สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 พ.ค. 2566

| 7,099 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. งานเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

  • เมื่อวันที่ ๖ พ.ค. ๒๕๖๖ เป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งทรงมีพระกรณียกิจ และการทรงงานเพื่อสังคมและประเทศชาติเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ด้านวัฒนธรรม และศิลปะต่าง ๆ ซึ่งล้วนสอดคล้องกับพันธกิจขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยเมื่อช่วงปลายปี ๒๕๖๔ ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก
  • กระทรวงฯ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) จะเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงดนตรีเทิดพระเกียรติในวันที่ ๑๓ พ.ค. ๒๕๖๖ ณ หอการค้าและอุตสาหกรรม (Palais de la Bourse) แห่งเมืองลียง (Lyon) ประเทศฝรั่งเศส โดยสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ร่วมกับสถาบันของทางฝรั่งเศส คัดสรรผลงานดนตรีคลาสสิค ร่วมบรรเลงบทเพลงของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งผสมผสานกับแนวคิดเรื่องสัตว์หิมพานต์ของไทย รวมทั้งบทเรียบเรียงเสียงประสานจากเพลงไทยที่ได้รับการบันทึกไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ (La Loubère) “ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม” บันทึกโดย ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
  • ในวันที่ ๑๖ พ.ค. ๒๕๖๖ จะมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การยูเนสโกอกรุงปารีส ซึ่งจะมีการเผยแพร่ข้อมูลพระประวัติ และพระกรณียกิจในด้านต่าง ๆ โดย รนรม./รมว.กต. ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเข้าร่วมทั้ง ๒ กิจกรรมที่ประเทศฝรั่งเศส
  • กระทรวงฯ ขอเชิญชวนคนไทยร่วมเฉลิมฉลองวาระโอกาสอันเป็นมงคลในครั้งนี้

๒.   การจัดการเลือกตั้งทั่วไปนอกราชอาณาจักร ปี ๒๕๖๖ (ร่วมกับนายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล)

  • รอธ. กรมการกงสุล แจ้งข้อมูล ดังนี้
    • การจัดการจัด ลต.นรต. ในครั้งนี้สำเร็จด้วยดี โดยในช่วงเช้าวันนี้ (๑๒ พ.ค. ๒๕๖๖) ถุงเมล์ทางการทูตที่นำส่งบัตรเลือกตั้งถุงสุดท้ายจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ได้เดินทางถึงประเทศไทย 
    • ในขั้นตอนต่อไป จะมีการตรวจรับบัตรเลือกตั้งโดยเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการ ๓ ฝ่าย ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ก่อนที่จะส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งของบัตรต่อไป
    • ในปีนี้ มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ ลต.นรจ. จำนวน ๑๑๕,๑๙๖ คน โดยมาลงคะแนนเสียง จำนวน ๙๖,๐๔๓ ราย คิดเป็นร้อยละ ๘๓.๓๗ ของยอดผู้ลงทะเบียนทั้งหมด โดยเมื่อปี ๒๕๖๒ มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น ๑๑๙,๓๓๒ คน และมีผู้ใช้สิทธิ ๑๑๐,๐๐๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๙๒.๑๘
    • ประเทศที่มีผู้ใช้สิทธิมากที่สุด ๕ อันดับ ได้แก่ ออสเตรเลีย (๑๕,๒๐๔ ราย) / สหรัฐอเมริกา (๑๓,๐๖๑ ราย) / สหราชอาณาจักร (๖,๖๕๐ ราย) / ญี่ปุ่น  (๖,๙๕๓ ราย) / และเยอรมนี (๕,๖๓๘ ราย)
    • กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการจัด ลต.นรจ. อย่างยิ่ง และยินดีที่ตอนนี้บัตรเลือกตั้งทั้งหมดจากนอกราชอาณาจักรถึงมือของคณะกรรมการ ๓ ฝ่ายแล้ว นับตั้งแต่ถุงเมล์การทูตถุงแรกมาถึงเมื่อวันที่ ๒๘ เม.ย. ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา โดยในโอกาสนี้ กระทรวงฯ ขอขอบคุณหน่วยงานในคณะกรรมการ ๓ ฝ่าย ซึ่งมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดในระดับปฏิบัติ
    • กระทรวงฯ ขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงหน่วยงานภายในกระทรวงฯ โดยเฉพาะสถานเอกอัครราชทูต /สถานกงสุลใหญ่ของไทยทุกแห่งที่ได้ร่วมแรงร่วมใจจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งมีถึง ๑๕ แห่งที่ต้องส่งเจ้าหน้าที่เดินทางมาส่งบัตรเลือกตั้งถึงประเทศไทยด้วยตนเอง
    • การจัด ลต.นรจ. ครั้งถัดไป กระทรวงฯ จะพิจารณาเสนอแนะให้มีการนำระบบ i-Vote มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และให้สอดคล้องกับการก้าวไปสู่การเป็น e-Government ของรัฐบาล โดย i-Vote สามารถใช้ระบบ blockchain เข้ามาช่วยในการบันทึกขั้นตอนการลงทะเบียนและการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ระบบการยืนยันตัวตนและการรักษาความปลอดภัย ซึ่งกรมการกงสุลก็หารือกับ กกต. อยู่ด้วยแล้ว
    • ระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (Overseas Voting Monitoring System: OVMS) มีประโยชน์อย่างยิ่งในการสนับสนุนและกำกับดูแลกระบวนการจัด ลต.นรจ. เนื่องจากสามารถลดปัญหาข้อผิดพลาดจากผู้ปฏิบัติ และอำนวยประโยชน์ให้ส่วนกลางกำกับได้ โดยเฉพาะการติดตามสถานะของบัตรเลือกตั้ง รวมถึงการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และการจัดระบบงานให้ทีมงานทั่วโลกสามารถรายงานผลการดำเนินงานได้โดยเร็ว

๓.    การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๔๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองลาบวน บาโจ อินโดนีเซีย (๙-๑๑ พ.ค. ๒๕๖๖) (ร่วมกับนางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน)

  • อธ. กรมอาเซียน ให้ข้อมูล ดังนี้
    • การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ครั้งนี้เป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกตั้งแต่อินโดนีเซียเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ รนรม./รมว.กต. เป็นผู้แทนพิเศษเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยคำนึงถึงภารกิจการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึง
    • ภาพรวม - รนรม./รมว.กต. เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ 6 การประชุม ดังนี้
      • การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๔๒ แบบเต็มคณะ (42nd ASEAN Summit Plenary Session)
      • การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Leaders' Interface with Representatives of ASEAN Inter-Parliamentary Assembly (AIPA))
      • การหารือระหว่างผู้นำเซียนกับผู้แทนเยาวชนอาเซียน (ASEAN Leaders' Interface with Representatives of ASEAN Youth)
      • การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Leaders' Interface with Representatives of ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC)
      • การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๕ (ASEAN Leaders' Interface with the High-Level Task Force on ASEAN Community's Post-2025 Vision: HLTF-ACV)
      • การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๔๒ แบบไม่เป็นทางการ (42nd ASEAN Summit Retreat Session)
    • ประเด็นสำคัญของการประชุม - สอดคล้องกับแนวคิดหลัก “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง สรรค์สร้างความเจริญ” (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) โดยแยกออกเป็น ๒ ส่วน ดังนี้
      • ASEAN Matters - เป็นประเด็นความมั่นคง ศักยภาพของอาเซียนในการตอบสนองต่อปัญหา
        และความท้าทายต่าง ๆ เน้นย้ำความสำคัญของอาเซียนในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ความมั่นคงของมนุษย์ และในด้านอื่น ๆ ภายใต้บริบทที่มีความผันผวนจากการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ
      • การคงความสำคัญของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
        เน้นความสำคัญของความร่วมมือและบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การเชื่อมโยงเส้นทาง รวมถึงการเชื่อมโยงการชำระเงินในระบบดิจิทัล ซึ่งผู้นำได้รับรองเอกสารสำคัญหลายเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทั้งเรื่อง Digital payment และระบบนิเวศสำหรับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
    • ประเด็นสำคัญอื่น
      • ความมั่นคงในภูมิภาค – ในช่วงการประชุมฯ เต็มคณะ และการประชุมแบบไม่เป็นทางการ (Retreat Session) มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
        • ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ฉันทามติ ๕ ข้อของผู้นำอาเซียนที่เคยมีการตกลงกันไว้ยังคงเป็นพื้นฐานหลักในการแก้ไขปัญหา
        • ทุกฝ่ายแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรง โดยก่อนการประชุมครั้งนี้ ก็มีรายงานข่าวเหตุโจมตีขบวนรถของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) ที่อยู่ระหว่างเดินทางไปยังรัฐฉาน ผู้นำอาเซียนจึงได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงนี้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
        • สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศแสดงความห่วงกังวลต่อการที่ประชาชนถูกล่อลวงให้เข้าร่วมขบวนการ Call Centre นำไปสู่
          การออกปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์อันเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด (ASEAN Leaders’ Declaration on Combating Trafficking in Persons Caused by Abuse of Technology) เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
    • รนรม./รมว.กต. นำเสนอประเด็นที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค ดังนี้
      • ปัญหาหมอกควันข้ามแดน – สืบเนื่องจากที่ นรม. เคยหารือกับผู้นำ สปป. ลาว และเมียนมามาก่อนแล้ว ไทยจึงผลักดันยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR sky strategy) ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม รวมถึงร่วมกับฝ่ายเมียนมาในการศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการ Waste to Energy ซึ่งจะนำขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน โดยเฉพาะขยะจากการเพาะปลูก
      • การผลักดันความตกลงด้านการให้ความช่วยเหลือคนชาติอาเซียน – โดยประเทศสมาชิกเคยดำเนินการแล้ว สืบเนื่องจากการถอดบทเรียนกรณีซูดาน ซึ่งมีการให้ความช่วยเหลือระหว่างมิตรประเทศอย่างทันท่วงที โดยในบริบทของอาเซียน ควรขยายไปถึงประเทศคู่เจรจาที่มีศักยภาพด้วย โดยในกรณีซูดาน ไทยก็ได้รับความช่วยเหลือจากซาอุดีอาระเบีย และในกรณีแผ่นดินไหวที่ตุรกี และสถานการณ์ในยูเครน ประเทศสมาชิกอาเซียนก็ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วย
      • อินโด-แปซิฟิก – อาเซียนห่วงกังวลต่อความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ และย้ำการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน มีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจทุกฝ่ายอย่างสร้างสรรค์ และลดการเผชิญหน้าและความขัดแย้ง ภายใต้มุมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) ภายใต้ความร่วมมือ ๔ สาขา ได้แก่ ความร่วมมือทางทะเล / ความเชื่อมโยง / เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ / และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอื่น ๆ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ของการเผชิญหน้า แต่ใช้เวทีของอาเซียนเพื่อหารือร่วมกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งในเรื่องนี้ อาเซียนพิจารณาเรื่องการการเปิดให้จีนเข้ามาลงนามในสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Nuclear-Weapon-Free Zone Treaty: SEANWFZ) โดยจีนเคยแสดงเจตนารมณ์ดำเนินการในเรื่องนี้แล้วโดยไม่ตั้งข้อสงวนใด ๆ ซึ่งหากจีนเข้าร่วม ได้จริงก็ถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกที่ดีไปสู่มหาอำนาจอื่นที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง และเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในเรื่องนี้ ไปสู่การลดอาวุธนิวเคลียร์ในระดับโลก
      • ต่อข้อซักถามว่าที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงการเลือกตั้งทั่วไปในไทยหรือไม่ – แม้จะไม่มีการสอบถามจากประเทศอื่น รนรม./รมว.กต. ก็ได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร นโยบายของไทยต่ออาเซียนจะยังคงมีความต่อเนื่อง และจะดำเนินความร่วมมือกับอาเซียนต่อไป ทั้งนี้ ประเด็นที่สำคัญอื่นของอาเซียนในปัจจุบันที่ไทยให้การสนับสนุน อาทิ การเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบันของอาเซียน บทบาทของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) และกลไกของอาเซียนต่าง ๆ
    • อธ. กรมสารนิเทศ – การหารือและออกแถลงการณ์ต่าง ๆ ของผู้นำอาเซียนล้วนเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง AOIP หมอกควันพิษ อาชญากรรมข้ามชาติ ระบบนิเวศเพื่อรถยนต์ไฟฟ้า จึงมั่นใจได้ว่า การเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศของไทยแต่ละครั้งต่างมุ่งผลักดันผลประโยชน์แห่งชาติ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน จึงอยากให้เห็นว่า การต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัว
    • อธ. กรมอาเซียน
      • กระทรวงฯ ได้คอยติดตามประเด็นที่สังคมให้ความสนใจก่อนเข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อดูทิศทางความเห็นของประชาชน ซึ่งประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ประเด็นด้านสาธารณสุข ที่ไทยก็เป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) ที่จะคงบทบาทและความสำเร็จของไทยในด้านสาธารณสุขภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
      • รนรม./รมว.กต. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นของเยาวชน โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้าง Digital Literacy และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบ
      • ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะที่เป็นหัวใจของการยกร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๕ ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนในปัจุจบัน และอาจมีติมอร์-เลสเตเพิ่มเติมในอนาตต ก็ถือว่าร่วมชะตากรรมเดียวกัน ดังนั้น ความเข้มแข็งและความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศสมาชิก

๔. การประชุม ESCAP Commission Session สมัยที่ ๗๙ (CS79) (๑๕ พ.ค. ๒๕๖๖)

  • ในระหว่างวันที่ ๑๕-๑๙ พ.ค. ๒๕๖๖ จะมีการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ ESCAP ที่จัดขึ้นเป็นสมัยที่ ๗๙  (CS79) ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยในครั้งนี้เน้นเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อเร่งรัดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะด้านการเงินและการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ในชั้นนี้ มีผู้นำที่จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง ได้แก่ ประธานธิบดีปาเลา/ นายกรัฐมนตรีของหมู่เกาะคุก / นายกรัฐมนตรีซามัว/ เเละผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากหลายประเทศ และคาดว่าจะมีผู้แทนประเทศ เข้าร่วมการประชุมนี้ทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๔๐๐ คน
  • กระทรวงฯ ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้แสดงความประสงค์ร่วมทำข่าวกิจกรรมในครั้งนี้ อาทิ
    • พิธีเปิดในช่วงเช้าของวันที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๖๖ - นรม. จะกล่าวถ้อยแถลงของไทยผ่านวีดีทัศน์ และ ผช.รมต.กต. จะส่งมอบตำแหน่ง ปธ. วาระการประชุมสมัยก่อนหน้าให้กับ รมว.กต. ตองกา ต่อไป นอกจากนี้ ผู้นำเเละผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่างๆ จะร่วมกล่าวถ้อยเเถลงในช่วงพิธีเปิด
    • นิทรรศการ Climate Solutions Fair ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ซึ่งนำเสนอแนวทางของประเทศสมาชิก ESCAP ในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม
    • งานเลี้ยงรับรองหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศต่าง ๆ ในช่วงค่ำของวันที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๖๖ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งภายในงานมีการจัดเเสดงนิทรรศการโครงการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเเละตัวอย่างความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน (Public - Private Partnership: PPP) การนำเสนอความพร้อมของจังหวัดภูเก็ต ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Specialised Expo 2028 รวมถึงการจำหน่ายสินค้าจากกิจกรรม/โครงการส่งเสริมศักยภาพของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
  • ท่านสามารถสืบค้นรายละเอียดการจัดประชุมได้ทางเว็บไซต์ https://www.unescap.org/events/commission79  และติดตามการถ่ายทอดสดพิธีเปิดและการประชุมในช่วงต่าง ๆ ผ่านการถ่ายทอดสดทาง https://www.youtube.com/@unescap

 

รับชมย้อนหลัง : https://fb.watch/kv35i4SXk6/

 

* * *

 

กองการสื่อมวลชน

กรมสารนิเทศ

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

Weekly_Press_Briefing.Presentation.12052023.pdf