ไทยและกัมพูชาประกาศการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เพื่อกระชับความร่วมมือใกล้ชิดเพื่อสันติภาพและการพัฒนาร่วมกัน

ไทยและกัมพูชาประกาศการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เพื่อกระชับความร่วมมือใกล้ชิดเพื่อสันติภาพและการพัฒนาร่วมกัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 ก.พ. 2567

| 7,229 view

เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรไทย ได้ให้การต้อนรับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และโลก จุมเตียว ดร.ปึช จันทมนนี ภริยา ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก

ระหว่างการเยือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชาและภริยา เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต อีกทั้งนายกรัฐมนตรีกัมพูชายังได้พบกับประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา รวมทั้งได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนาภาคธุรกิจไทยและกัมพูชา

ในช่วงการหารือทวิภาคี ณ ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้หารือประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งประเด็นในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาสู่การเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” เพื่อเสริมสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งไทยจะเปิดสถานกุงสุลใหญ่ ณ เมืองเสียมราฐ ขณะที่กัมพูชาจะเปิดสถานกุงสุลใหญ่กัมพูชา ณ จังหวัดสงขลา ภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายและประชาชนของสองประเทศ

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะจัดการประชุมคณะกรรมการการค้าร่วม (Joint Trade Committee - JTC) ครั้งที่ ๗ เพื่อวางแผนกระตุ้นการค้าระหว่างสองประเทศไปสู่เป้าหมายมูลค่าการค้า ๑๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ๒๕๖๘ ซึ่งจะเร่งรัดการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมให้แนวชายแดนไทย - กัมพูชาเป็นพื้นที่ปลอดทุ่นระเบิด ซึ่งมีความสำคัญต่อความปลอดภัยของประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งจะส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวข้ามแดน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศตามแนวชายแดน

ในประเด็นความร่วมมือด้านความมั่นคง ฝ่ายไทยเสนอให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Boundary Commission - JBC) โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความคืบหน้าในประเด็นเขตแดน ซึ่งรวมถึงการยกระดับจุดผ่านแดนต่าง ๆ ที่ยังคั่งค้าง อีกทั้งจะเพิ่มความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะเครือข่ายขบวนการหลอกลวงออนไลน์ และในด้านความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนไทยและกัมพูชาเห็นพ้องที่จะสานต่อการหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรใต้ทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน (Overlapping Claims Area) ร่วมกัน โดยต้องหารือควบคู่กับการแบ่งเขตทางทะเล

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับกัมพูชา รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ โดยได้หารือแนวทางในการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเดินทางข้ามพรมแดนและเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของไทยและกัมพูชา รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้นในการเดินทางท่องเที่ยวเพียงครั้งเดียว การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “หกประเทศ หนึ่งจุดหมาย” (ไทย กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และเมียนมา) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันในภูมิภาค โดยไทยได้เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยการผ่านแดนระหว่างสองประเทศ เพื่อให้มีการใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราว การขยายระยะเวลาพำนัก และการอนุญาตให้สามารถเดินทางไปได้ถึงจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดชายแดน เช่น เมืองเสียมราฐ รวมทั้งการกลับมาเจรจาความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนทางบก เพื่อให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อวางแผนความร่วมมือ ได้แก่ (๑) การจัดตั้งสายด่วนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแจ้งเตือนพื้นที่ที่มีการเผาไหม้ (๒) การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน และ (๓) การยกระดับขีดความสามารถและการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตร ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญฝ่ายกัมพูชาเข้าร่วมยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) กับประเทศไทย สปป.ลาว และเมียนมา เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมืออื่น ๆ เช่น ด้านแรงงาน ซึ่งไทยยืนยันกับฝ่ายกัมพูชาว่า ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลแรงงานกัมพูชาในไทยให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและมีหลักประกันในการดำรงชีวิตที่เหมาะสม รวมไปถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ๕ ฉบับ กล่าวคือ

๑) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉิน

๒) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

๓) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้า

๔) บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชาเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับกัมพูชา

๕) บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้ากัมพูชา

ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ข้างต้นจะเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่ความกินดีอยู่ดีและความใกล้ชิดระหว่างประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะในโอกาสที่ไทยและกัมพูชาจะเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ ๗๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี ๒๕๖๘

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ