กระทรวงการต่างประเทศ โดยกลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงและศูนย์ศึกษาการต่างประเทศร่วมจัดสัมมนา “ACMECS Forum: Reflecting the Past and Pondering the Future of ACMECS”

กระทรวงการต่างประเทศ โดยกลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงและศูนย์ศึกษาการต่างประเทศร่วมจัดสัมมนา “ACMECS Forum: Reflecting the Past and Pondering the Future of ACMECS”

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ต.ค. 2566

| 5,692 view

เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงและศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมจัดการสัมมนา “ACMECS Forum: Reflecting the Past and Pondering the Future of ACMECS” ทั้งเข้าร่วมด้วยตนเองและออนไลน์ ณ ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี ของการจัดตั้งยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – เเม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy) หรือ ACMECS ตามข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี ๒๕๔๖ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างโอกาสการจ้างงาน และการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม

การสัมมนาฯ ดำเนินรายการโดย ดร. อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ และมีวิทยากรจากสถาบันทางวิชาการด้านการต่างประเทศจากประเทศสมาชิก ACMECS ทั้ง ๕ ประเทศ ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิก ACMECS ประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศ ACMECS รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนรวมกว่า ๓๐ คนเข้าร่วมงาน

การสัมมนาฯ แบ่งออกเป็นสองช่วง โดยในช่วงแรก เป็นการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบทบาทและการดำเนินความร่วมมือภายใต้ ACMECS นับตั้งแต่การจัดตั้งเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน โดยมีวิทยากรจากประเทศสมาชิก ACMECS ได้แก่ Ms. Sun Monika, Deputy Director, Mekong Centre for Strategic Studies, Asian Vision Institute จากกัมพูชา Ms. Laddavanh Sengsourivong, Deputy Director of ASEAN – ISIS and International Cooperation Division, Institute of Foreign Affairs จาก สปป. ลาว U L Zau Goone, Senior Advisory Board Member, Myanmar Institute of Strategic International Studies จากเมียนมา ดร. มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ นักวิจัย ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Mr. Tu Anh Tuan, Fellow Researcher, Diplomatic Academy of Vietnam จากเวียดนาม

ขณะที่ในช่วงที่สอง เป็นการหารือเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ ACMECS โดยวิทยากร ได้แก่ Mr. Ton Linasopharith, Program Coordinator, Mekong Centre for Strategic Studies, Asian Vision Institute จากกัมพูชา; Mr. Somphay Vongmahachack, Director of Human Resource Development Division, Institute of Foreign Affairs จาก สปป. ลาว U Tun Myint, Senior Advisory Board Member, Myanmar Institute of Strategic International Studies จากเมียนมา ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Mr. Tu Anh Tuan, Fellow Researcher, Diplomatic Academy of Vietnam จากเวียดนาม

วิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นพ้องว่า ACMECS ยังคงเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญ (relevant) ต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก แต่ควรเพิ่มจุดเน้นในประเด็นที่มีความสำคัญต่อประเทศลุ่มน้ำโขงในบริบทปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และสุขภาพ และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ขณะเดียวกัน ACMECS ควรเสริมสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชน และขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างมีบูรณาการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอนุภูมิภาคฯ

อนึ่ง ผลลัพธ์จากการสัมมนาฯ จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการขับเคลื่อน ACMECS ในระยะต่อไป และการยกร่างแผนแม่บท ACMECS ฉบับใหม่ (ค.ศ. ๒๐๒๔ - ๒๐๒๘) เพื่อให้ ACMECS เป็นกลไกส่งเสริมและสอดประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ