สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต นำโดยเอกอัครราชทูตฯ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองดูไบ บริษัท SCG International Middle East DMCC รวมทั้ง เอกชนไทยและ SMEs เดินทางเยือนเมืองซาลาลาห์ (Salalah) เขตการปกครองโดฟาร์ (Dhofar)

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต นำโดยเอกอัครราชทูตฯ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองดูไบ บริษัท SCG International Middle East DMCC รวมทั้ง เอกชนไทยและ SMEs เดินทางเยือนเมืองซาลาลาห์ (Salalah) เขตการปกครองโดฟาร์ (Dhofar)

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,518 view

ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2564 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต นำโดยเอกอัครราชทูตฯ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองดูไบ บริษัท SCG International Middle East DMCC รวมทั้ง เอกชนไทยและ SMEs เดินทางเยือนเมืองซาลาลาห์ (Salalah) เขตการปกครองโดฟาร์ (Dhofar) โดยคณะฯ ได้พบหารือกับประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรม (Oman Chamber of Commerce and Industry) ผู้แทนสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองซาลาลาห์ (Salalah Economic Zone) และได้เยี่ยมชมท่าเรือซาลาลาห์ (Port of Salalah) เพื่อแสวงหาลู่ทางและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างภาคธุรกิจไทย-โอมาน ตลอดจนสำรวจศักยภาพการตลาดของเมืองซาลาลาห์

การเยือนดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ การใช้ศักยภาพของท่าเรือเมืองซาลาลาห์ของโอมานเป็นจุดนำเข้า-ส่งออกสินค้า ระหว่างไทย เยเมน และแอฟริกาตะวันออก การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทย-โอมาน ในธุรกิจด้านการก่อสร้าง อาหาร เครื่องสำอางและสปา ทั้งนี้ การพบหารือข้างต้นมีส่วนในการสร้างเครือข่ายที่ใกล้ชิดระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ และหน่วยงานเศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่ ตลอดจนผู้ประกอบการไทย-โอมาน

ซาลาลาห์ถือเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่อันดับสองและเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของโอมาน มีข้อได้เปรียบในการมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งทำให้โอมานเป็นประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีเขตแดนทางทะเลเชื่อมกับมหาสมุทรอินเดียโดยตรง ส่งผลให้ซาลาลาห์มีศักยภาพที่จะเป็นฐานกระจายสินค้าจากตะวันออกกลางสู่เยเมนและแอฟริกาตะวันออก ตลอดจนสามารถเป็นจุดขนถ่ายสินค้าต่อไปยังทวีปยุโรปและอเมริกาได้อย่างสะดวก ทรัพยากรที่สำคัญของเขตการปกครองโดฟาร์ประกอบด้วย สินแร่ อาทิ ยิปซัม สินค้าเกษตรและปศุสัตว์ ตลอดจนผลผลิตทางประมง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ