นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางยุติเอดส์ภายในปี ๒๕๗๓ และจับมือนานาประเทศรับรองปฏิญญาทางการเมือง และส่งเสริมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์โลกว่าด้วยเอดส์ ๒๕๖๔-๒๕๖๙ ในการประชุมระดับสูงสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ ค.ศ. ๒๐๒๑

นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางยุติเอดส์ภายในปี ๒๕๗๓ และจับมือนานาประเทศรับรองปฏิญญาทางการเมือง และส่งเสริมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์โลกว่าด้วยเอดส์ ๒๕๖๔-๒๕๖๙ ในการประชุมระดับสูงสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ ค.ศ. ๒๐๒๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 12,949 view

นายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมระดับสูงสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ ค.ศ. ๒๐๒๑ โดยที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาทางการเมือง และส่งเสริมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์โลกว่าด้วยเอดส์ ๒๕๖๔-๒๕๖๙ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เอดส์โลกในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อยุติเอดส์ภายในปี ๒๕๗๓

เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ผ่านวีดิทัศน์ เสนอแนวทางการยุติโรคเอดส์ภายในปี ๒๕๗๓ ในการประชุมระดับสูงสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ ค.ศ. ๒๐๒๑ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเอดส์ที่ครอบคลุม ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มประชากรหลักที่ได้รับผลกระทบในการพัฒนานโยบายและการบริการที่เกี่ยวข้องกับเอดส์เพื่อให้นโยบายและการบริการสะท้อนความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง
 
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีร่วมกับผู้นำประเทศต่าง ๆ รับรองปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ ค.ศ. ๒๐๒๑ ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น การยุติการเลือกปฏิบัติและตีตรา สิทธิการเข้าถึงยาและการรักษา และความสำคัญของการคงการใช้ประโยชน์จากมาตรการยืดหยุ่นตามความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPS) เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการของประเทศสมาชิกในอีก ๕ ปี ข้างหน้า และแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในการจัดการกับเอชไอวีและเอดส์อย่างจริงจังเพื่อบรรลุวาระแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในการยุติโรคเอดส์ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓

การประชุมระดับสูงสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ จัดขึ้นทุก ๕ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อเป็นเวทีให้นานาประเทศหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือ กำหนดทิศทางและเป้าหมายการดำเนินงาน รวมถึงแสดงความมุ่งมั่นในการจัดการปัญหาและความท้าทายด้านเอชไอวีและเอดส์