นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 ต.ค. 2566

| 8,204 view

​เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-Gulf Cooperation Council Summit: ASEAN-GCC Summit) ที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ๓๓ ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน-GCC ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมและศักยภาพของไทยที่จะร่วมมือกับฝ่าย GCC ในการเป็น “หุ้นส่วนที่สร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” โดยเน้นสาขาสำคัญ อาทิ อาหาร พลังงาน สุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอาเซียนกับกลุ่มประเทศ GCC ทั้ง ๖ ประเทศ (บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย) ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีผลักดัน ๓ ประเด็นสำคัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์อาเซียน-GCC ได้แก่

๑) การค้าการลงทุนอย่างไร้รอยต่อ ผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-GCC และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-GCC เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ไทยมีมูลค่าการค้ากับ GCC กว่า ๔ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งได้เสนอให้มีเวทีสำหรับภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่ายพบปะและร่วมมือกัน ซึ่งซาอุดีอาระเบียได้แสดงความพร้อมจัดการประชุมด้านเศรษฐกิจและการลงทุนอาเซียน-GCC เป็นครั้งแรกในปี ๒๕๖๗ นอกจากนี้ ไทยในฐานะครัวโลก พร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตร นวัตกรรมอาหาร วิทยาศาสตร์และมาตรฐานฮาลาล เพื่อความมั่นคงทางอาหารของทั้งสองภูมิภาค

๒) การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและวาระสีเขียว โดยรัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการเงินสีเขียวด้วยการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน และได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิก GCC ที่สนใจมาร่วมลงทุน พร้อมทั้งยินดีแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญระหว่างกันในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พลังงานสะอาด และรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emission)

๓) กระชับสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชน นายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมของไทยและของอาเซียนในการรับนักท่องเที่ยวจาก GCC เพิ่มขึ้น และหวังจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยว GCC เดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวภายใน ๒ ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่เกือบ ๓๐๐,๐๐๐ คน/ปี ผ่านข้อเสนอการเจรจายกเว้นการตรวจลงตรา (Visa) ระหว่างกัน และเพิ่มความเชื่อมโยงทางการบินระหว่างทั้งสองภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

ที่ประชุมฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความไม่สงบในอิสราเอล ฉนวนกาซาและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีแรงงานไทยสูญเสียชีวิตและถูกจับเป็นตัวประกัน ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมกับผู้นำอาเซียนและ GCC เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรง หยุดโจมตีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ เปิดช่องทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงคนในพื้นที่ ปล่อยตัวประกันโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข และย้ำความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีผ่านการเจรจาทางการทูต รวมทั้งได้ออกแถลงการณ์ร่วมต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ใช้โอกาสนี้เข้าเฝ้าและหารือกับผู้นำ GCC ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีฮะมัด บิน อีซา อาล เคาะลีฟะฮ์ แห่งราชอาณาจักรบาห์เรน (His Majesty King Hamad bin Isa Al Khalifa) เชค มิชอัล อัลอะห์มัด อัลญาบิร อัศเศาะบาฮ์ มกุฎราชกุมารรัฐคูเวต (Sheikh Mishal Al-Ahmad Al-Jaber Al-Sabah) เจ้าชาย Sayyid Shihab bin Tariq bin Taimur Al Said รองนายกรัฐมนตรีรัฐสุลต่านโอมาน รวมถึงการเข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งซาอุดีอาระเบียยืนยันความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือคนไทย

นายกรัฐมนตรียังได้ใช้โอกาสนี้พบหารือกับรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนซาอุดีอาระเบียชั้นนำอีก ๔ บริษัท ได้แก่ กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Public Investment Fund: PIF) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย บริษัท Saudi ARAMCO บริษัทด้านพลังงานปิโตรเลียม บริษัท Saudi Arabia Basic Industries Cooperation (SABIC) บริษัทอุตสาหกรรมเคมี และบริษัท Saudi Agricultural and Livestock Investment Company (SALIC) บริษัทด้านการเกษตรและปศุสัตว์ ในขณะที่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนายคอลิด บิน อับดุลอะซีซ อัลฟาลิห์ (Mr. Khalid Abdulaziz Al-Falih) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนซาอุดีอาระเบีย เพื่อผลักดันการลงทุนด้านพลังงาน พลังงานสะอาด ปิโตรเคมี รถยนต์ไฟฟ้า และความมั่นคงทางอาหาร

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ