สรุปการแถลงข่าวในประเด็นความไม่สงบในอิสราเอล
โดยนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ
- นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้จัดการแถลงข่าวในประเด็นความไม่สงบในอิสราเอลวันละ ๒ ครั้ง เพื่อให้พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
๑. พัฒนาการของสถานการณ์
- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยังคงรุนแรง มีการโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง และฝ่ายรัฐบาลอิสราเอลได้พยายามกระชับพื้นที่ที่พลเรือนของทั้งสอง พลเรือนของทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างบาดเจ็บและเสียชีวิต และมีการยืนยันผู้ถูกจับตัวไปแล้วกว่า ๑๐๐ คน ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติด้วย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอลประกาศให้ทั้งประเทศอยู่ในสถานการณ์พิเศษซึ่งส่งผลให้กองทัพมีอำนาจในการสั่งการด้านความปลอดภัยและปิดสถานที่ต่าง ๆ ของพลเรือนได้ตามความเหมาะสม รวมถึงวานนี้ กองทัพอิสราเอลประกาศอพยพพลเมืองทุกคนออกจากเมืองที่อยู่ใกล้พรมแดนฉนวนกาซาให้ได้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง
- กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลได้จัดการประชุมร่วมกับคณะทูตานุทูตเพื่อรายงานสถานการณ์ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย โดยทางการอิสราเอลยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะอพยพ ซึ่งในชั้นนี้ น่านฟ้าอิสราเอลเปิดตามปกติ แม้จะมีเที่ยวบินลดลงประมาณร้อยละ ๕๐ ซึ่งประชาชนสามารถเดินทางออกจากประเทศโดยเครื่องบินพาณิชย์ได้ แต่หากรัฐบาลใดประสงค์จะอพยพใช้เครื่องประเภทอื่นก็สามารถติดต่อกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลเพื่ออำนวยความสะดวก
๒. ผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่
- สอท. ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานวานนี้ว่า มีผู้บาดเจ็บ ๘ ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน ๑๑ ราย และได้รับรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมจากนายจ้าง รวมผู้เสียชีวิต ๑๒ ราย อย่างไรก็ดี จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการอิสราเอล ทั้งนี้ กองทัพอิสราเอลเริ่มทยอยอพยพผู้คนแล้ว และขอความอนุเคราะห์ สอท.ฯ ช่วยอำนวยความสะดวกในการแปลเอกสาร/ประกาศที่เกี่ยวข้องจากภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาไทย เพื่อแจ้งเวียนให้กับทางชุมชนไทยทราบอย่างทั่วถึง ซึ่ง สอท.ฯ ได้ดำเนินการแล้ว
๓. การดำเนินการของทางการไทย
- ในส่วนของเครื่องบินสำหรับอพยพคนไทย สอท.ฯ ได้แจ้งเวียนแบบฟอร์มแสดงความประสงค์ขออพยพออกจากอิสราเอลผ่านช่องทางต่าง ๆ แล้ว โดยเมื่อวันที่ ๘ ต.ค. ๒๕๖๖ เวลา ๒๑.๐๐ น. (เวลาท้องถิ่น) มีผู้แสดงความประสงค์กลับไทยแล้ว ๑,๐๙๙ คน และยืนยันจะพำนักในอิสราเอลต่อ ๒๒ คน จากจำนวนแรงงานไทยในอิสราเอลประมาณ ๓ หมื่นคน โดยพำนักบริเวณฉนวนกาซา ๕ พันคน ดังนั้น คงยังมีการลงทะเบียนเข้ามาเพิ่มเติม
- เรื่องความปลอดภัยและสวัสดิการของพี่น้องชาวไทยเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด ทั้งนี้ จะมีการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทุกวันที่กระทรวงฯ เพื่อหารือแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพร้อมดำเนินการอย่างรวดเร็ว รวมถึงแผนการอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล
* * *
กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ
รับชมการแถลงข่าวย้อนหลัง : https://fb.watch/nzmt5eneMV/?mibextid=qC1gEa