คำปราศรัยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสหประชาชาติ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๖

คำปราศรัยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสหประชาชาติ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ต.ค. 2566

| 18,366 view

คำปราศรัย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

เนื่องในวันสหประชาชาติ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๖

---------------------------------

พี่น้องชาวไทยที่เคารพรัก

๑. สวัสดีครับ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสหประชาชาติ ซึ่งเป็นวันก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคง ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน และผสานความร่วมมือด้านการพัฒนาของประชาคมโลก

๒. ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๖ นี้ จะครบรอบ ๗๗ ปีของการเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไทย และปีนี้ยังครบรอบ ๗๕ ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ซึ่งผมมีความยินดีที่ไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติได้มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบมาโดยตลอด ยกตัวอย่างเช่น ความมุ่งมั่นของไทยที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยการลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗

๓. ผมมีความภาคภูมิใจที่ไทยเป็นที่ตั้งของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือเอสแคป และสำนักงานหน่วยงานของสหประชาชาติกว่า ๔๐ หน่วยงาน ซึ่งนอกจากจะสะท้อนว่า ไทยเป็นที่ยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและเสริมสร้างโอกาสสำหรับสินค้าและบริการของไทยให้กับสหประชาชาติ

๔. เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมช่วงสัปดาห์ผู้นำของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๘ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

๕. ภารกิจครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญ ๓ ประการ ประการแรก คือ การสร้างความเชื่อมั่นของนานาประเทศต่อประเทศไทย โดยผมได้ย้ำการยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสนับสนุนบทบาท ของสหประชาชาติ ในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่ทุกประเทศเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการรับมือกับวิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพโลกและต่อความมั่นคงทางพลังงานและอาหารของโลกซึ่งมีผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุก ๆ คน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเร่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเร่งขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

๖. ประการที่ ๒ ไทยได้ผลักดันความร่วมมือในด้านที่ไทยเรามีบทบาทโดดเด่นและได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ซึ่งยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน อาทิ สาธารณสุขภายใต้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า “๓๐ บาทรักษาทุกโรค” หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน

๗. ประการที่ ๓ การสานสัมพันธ์กับผู้นำประเทศต่าง ๆ และภาคเอกชนเพื่อขยายโอกาสทางการค้า
และการลงทุนด้วย อีกทั้งยังได้พบปะผู้แทนชุมชนไทยและมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทย ซึ่งก็คือหน่วยงานราชการไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำสหรัฐอเมริกา

๘. สุดท้ายนี้ ผมขอย้ำว่า การรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ระบบพหุภาคีที่มีสหประชาชาติเป็นเสาหลัก โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงและวิกฤตทางมนุษยธรรมที่เลวร้ายในภูมิภาคต่าง ๆ พวกเรายิ่งต้องการสหประชาชาติที่มีประสิทธิภาพ สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาคมระหว่างประเทศในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี บรรเทาสถานการณ์ ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และเสริมสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน

๙. รัฐบาลไทยมุ่งมั่นสนับสนุนภารกิจของสหประชาชาติ และความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมสร้างสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประชาชนไทยและประชาคมโลก และสร้างโลกที่น่าอยู่สำหรับอนุชนรุ่นหลังต่อ ๆ ไป

๑๐. ขอบคุณครับ

* * * * * * * * * *