สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา จัดโครงการสำรวจโอกาสการค้าการลงทุนสำหรับภาคเอกชนไทยในเอกวาดอร์

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา จัดโครงการสำรวจโอกาสการค้าการลงทุนสำหรับภาคเอกชนไทยในเอกวาดอร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ก.ย. 2565

| 9,741 view

ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๘ ส.ค. ๒๕๖๕ นายสรยุทธ ชาสมบัติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา และคณะผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา ได้เดินทางไปยังกรุงกีโต เอกวาดอร์ เพื่อสำรวจโอกาสการค้าการลงทุนสำหรับภาคเอกชนไทยในเอกวาดอร์ โดยเอกวาดอร์มีศักยภาพในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economic Model ของไทยและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ในการเยือนครั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้พบหารือกับผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนระดับสูงต่าง ๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเอกวาดอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการผลิต การค้าต่างประเทศ การลงทุน และการประมง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศ รัฐมนตรีช่วยว่าการไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน เลขาธิการของสมาคมภาครัฐและเอกชน ประธานหอการค้าเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งชาติเอกวาดอร์ ประธานสภาอุตสาหกรรมและการผลิตแห่งกรุงกีโต ประธานสภาหอการค้าแห่งกรุงกีโต รองประธานสภาผู้ส่งออกเอกวาดอร์ และผู้แทนจากบริษัทเอกวาดอร์ที่มีศักยภาพในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น (๑) พลังงาน (ตามแบบและแบบหมุนเวียน) (๒) เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร (๓) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ (๔) อุตสาหกรรมการผลิต โดยภาคส่วนที่มีศักยภาพมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำ และผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะกุ้ง

ในการเยือนครั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ และสภาหอการค้าอุตสาหกรรมและการผลิตแห่งกรุงกีโต ได้ร่วมจัดการสัมมนาหัวข้อ “Thailand and Ecuador: A New Partnership” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับศักยภาพการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับเอกวาดอร์ ตลอดจนแนวคิดริเริ่มด้านความยั่งยืนในภาคธุรกิจมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ๓๒ คนและผู้เข้าร่วม ๒๐ คนผ่านระบบ Zoom จากภาครัฐและเอกชนของไทยและเอกวาดอร์

นอกจากนี้ คณะฯ ได้เยี่ยมชมมุมหนังสือ “Thai Corner” ของมหาวิทยาลัย Central University of Ecuador ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของเอกวาดอร์ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้บริจาคหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยจำนวน ๑๕๐ เล่มเมื่อปี ๒๕๖๑ และคณะฯ ได้หารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างทั้ง ๒ ประเทศ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ