โครงการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมพหุวัฒนธรรมกับประเทศสมาชิก OIC ณ สาธารณรัฐตุรกี และสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

โครงการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมพหุวัฒนธรรมกับประเทศสมาชิก OIC ณ สาธารณรัฐตุรกี และสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ก.ย. 2567

| 561 view

เมื่อวันที่ 9 - 13 กันยายน 2567 นายโสรัจ สุขถาวร เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ได้นำคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยนายพงศ์ปราชญ์ มากแจ้ง รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้นำเยาวชนไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 5 คน เดินทางเยือนนครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี และกรุงบากู และเมืองคูบา สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เพื่อพบหารือกับหน่วยงานภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

คณะฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้แทนหน่วยงานและองค์กรในตุรกีและอาเซอร์ไบจาน ในสามประเด็นหลัก ได้แก่ (1) บทบาทของไทยในกรอบองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of the Islamic Cooperation: OIC) โดยได้พบหารือกับผู้แทนสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาสำหรับประเทศอิสลาม (Standards and Metrology Institute for Islamic Countries: SMIIC) และกระทรวงการต่างประเทศอาเซอร์ไบจาน (2) การส่งเสริมโอกาสความร่วมมือของเยาวชนไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยได้พบหารือกับผู้แทนองค์การความร่วมมือเยาวชนโลกอิสลาม (Islamic Cooperation Youth Forum: ICYF) และ (3) การเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม โดยได้หารือกับผู้แทนศูนย์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมนานาชาติ กรุงบากู (Baku International Multiculturalism Centre) นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมสถานที่สำคัญเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพหุวัฒนธรรม ได้แก่ Ayasofia และมัสยิด Bibi-Heybat ในนครอิสตันบูล พิพิธภัณฑ์ Heydar Aliyev Center ชุมชนชาวยิว ณ เมืองคูบา โบสถ์รัสเซีย-ออโธดอกซ์ Jen mironosets baş kafedral kilsəsi และพระราชวัง Shirvanshahs ในอาเซอร์ไบจาน

คณะฯ ได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับทราบแนวปฏิบัติที่ดีในด้านมาตรฐานฮาลาล และการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมของตุรกีและอาเซอร์ไบจาน เพื่อนำไปต่อยอดสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ผู้นำเยาวชนไทยยังได้รับองค์ความรู้ที่เปิดกว้าง และประสบการณ์ด้านพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ