วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.พ. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 ก.พ. 2566
เมื่อวันที่ ๒๘ ม.ค. ๒๕๖๖ น.ส. อัจฉราพรรณ ยาวะประภาษ กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ได้รับเชิญในฐานะแขกเกียรติยศเข้าร่วมการเสวนาความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย (Seminar on Indo-Thai Relations) ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบัน Institute of Social and Cultural Studies (ISCS) และสถาบัน Maulana Abul Kalam Azad Institute of Asian Studies (MAKAIAS) ณ สภาวัฒนธรรมสัมพันธ์แห่งอินเดียสาขาเมืองกัลกัตตา (Indian Council of Cultural Relations, Kolkata) โดยมีนายอนิล วาธวา อดีตเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เป็นประธานการเสวนา และมีผู้เข้าร่วมประมาณ ๕๐ คน
การสัมมนาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๕ ปี การประกาศอิสรภาพของอินเดียโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย และระดมสมองข้อเสนอแนะความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต ทั้งนี้ สถาบัน ISCS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๓ มีภารกิจส่งเสริมการศึกษาวิจัยและกิจกรรมทางวิชาการในประเด็นสังคมและวัฒนธรรม ในขณะที่สถาบัน MAKAIAS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๖ เป็นองค์กรอิสระภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมอินเดีย และเน้นขอบเขตการศึกษาวิจัยในภูมิภาคเอเชีย
กงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวเปิดการเสวนาโดยเน้นถึงสายสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างไทยกับอินเดีย ตัวอย่างเช่น มหากาพย์รามายณะที่กลายเป็นวรรณคดีรามเกียรติ์ ภาษาสันสกฤตที่มีอิทธิพลต่อคำศัพท์ในภาษาไทย การแสวงบุญของชาวพุทธในสังเวชนียสถาน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนการเยือนของบุคคลสำคัญโดยเฉพาะการเสด็จประพาสอินเดียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และการเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร กวีรางวัลโนเบลและหนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอินเดีย รวมทั้งการเปิดห้องไทย (Thai Gallery) เพื่อจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถานกงสุลใหญ่ฯ และพิพิธภัณฑ์รพินทรภารตีเมื่อปี ๒๕๖๕ อีกด้วย
เอกอัครราชทูตอนีลฯ ได้กล่าวถึงนโยบาย Act East ของอินเดียและนโยบาย Look West ของไทยที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน บทบาทของไทยในฐานะหุ้นส่วนสำคัญของอินเดียในกรอบความร่วมมือในภูมิภาค เช่น อาเซียน-อินเดีย กรอบแม่โขง-คงคา และบิมสเทคซึ่งปัจจุบันไทยเป็นประธาน แนวโน้มการค้าการลงทุนระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง รวมทั้งสายสัมพันธ์ทางพุทธศาสนา ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศได้จัดนิทรรศการ “เปิดเส้นทางสังเวชนียสถานตามรอยพระพุทธบาท ณ ดินแดนพุทธภูมิ” เมื่อปี ๒๕๖๕ นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตอนีลฯ หวังว่า อินเดียและไทยจะร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นในด้านการเสริมสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) โดยเฉพาะโครงการทางหลวงสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย
วิทยากรร่วมเสวนาอีก ๓ ท่านประกอบด้วย ดร. Uttam Singha หัวหน้าศูนย์ประเด็นความมั่นคง รูปแบบใหม่ สถาบัน Manohar Parrikar Institute for Defence Studies and Analyses (IDSA) ดร. Rajiv Nayan นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย IDSA และนาย Soumya Bhomwick นักวิจัยสถาบันคลังสมอง Observer Research Foundation (ORF) ได้หารือกันอย่างกว้างขวางถึงแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอินเดียและไทยให้มีพลวัตมากยิ่งขึ้นโดยอาศัยพื้นฐานความใกล้ชิดทางสังคมวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **