คำกล่าวปาฐกถาของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุม APEC CEO Dialogues
หัวข้อ “บทบาทอาเซียนในอนาคตของเอเปค (ASEAN’s Place in APEC’s Future)”
คำกล่าวปาฐกถาของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุม APEC CEO Dialogues
หัวข้อ “บทบาทอาเซียนในอนาคตของเอเปค (ASEAN’s Place in APEC’s Future)”
วันที่นำเข้าข้อมูล 19 พ.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
| 12,760 view
คำกล่าวปาฐกถาของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในการประชุม APEC CEO Dialogues
หัวข้อ “บทบาทอาเซียนในอนาคตของเอเปค (ASEAN’s Place in APEC’s Future)”
วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๓๐ – ๑๕.๐๐ น.
ผ่านระบบการประชุมทางไกล
ผู้นำเขตเศรษฐกิจ และผู้มีเกียรติทุกท่าน
- ผมมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรม APEC CEO Dialogue กับทุกท่านในวันนี้ และขอขอบคุณคุณไนเจิล สำหรับการแนะนำ
- ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ เป็นบททดสอบสำคัญยิ่งของเอเปค โดยถึงแม้จะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงเป็นวงกว้างของโควิด-๑๙ ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิต ธุรกิจ การงาน และความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก แต่สมาชิกเอเปค โดยเฉพาะมาเลเซียในฐานะเจ้าภาพในปีนี้ ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในกรอบเอเปคต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อให้เอเปคก้าวไปสู่อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์อย่างสมศักดิ์ศรี
- ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ อีกเช่นกัน เป็นจุดสิ้นสุดของเป้าหมายโบกอร์ เป้าหมายที่เอเปคใช้เป็นเข็มทิศนำทางการดำเนินการของเรามาตลอด ๒๖ ปีที่ผ่านมา โดยเอเปคได้ผ่านมาแล้วทั้งช่วงมรสุม ช่วงคลื่นลมสงบและช่วงกระแสน้ำส่ง ซึ่งจุดสำคัญที่ทำให้เอเปคยังคงมีความสำคัญในเวทีโลกมาได้จนทุกวันนี้ คือ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน และการร่วมแรงร่วมใจของเขตเศรษฐกิจสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่ทันท่วงที ดังคำกล่าวของ Thomas S. Monson (โทมัส เอส มอนสัน) ที่ว่า “เราไม่สามารถบังคับทิศทางของลม แต่เราสามารถปรับใบเรือได้”
- แม้ว่าวันนี้ เอเปคจะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายโบกอร์ได้ทั้งหมดตามที่เราตั้งใจไว้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เอเปคของเราได้แล่นมาไกลมากจากจุดเริ่มต้น และมีอัตลักษณ์ที่ไม่มีกรอบความร่วมมือใดเหมือน
- ดังนั้น เมื่อหัวข้อการพูดคุยของเราในวันนี้ คือ “บทบาทอาเซียนในอนาคตของเอเปค” ผมในนามของประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งทั้งกรอบเอเปคและอาเซียน จึงขอนำพวกเรามองย้อนกลับไปถึงจุดตั้งต้นและพัฒนาการในช่วงที่ผ่านมาของเอเปคและอาเซียน เพื่อหาจุดร่วมที่ทั้งสองกรอบความร่วมมือจะส่งเสริมและเติมเต็มซึ่งกันและกัน
- เอเปคก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๙ เพื่อผลักดันการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัยให้เดินหน้า ในขณะที่อาเซียนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๗ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค เมื่อบริบทของโลกเปลี่ยนแปลงไป เอเปคและอาเซียนก็ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะรับกับความท้าทายใหม่ ๆ ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเป้าหมายโบกอร์ของเอเปคในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ ที่สอดคล้องกับความสำเร็จของการเจรจารอบอุรุกวัย และการขยายสมาชิกภาพและทวีความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปลายยุค ๙๐
- ในวันนี้ เอเปคและอาเซียนมองไปที่จุดหมายเดียวกัน คือ การสร้างการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งร่วมกัน เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกคนในภูมิภาค ขณะเดียวกัน ก็ต้องเผชิญกับปัญหา ในลักษณะเดียวกันที่เขตเศรษฐกิจใดเขตเศรษฐกิจหนึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยลำพัง ไม่ว่าจะเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจ โรคระบาด รวมทั้งปัญหาทางสิ่งแวดล้อม
- สิ่งสำคัญที่เราเรียนรู้จากการมองย้อนอดีตของเอเปคและอาเซียน คือ การที่กรอบความร่วมมือทั้งสองสามารถยืนหยัดผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ มาได้ และยังคงสถานะการเป็นกรอบความร่วมมือชั้นนำของภูมิภาคเกิดจากวิสัยทัศน์ในการมองไปข้างหน้าและการสร้างจิตวิญญาณความร่วมมือที่ตอบสนองต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
- ตัวอย่างของวิสัยทัศน์ดังกล่าว คือ ข้อเสนอของไทยต่อการริเริ่มจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน หรือ เอ็มแพ็ค ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ให้การรับรองครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๐ และได้ขยายต่อยอดมาเป็น เอ็มแพ็ค ๒๐๒๕ ในปัจจุบัน เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงในทุกมิติที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมโดยทุกคนในสังคมได้รับประโยชน์
- อีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญ คือ แนวคิดการเสริมสร้างการสอดประสานระหว่างข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ ซึ่งไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ริเริ่มขึ้น เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือในกรอบอาเซียนให้ตอบสนองต่อความพยายามของสมาชิกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- เมื่อพิจารณาบริบทในปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางสาธารณสุข รวมถึงความมั่นคงทางอาหารและสินค้าจำเป็น ส่งผลให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาดำเนินมาตรการที่เบี่ยงเบนไปจากค่านิยมการค้าเสรีและเปิดกว้างที่พวกเรายึดมั่นกันมานาน ความจำเป็นในการปกป้องประชาชนของตนจากโควิด-๑๙ ต้องแลกมาด้วยความเชื่อมโยงที่ถูกตัดขาดลง รวมถึงความชะงักงันของการค้าและการลงทุนที่เป็นหัวใจของการเจริญเติบโตและความมั่งคั่ง ทำให้ธุรกิจน้อยใหญ่ต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด เกิดการสูญเสียงาน สูญเสียรายได้ และผลักให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ของเราต้องเผชิญ กับปัญหาปากท้องและความยากจน
- ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในที่นี้ ทั้งผู้นำภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะต้องร่วมมือกันในรูปแบบของพลังประชารัฐ (Public-Private-People Partnership: PPPP) เพื่อสร้างเอเชีย-แปซิฟิกใหม่ที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเอเปคและอาเซียน สร้างเป็นพลังร่วมของความร่วมมือที่สอดคล้องและเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อก้าวไปข้างหน้าโดยเน้นผลประโยชน์ร่วมกันในลักษณะวิน-วิน
- อันดับแรก เราต้องหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และรับมือกับผลกระทบในระยะสั้น เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในส่วนนี้ ผมต้องขอชมเชยความร่วมมือและข้อริเริ่มต่าง ๆ ของเอเปคและอาเซียนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ได้อย่างทันการณ์ โดยเฉพาะการจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของอาเซียน การเปิดตัวศูนย์อาเซียนเพื่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ การรับรองกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน รวมถึงการพัฒนาข้อริเริ่ม ASEAN SME Recovery Facility
- ขณะที่ในเอเปคก็ได้มีข้อริเริ่มต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น มาเลเซียได้ริเริ่มการจัดทำฐานข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจเพื่อรับมือและฟื้นฟูธุรกิจ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า LIVE ขณะที่จีนได้ริเริ่มการตั้งกองทุนเพื่อให้เงินทุนสนับสนุนเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในการรับมือกับโควิด-๑๙ นอกจากนั้น นิวซีแลนด์ มาเลเซียและสิงคโปร์ได้ร่วมกันริเริ่มการรับรองปฏิญญาว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็น โดยเฉพาะเวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
- ตามที่ได้กล่าวมานี้ ผมเห็นว่า เราน่าจะสามารถเชื่อมโยงข้อริเริ่มบางส่วนของกรอบทั้งสองเข้าด้วยกันเพื่อปลุก (reboot) ระบบเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม ข้อริเริ่มของภาครัฐเพียงอย่างเดียวนั้น ย่อมไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นและแรงผลักดันจากภาคธุรกิจที่จะกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานให้เกิดขึ้นอีกครั้ง กระผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือเอแบค และสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียน หรืออาเซียนแบค จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่กว้างขวางแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
- อันดับที่สอง เราต้องเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าโลกกลับมาใหม่ ในบริบทของโลกหลังโควิด-๑๙ ผมเห็นว่า เราต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับระบบการค้าพหุภาคี การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การสร้างความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อในทุกมิติ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และการสร้างความหลากหลายของห่วงโซ่มูลค่าโลก
- ซึ่งจุดนี้ ผมมองว่าอาเซียนและประเทศไทยจะสามารถมีส่วนช่วยเติมเต็มให้กับความร่วมมือในเอเปคได้เป็นอย่างมาก
- ในประเด็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจ อาเซียนเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี เพิ่มโอกาสในด้านการค้าภาคบริการและการลงทุนระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่แตกต่างกัน
- โดยนอกจากการรวมตัวภายในของสมาชิกอาเซียนเองแล้ว อาเซียนยังให้ความสำคัญกับการขยายความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับประเทศภาคี โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ระหว่างสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ กับประเทศคู่ภาคี ๕ ประเทศ ส่งผลให้ RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก
- ความสำเร็จของ RCEP ในช่วงเวลาสำคัญนี้ จะช่วยกระตุ้นกระแสของการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและการค้าพหุภาคี และเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างความตกลงที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันอันสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่แนวคิดการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอฟแทป ต่อไป
- นอกจากนี้ อาเซียนยังมีจุดแข็งในฐานะเป็นตัวกลางสร้างความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยมี เอ็มแพ็ค ๒๐๒๕ เป็นแผนงานหลัก นอกจากนั้นยังมีแผนงานในระดับอนุภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะ ACMECS ที่ช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงดังกล่าว โดยในส่วนของประเทศไทยมีโครงการที่เป็นรูปธรรมมารองรับ เช่น โครงการ EEC โครงการสะพานไทย และโครงการท่าเรือแหลมฉบังที่มีแผนการเชื่อมโยง กับนานาชาติ ผ่านโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน ซึ่งแน่นอนว่า การทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชนจะเป็นหัวใจสำคัญยิ่งที่จะพัฒนาโครงการเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
- ซึ่งเมื่อประกอบกับความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงในเอเปคที่มีจุดแข็งในด้านกฎระเบียบ สถาบันและดิจิทัลแล้ว ก็จะช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน และพัฒนาต่อยอดไปเป็นความเชื่อมโยงที่ครอบคลุมทุกมิติได้ต่อไป
- อันดับสุดท้าย การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นจุดอ่อนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นจุดแข็งที่ประจักษ์ชัดขึ้นซึ่งช่วยให้หลายเขตเศรษฐกิจสามารถไปต่อในภาวะเช่นนี้ได้ อาทิ ภาคการเกษตรและการสาธารณสุขที่แข็งแกร่งในกรณีของไทย
- ดังนั้น เวลานี้ จึงเป็นเวลาสำคัญ ที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยแต่ละเขตเศรษฐกิจจะต้องปรับกระบวนทัศน์เรื่องการเจริญเติบโตใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตที่ทั้งเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน ไปพร้อมกัน
- เราต้องสนับสนุนจุดแข็งให้เป็นจุดเด่นและมีความเข้มแข็งขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเสริมศักยภาพและบริหารจัดการกับจุดอ่อน ให้สามารถยืนหยัดและมีภูมิต้านทานต่อความท้าทายใหม่ ๆ ได้ ซึ่งเราในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงแค่ภาครัฐในเอเปคและอาเซียนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงภาคเอกชนที่จะมีส่วนร่วมสำคัญยิ่งผ่านการปรับแนวคิดการดำเนินธุรกิจของท่านอย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
- กลุ่มที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ MSMEs สตรี เยาวชน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งพวกเราทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมมือกันเพื่อให้การสนับสนุนพวกเขาในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ ภาคธุรกิจการเงินปล่อยกู้โดยภาครัฐเป็นผู้ค้ำประกัน ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลโดยสถาบันการศึกษาร่วมมือกับภาคเอกชนจัดหลักสูตรการศึกษาหรือการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ นอกจากนี้ อาจร่วมมือกันพัฒนาข้อริเริ่ม ASEAN SME Recovery Facility ให้เป็นรูปธรรมต่อไป
- ในส่วนของการพัฒนาจุดแข็ง ผมขอยกตัวอย่างจุดแข็งสำคัญของไทย ๒ ประการ ที่ช่วยให้ไทยประคองตัวในช่วงวิกฤติครั้งนี้ได้ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อแนวทางความร่วมมือในเอเชีย-แปซิฟิก ต่อไปได้
- จุดแข็งประการแรก คือ ภาคการเกษตรที่เข้มแข็งของไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่เสริมความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทย โดยภาคการเกษตรของไทยมีความยืดหยุ่นพอที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสามารถมีผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยยังสามารถคงสถานะการเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลกแม้ในยามที่แย่ที่สุดของการระบาดของโควิด-๑๙ โดยรักษาความมั่นคงทางอาหารของไทยและของโลกไว้ได้
- จุดแข็งประการที่สอง และเป็นความภาคภูมิใจของไทย คือ ระบบสาธารณสุขของไทยที่มีความพร้อมทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ โดยในการรับมือและป้องกันการระบาดของโควิด-๑๙ มีรากฐานที่สำคัญมาจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ด้านดังกล่าวต่อไป
- นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงสินค้าและการบริการทางการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ที่ทุกคนสามารถได้รับอย่างเท่าเทียม ซึ่งผมเห็นว่าเป็นประเด็นที่ทั้งเอเปคและอาเซียนน่าจะสามารถร่วมมือกันต่อไปได้
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
- ผมดีใจที่พรุ่งนี้ พวกเราผู้นำเอเปคจะได้ร่วมรับรองปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ซึ่งจะกำหนดทิศทางความร่วมมือต่อไปในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า
- โดยสำหรับผมแล้ว การแล่นไปข้างหน้าของเอเปคจะต้องเป็นไปอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน
- ในฐานะที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี ค.ศ. ๒๐๒๒ ไทยจะสามารถต่อประเด็นความร่วมมือที่สำคัญจากมาเลเซียและนิวซีแลนด์ และวาระการเป็นเจ้าภาพอาเซียนของไทยเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๙ โดยคำนึงถึงบริบทและความท้าทายของโลกหลังโควิด-๑๙ ซึ่งประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ เช่น (๑) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนอย่างเสรี และการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (๒) การก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล (๓) การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย การส่งเสริมแนวคิดการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การรักษาสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (๔) การส่งเสริมสุขภาวะที่ดี (well-being) และ (๕) ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร
- ทั้งหมดนี้ ไทยจะเชื่อมโยงการดำเนินการของเอเปคกับกรอบความร่วมมือระดับต่าง ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน ACMECS หรือ BIMSTEC ซึ่งไทยก็มีวาระจะเป็นประธานในปี ค.ศ. ๒๐๒๑ – ๒๐๒๒ รวมถึงจะร่วมมือกับเครือข่ายภาคเอกชนในกรอบเหล่านั้น ทั้งนี้ เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของแต่ละกรอบในการส่งเสริมและเติมเต็มซึ่งกันและกัน โดยไม่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อนำมาซึ่งการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และครอบคลุม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต่อไป
- ขอบคุณครับ