เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้จัดงานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติไทย และวันพ่อแห่งชาติ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยมีนางสาววิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล เป็นประธาน และมีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ของนอร์เวย์เข้าร่วม รวมประมาณ ๘๕ คน ที่สำคัญ ได้แก่ นาย Erling Rimestad อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ นาง Tone Elisabeth Bækkevold Allers อธิบดีกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ นาย Tage Pettersen สมาชิกรัฐสภานอร์เวย์เขตเอิสท์โฟลด์ คณะทูตานุทูตในนอร์เวย์ ได้แก่ เอกอัครราชทูตเมียนมา อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ อินเดีย โมร็อกโก คิวบา เอลซัลวาดอร์ ชิลี แคนาดา เซอร์เบีย สหราชอาณาจักร คอซอวอ อิตาลี และสหภาพยุโรป รวมทั้ง ผู้แทนภาคเอกชน อาทิ นาย Bjørn Tore Larsen ประธานบริหารสายการบิน Norse Atlantic นาย Terje Ommundsen เจ้าของร้าน Plah และ Ahaan ผู้แทนบริษัท OKEA ASA รวมทั้ง ผู้แทนชุมชนไทยจากสมาคมต่าง ๆ เช่น สมาคมสตรีไทยในนอร์เวย์ สมาคมภาษาและวัฒนธรรมไทย-นอร์เวย์ ศูนย์การเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เขตเอิสท์โฟลด์ ชมรมดนตรีและนาฏศิลป์ไทยในนอร์เวย์ สมาคมชาวพุทธไทย วัดไทยนอร์เวย์ และสมาคมอนุรักษ์สืบสานภาษาและวัฒนธรรมในเกรนลานด์
เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้ถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเชิญแขกผู้มีเกียรติร่วมยืนแสดงความเคารพ ระหว่างการขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาตินอร์เวย์
ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ กล่าวสุนทรพจน์สดุดี และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสานต่อพระราชปณิธานด้านการพัฒนา โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญ ได้ทรงก่อตั้งศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา ๙๐๔ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน ซึ่งช่วยให้สังคมไทยมีความเข้มแข็ง
เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนอร์เวย์ที่มีความสร้างสรรค์ เป็นมิตรภาพที่มีความหมาย โดยมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า ตั้งแต่การเสด็จประพาสนอร์เวย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี ๒๔๕๐ ซึ่งได้พัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น โดยเฉพาะในระดับประชาชน ในปีนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนอร์เวย์มีพลวัตรมากขึ้น โดยเฉพาะมีการประชุม Bilateral Consultations ไทย-นอร์เวย์ ครั้งที่ ๑๒ ในระดับการเมือง ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีที่เก่าแก่ที่สุดของไทยกับประเทศยุโรปเหนือ
ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องในประเด็นความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาทิ พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน นอกจากนั้น มีการเปิดเที่ยวกับตรงระหว่างกรุงออสโล-กรุงเทพฯ ของสายการบิน Norse Atlantic เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๖ ซึ่งช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงในระดับประชาชนและการท่องเที่ยว
สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับนอร์เวย์มีความเพิ่มพูนมากขึ้น การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศ European Free Trade Association (EFTA) มีความคืบหน้าที่ดีและคาดว่า การเจรจาจะเสร็จสิ้นในปีหน้า ประเทศไทยพร้อมที่จะให้มีการลงทุนจากนอร์เวย์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนบำนาญของรัฐบาลนอร์เวย์ (กองทุนน้ำมัน) ในโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการแลนด์บริดจ์
ในช่วงเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตฯ ได้เดินทางไปเมืองสำคัญต่าง ๆ ของนอร์เวย์จำนวนกว่า ๒๗ แห่ง เกือบทั่วประเทศนอร์เวย์ ตั้งแต่หมู่เกาะ Svalbard เมือง North Cape เมือง Kirkenes ไปจนถึงเมือง Kristiansand ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มพูนการเรียนรู้เกี่ยวกับนอร์เวย์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานร่วมกับ Thailand and Nordic Countries Innovation Unit (TNIU) ในสาขาที่นอร์เวย์มีความเชี่ยวชาญ เช่น การจัดการขยะทะเล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งเป็นตัวอย่างของความร่วมมือที่ดีด้านพลังงานที่ยั่งยืนระหว่างบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท OKEA ASA ของนอร์เวย์
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวขอบคุณชุมชนไทยในนอร์เวย์ ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ที่ได้ให้การสนับสนุนการทำงานของเอกอัครราชทูตฯ อย่างอบอุ่นมาตั้งแต่วันแรก และเป็นแรงบันดาลให้แก่เอกอัครราชทูตฯ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดเต็มความสามารถ เอกอัครราชทูตฯ มีความภาคภูมิใจในชุมชนไทยในนอร์เวย์ ซึ่งเป็นชุมชนไทยที่มีความเข้มแข็ง และเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนอร์เวย์อย่างแท้จริงและมีความหมายที่สุด
ในงานเลี้ยงรับรองในวันนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้นำเสนอเอกลักษณ์ของความเป็นไทย soft power ของประเทศไทย โดยเฉพาะอาหารไทย ดนตรีไทย และนวดแผนไทย โดยผู้แทนชุมชนไทยในนอร์เวย์ โดยทีมเชฟไทยจากเมือง Bergen ได้สร้างสรรค์เมนู ซึ่งมีข้าวไทยเป็นส่วนประกอบสำคัญ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย นอกจากนี้ เป็นความตั้งใจของสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่จะนำเสนอการส่งเสริมการนวดแผนไทยแบบ ethical and traditional ในนอร์เวย์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์ เอกอัครราชทูตฯ ได้เชิญแขกผู้มีเกียรติร่วมดื่มถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ ๕ แห่งนอร์เวย์
ภายในงานได้มีการจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย ได้แก่ อาหารไทย และขนมไทย การตบแต่งสถานที่ด้วยดอกไม้และพวงมาลัยจากไทย การบรรเลงขิมในเพลงไทย โดยเฉพาะเพลงพระราชนิพนธ์ โดยผู้แทนชมรมดนตรีและนาฏศิลป์ไทยในนอร์เวย์ รวมทั้ง การให้ประสบการณ์นวดแผนไทยบริเวณคอ-บ่า-ไหล่แก่คณะทูตานุทูตและแขกผู้มาร่วมงาน โดยสมาชิก “โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอาชีพนวดไทยในนอร์เวย์” ริเริ่มโดยสมาคมสตรีไทยในนอร์เวย์ ด้วยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฯ