายไปฉีดวัคซีนผ่านช่องทางนี้ ๕๖,๓๗๕ คน
- สำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล และต้องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster dose) สามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ expatvac ของกรมการกงสุล https://expatvac.consular.go.th/site/booster3 ดำเนินการฉีดโดยบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๗ มกราคม ที่ผ่านมา โดยสามารถศึกษารายละเอียด เงื่อนไข และการนัดหมายได้ในลิงก์ข้างต้น
- สำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยในจังหวัดอื่น ๆ สามารถติดตามการลงทะเบียนรับวัคซีนเข็มกระตุ้นจากศูนย์ฉีดวัคซีนของรัฐในจังหวัดของท่านหรือจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรืออาจลงทะเบียนฉีดกับโรงพยาบาลเอกชนโดยออกค่าใช้จ่ายเอง
- เนื่องด้วยจำนวนวัคซีนในประเทศไทยที่มีจำนวนเพียงพอมากขึ้นในระยะนี้ ขอแนะนำให้ทุกท่านเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเงื่อนไขการฉีดวัคซีนและคำแนะนำทางการแพทย์ของท่าน เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านและสาธารณะ
Update on Thailand Pass system and the vaccination of booster dose for foreign residents
- As of 25 January 2022, 12.30 hrs., the total number of travelers registered through the “Thailand Pass” website is 957,023 persons – 764,022 of which have been approved. Among the approved travelers, 528,621 persons registered for entry through Test and go scheme, 178,654 for sandbox scheme, and 56,747 for AQ scheme.
- Since the Department of Consular Affairs, Ministry of Foreign Affairs, has launched expatvac website: consular.go.th for foreign residents, as of 19 January 2022, the appointment for vaccination has been made for 56,375 expats who have registered through Expatvac.
- Foreign residents who reside in Bangkok and vicinity and would like to receive the booster dose of vaccination can register through the Department of Consular Affairs’ expatvac website: https://expatvac.consular.go.th/site/booster3. The vaccination process has been operating by mobile service providers started from 7 January 2022. More information on how to register, conditions and appointment for the booster dose is provided by the links on the page.
- Foreign residents residing in other provinces can register through any governmental vaccination centers in your province or nearby provinces (free of charge). The vaccination operated by private hospitals can also be an option (at your own expense).
- As the supply of vaccines in Thailand has become more available, I encourage everyone to receive the booster dose according to your medical conditions for your own and public safety.
๕. ประเทศไทยได้อันดับที่ ๕ ของประเทศที่น่าใช้ชีวิตยามเกษียณที่สุด
- เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ที่ผ่านมา นิตยสาร Capital ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนที่เน้นการนำเสนอข่าวสารด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน โดยมีกลุ่มผู้อ่านเป็นวัยทำงานระดับบน ได้เผยแพร่บทความการจัดอันดับ ๑๐ ประเทศ/เมืองที่น่าใช้ชีวิตยามเกษียณมากที่สุด จัดทำโดยเว็บไซต์ Retraite sans Frontieres
โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ ๕ โดยมีประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุด ๓ อันดับแรก ได้แก่ กรีซ โปรตุเกส และสเปน
- การจัดอันดับนี้ พิจารณาจากตัวชี้วัด ๑๒ ข้อ ได้แก่ ค่าครองชีพ อสังหาริมทรัพย์ การแพทย์ มรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางธรรมชาติ อาหาร สภาพอากาศ กิจกรรมสันทนาการ ความปลอดภัย ความยากง่ายในการปรับตัว ความสะดวกในการเดินทาง และโครงสร้างพื้นฐาน ไทยมีคะแนนนำในตัวชี้วัดหัวข้อค่าครองชีพ อสังหาริมทรัพย์ และการแพทย์
- ไทยเป็นเพียงหนึ่งใน ๒ เมือง/ประเทศในเอเชียในการจัดอันดับนี้ สะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งบทความระบุว่า ถึงแม้โควิด-๑๙ และข้อจำกัดด้านการเดินทางจะมีผลต่อการจัดอันดับ โดยมีประเทศในยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียนติดอันดับในสัดส่วนที่มากที่สุดเนื่องจากอยู่ใกล้ฝรั่งเศส แต่ไทยซึ่งอยู่ห่างไกลก็ยังสามารถรั้งอันดับที่ ๕ ไว้ได้
๖. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
- วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) จะสัมภาษณ์นางสาวปฤณัต อภิรัตน์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หัวข้อ “การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในเวทีเอเปค” สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
- วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นางสาวปฤณัต อภิรัตน์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หัวข้อ “BCG in APEC 2022” สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
๗. รายการ Spokesman Live!!!
- วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ขอเชิญติดตามรายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน หัวข้อ “การส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยในสหรัฐอเมริกา” สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”
๘. คำถามจากสื่อมวลชน
(๑) มูลค่าการค้าระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย และจำนวนแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียที่ผ่านมา รวมถึงการเยือนระดับผู้นำอย่างเป็นทางการครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้กับแรงงานไทยที่จะไปทำงานในซาอุดิอาระเบียในยุคหลังโควิด-๑๙ อย่างไร
- ในการเยือนครั้งนี้ประเด็นเรื่องแรงงานเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ ฝ่ายซาอุดีอาระเบียแจ้งว่า ต้องการจัดหาแรงงานดีมีฝีมือ โดยตั้งเป้าให้ได้ 8 ล้านคน
ซึ่งเป็นโอกาสที่ดียิ่งสำหรับแรงงานไทยที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียประสงค์ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานโดยเร็วในภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์)
- นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า การเยือนในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวไทยที่ประสงค์กลับเข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง เนื่องจากไทยมีแรงงานศักยภาพที่มีฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของซาอุดีอาระเบีย และกระทรวงแรงงานยังมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถฝึกอาชีพ และประสบการณ์ให้ตรงกับแรงงานในสาขาที่ซาอุดีอาระเบียต้องการ รวมทั้งมีบริษัทจัดหางานที่มีความน่าเชื่อถือ จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานภายใต้การควบคุมของกระทรวงแรงงาน
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า หากเร่งรัดความร่วมมือได้โดยเร็วจะสร้างผลประโยชน์อย่างมากต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาของซาอุดีอาระเบียยังคงต้องการการสนับสนุนจากต่างชาติ ทั้งในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และด้านแรงงานจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ และแรงงานฝีมือ และกึ่งฝีมือของไทยได้เข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบียมีความร่วมมือใน ๔ ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรม ภาคบริการ ก่อสร้าง และบริการสุขภาพ (healthcare)
- ก่อนการลดความสัมพันธ์การทูตระหว่างกัน เคยมีแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียกว่า 300,000 คน สร้างรายได้ส่งกลับไทยกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปีทั้งนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบียต้องการผลักดันให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านแรงงานภายในสองเดือนผ่านสำนักงานแรงงานของไทยประจำกรุงริยาด นอกจากนี้ ยังได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเยือนซาอุดีอาระเบียในโอกาสแรกด้วย
- ในปี ๒๕๖๔ ไทยและซาอุดีอาระเบียมีมูลค่าการค้ารวม 6,498.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมูลค่าส่งออก 1,494.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นำเข้า 5,003.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ของไทยจากทั่วโลก และอันดับ 2 จากภูมิภาคตะวันออกกลาง
- ซาอุดีอาระเบียเป็นเป้าหมายตลาดการค้าสำคัญของไทย เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ย้ำว่าจะผลักดันการค้ากับซาอุดีอาระเบียอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านพลังงาน และอาหาร ซึ่งเป็นตลาดอาหารสำคัญของไทย
(๒) การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไทยประจำซาอุดีอาระเบียจะเกิดขึ้นในช่วงใด
- เอกอัครราชทูตไทยประจำซาอุดีอาระเบียจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดศักราชความสัมพันธ์ใหม่ การแต่งตั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานหลักใน
การผลักดันให้มีการแต่งตั้งตามขั้นตอนโดยเร็วที่สุด
(๓) ในระหว่างการเยือนมีประเด็นในอดีตที่มีการหยิบยกหรือไม่ และทำอย่างไรให้ซาอุดีอาระเบียเข้าใจความตั้งใจดีของไทย
- นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับซาอุดีอาระเบีย และแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี ๒๕๓๒ - ๒๕๓๓ พร้อมยืนยันว่าไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่าง ๆ
- ทั้งสองฝ่ายไม่ได้หยิบยกประเด็นในอดีตระหว่างการหารือ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งไทยและซาอุดีอาระเบียเข้าแสดงเจตนารมณ์ที่จะมองไปข้างหน้า มุ่งสู่ความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งกลไกหารือระหว่างกันเพื่อกำหนดกรอบนโยบายความสัมพันธ์ในสาขาต่าง ๆ ในโอกาสแรก
(๔) เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้น
- ไทยมีความพยายามมาโดยตลอดในหลายรัฐบาลในการฟื้นฟูความสัมพันธ์และแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันในหลายเรื่อง
ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน การเยือนในซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ เป็นการทำงานของไทยในระยะเวลา ๖ ปี ที่ผ่านมา
- ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกลับมาเป็นปกติในทุกด้านที่มีความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในด้านแรงงาน ซึ่งจะมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจในโอกาสแรก และคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในสองเดือน รวมถึงการตั้งกลไกการหารือที่มีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานนำ
* * * * *
รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/aMA7DF9j6B/
คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”: https://www.youtube.com/user/mfathailand