สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง จัดงานเสวนาทางวิชาการภายใต้หัวข้อ “ASEAN and China Dialogue Green Economy and Climate Action for the Region”

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง จัดงานเสวนาทางวิชาการภายใต้หัวข้อ “ASEAN and China Dialogue Green Economy and Climate Action for the Region”

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 เม.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 เม.ย. 2567

| 835 view

สถานเอกอัครราชทูต  ณ กรุงปักกิ่ง ร่วมกับสถาบันคลังสมอง Centre for China and Globalization จัดงานเสวนาทางวิชาการภายใต้หัวข้อ ASEAN and China Dialogue Green Economy and Climate Action for the Region ณ ห้องรัตนไมตรี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 โดยมีนายเบญจมินทร์ สุกาญจนัจที อุปทูตสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง และนาย Mike Liu รองประธานบริหาร Centre for China and Globalization เป็นประธานร่วมกล่าวเปิดงานเสวนาทางวิชาการ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสะท้อนมุมมองของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเงินสีเขียวและธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ งานดังกล่าวยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทบาทนำของไทยในการพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ และสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในระดับภูมิภาค โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้แทนองค์กรและหน่วยงานจากหลากหลายสาขา อาทิ กระทรวงพลังงานและสิ่งแวดล้อมจีน ธุรกิจด้านพลังงานและการบำบัดของเสีย ธุรกิจสายการเงิน สถาบันคลังสมองด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สื่อมวลชน นักวิชาการ คณาจารย์ นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในจีน รวมประมาณ ๑๒๐ คน

อุปทูตฯ ได้ย้ำจุดยืนของไทยในห้วงพิธีเปิดว่า “ท่ามกลางความท้าทายด้านความมั่งคงทางทรัพยากรธรรมชาติต่อการพัฒนาที่สมดุลให้ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไทยจึงมุ่งเน้นการใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง และมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)” พร้อมได้กล่าวว่า “รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายเพิ่มคุณค่าให้กับความหลากหลายทางชีวภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรม ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรหมุนเวียนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนโดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาสังคมแบบองค์รวม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นอกจากนี้ อุปทูตฯ ได้ย้ำนโยบายของรัฐบาลไทยที่นายเศรษฐา ทวิสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศในห้วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖ (COP26) ว่า รัฐบาลไทยได้เพิ่มเป้าหมายการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น (NDC) จาก ๒๐% เป็น ๔๐% ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง การยกเลิกผลิตพลังงานโดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ภายในปี ค.ศ. 2050 ตลอดจนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ ๔๐% ภายในปี ๒๕๘๓ เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ๒๕๘๓ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ ๐ ภายในปี ๒๖๐๘ ด้วย

นาย Mr. Guo Chuanwei ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและการลงทุน ศูนย์อาเซียน-จีน (Director of the Trade and Investment Division of ASEAN-China Centre และ นางสาว Li Xia ผู้แทนกระทรวงพลังงานและสิ่งแวดล้อมจีน ผู้อำนวย Director, International Environmental Cooperation Center of MEE / China-ASEAN Environmental Cooperation Center เข้าร่วมในฐานะวิทยากรกิตติมศักดิ์ โดยได้ย้ำถึงกลไกการทำงานและการบูรณาการการขับเคลื่อนแผน Framework of ASEAN-China Environmental Cooperation Strategy and Action Plan 2021 – 2025 ของทุกภาคส่วน

การเสวนาวิชาการในหัวข้อ“The Key Aspects to Enhancing Green and Sustainable Development Cooperation between China and ASEAN”นางสาว Elizani T. X. Nadia Sumampouw อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ให้ความเห็นว่า โครงสร้างและกลไกการทำงานที่เป็นระบบและโปร่งใสสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถติดตามและเข้าถึงได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

ในขณะที่นางสาวสุภี ธีรวณินธร ที่ปรึกษาพิเศษ รองประธานธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Special Advisor to the Vice President, Office of the Vice President, AIIB) เห็นว่า ความสำคัญของอาเซียนต่อจีนในสาขาพลังงานจะมีพลวัตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะศักยภาพทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรของประชาคมอาเซียนที่มีจำนวนเทียบเท่าร้อยละ ๕๐ ของประชากรจีนทั้งหมด ะตามบริบทนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของจีนและอาเซียนในปัจจุบัน การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายและการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค

นอกจากนี้ นางสาววันทนา ทาตาล อัครราชทูตที่ปรึกษา สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ กรุงปักกิ่ง ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลไทยกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรภายใต้แนวคิด BCG โดยมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรตามแนวคิด BCG เพื่อนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมเกษตร อาทิ การเพิ่มประเภทกิจการด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยผลิตภัณฑ์เกษตรที่ได้ต้องมีคุณภาพ ความปลอดภัย และตอบสนองความต้องการทั้งในประเทศและส่งออกได้ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา ๕ ปี พร้อมกันนี้ นางสาววันทนาฯ ได้เชิญชวนภาคเอกชนจีนที่มีศักยภาพและสนใจเข้ารับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนจากจีน ยกระดับและสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรระหว่างไทยและจีนร่วมกัน

ภายใต้การเสวนาวิชาการในหัวข้อ “The Challenges Facing Energy Security and the Achievement of Green Technology and Finance in the Region” ดร. วิชัย ณรงค์วณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงความท้าทายทางนโยบายและระเบียบที่ควรรับมือเพื่อนำไปสู่ Green Transition ที่ต่อเนื่องครอบคลุมประเด็นด้านความต่อเนื่องของนโยบาย การประสานงานของทุกภาคส่วน ตลอดจนความเลื่อมล้ำของเศรษฐกิจ การปรับใช้เทคโนโลยีของอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับกระบวนการของการเปลี่ยนผ่านสีเขียว นอกจากนี้ ดร. วิชัย ได้ย้ำว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาต่อความท้าทายดังกล่าวนั้นต้องผนวกปัจจัยทั้งการแบ่งปันและเชื่อมโยงทางเทคโนโลยี และความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน (PPP) ในระดับภูมิภาค

ในขณะที่นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย Director of Strategic Planning & Analysis บริษัท BANPU China ได้แสดงความเห็นว่า ความต่อเนื่องของนโยบายของรัฐบาล ต่ออุตสาหกรรมเป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาสีเขียว รวมทั้งได้ย้ำว่า การพัฒนาสีเขียวจะต้องเริ่มตั้งแต่กลไกต้นน้ำ คือการประเมินผลกระทบของธุรกิจและโครงการตั้งแต่ก่อนเริ่ม ซึ่งเป็นประเด็นที่ บริษัท บ้านปูดำเนินการมาโดยตลอด และจะต้องมีการตรวจสอบและกำหนดเงื่อนไข และประเมินว่าโครงการด้านพลังงานในอุตสาหกรรมต่างๆ จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) ให้ผู้เข้าร่วมได้รับทราบนโยบายระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของไทย รวมทั้งบริษัท บ้านปู ประเทศจีน ยังได้ร่วมจัดแสดงโครงการด้านพลังงานในจีนและบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ภายหลังงานเสวนาวิชาการ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดกิจกรรม Networking ระหว่างผู้เข้าร่วมงาน โดยใช้อาหารและขนมไทยรับรองเพื่อขยายเครือข่ายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ