สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ร่วมกับ ททท. สำนักงานนครพนม จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสองฝั่งโขง

สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ร่วมกับ ททท. สำนักงานนครพนม จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสองฝั่งโขง

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2565

| 9,867 view

            เมื่อวันที่ ๗ - ๙ กันยายน ๒๕๖๕ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม จัดกิจกรรม “การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสองฝั่งโขงระหว่างจังหวัดนครพนมและจังหวัดสกลนครกับแขวงคำม่วน” โดยนำคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวจากแขวงคำม่วนจำนวน ๙ คน เข้าเยี่ยมคารวะและรับฟังนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากนายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และนางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร รวมถึงการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนางสาวกนกวรรณ ดุงศรีแก้ว ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครพนม เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการอุทยาน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในช่วงที่สถานการณ์โควิด-๑๙ คลี่คลาย

            โอกาสนี้ คณะผู้เข้าร่วมโครงการฯ ยังได้พบปะและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมและจังหวัดสกลนครเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศระหว่างไทยและสปป. ลาว ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและสามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชื่อมโยง รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์แนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและทัศนศึกษาดูงานในพื้นที่ อาทิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอุทยานแห่งชาติภูพาน จังหวัดสกลนคร และอุทยานแห่งชาติภูลังกา (ถ้ำนาคี) จังหวัดนครพนม

            การดำเนินโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับหัวข้อหลัก “Open. Connect. Balance” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” ของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (APEC) ในปี ๒๕๖๕ รวมถึงสอดคล้องกับผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ลาว ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 3 - 4 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนระหว่างกัน

 

1_2 2   3

  4   5   6

  7   8   9  

10   11