คำกล่าวของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเข้าร่วมการประชุม Eastern Economic Forum ครั้งที่ ๖

คำกล่าวของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเข้าร่วมการประชุม Eastern Economic Forum ครั้งที่ ๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,622 view

คำกล่าวของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ในการเข้าร่วมการประชุม Eastern Economic Forum (EEF) ครั้งที่ ๖

ในช่วงการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session)

ภายใต้หัวข้อ “Through crisis towards rejuvenation”

A search for ways of growth in a post-pandemic period

วันศุกร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๒.๐๐-๑๔.๓๐ น. (เวลาประเทศไทย)

ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล

***************************

 

 

ท่านประธานาธิบดีรัสเซีย

ท่านประธานาธิบดีคาซัคสถาน

ท่านประธานาธิบดีมองโกเลีย

แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

๑. ผมขอขอบคุณท่านประธานาธิบดีปูตินที่เชิญผมเข้าร่วมการประชุม Eastern Economic Forum ครั้งที่ ๖ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่ผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่าง ๆ จะได้แลกเปลี่ยนทัศนะกับภาคธุรกิจชั้นนำทั่วโลก เพื่อร่วมกันหาแนวทางที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวและการเติบโตที่ยั่งยืนภายหลังสถานการณ์โควิด-๑๙

 

๒. หลายประเทศรวมถึงไทยยังคงประสบกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ถึงแม้ว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนแล้ว แต่การกระจายวัคซีนในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศรายได้น้อย ยังดำเนินไปได้ช้าและไม่ทั่วถึง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ทางออกจากวิกฤตโรคระบาดนี้ คือ การที่ทุกประเทศสามารถเข้าถึงและมีการกระจายวัคซีนได้อย่างครอบคลุมโดยเร็วที่สุด ดังนั้น ผมจึงขอเน้นย้ำและเรียกร้องให้วัคซีนโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะของโลก และขอให้ประเทศที่มีวัคซีนเพียงพอแล้ว ได้แบ่งปันและเร่งกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคโดยเร็ว เพื่อเปิดทางไปสู่การเดินทางไปมาระหว่างกันที่สะดวกยิ่งขึ้น

 

๓. สำหรับประเทศไทย รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อจัดหาวัคซีนให้เพียงพอสำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเราคาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรอย่างน้อยร้อยละ ๗๐ ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ทีมแพทย์และนักวิจัยไทยยังอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนชนิดต่าง ๆ ภายในประเทศอีกด้วย ซึ่งบางโครงการอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบทดลองในมนุษย์แล้ว และมีผลเป็นที่น่าพอใจ ประการสำคัญ ประเทศไทยมีศักยภาพและมีความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตและเป็นศูนย์กลางการกระจายวัคซีนไปสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

๔. ขณะเดียวกัน IMF และธนาคารโลกได้รายงานตัวเลขที่น่าเป็นห่วงว่า คนยากจนทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยล้านคนในปี ๒๐๒๐ โดยตัวเลขเหล่านี้ตอกย้ำถึงความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น และจะดำเนินต่อไปถึงยุคหลังโควิด-๑๙ โดยเฉพาะประเด็นช่องว่างของการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทุกประเทศจึงต้องร่วมกันยึดมั่นระบบพหุภาคีนิยมและเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

๕. ในระหว่างที่เรายังต้องต่อสู้และเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-๑๙ นั้น ผมเห็นความสำคัญที่ทุกประเทศจะต้องบูรณาการนโยบายต่างๆ ให้มีความสมดุล ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผมจึงขอเสนอมุมมองของไทยเกี่ยวกับกุญแจสำคัญ ๓ ดอก เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙ ภายใต้วิถีปกติใหม่ ดังนี้

 

๖. กุญแจสำคัญดอกแรก คือ การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการรักษาสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเท่าเทียมทางสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน โดยประเทศไทยมี “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ตลอดจนการพัฒนาคนและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

 

๗. ในการนำหลักปรัชญาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้นั้น ประเทศไทยได้เริ่มขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “Bio-Circular-Green Economy” หรือ “BCG” ซึ่งก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ
ในการที่จะต่อยอดความเข้มแข็งของไทยในด้านเกษตรกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ
และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งประเทศไทยยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ
ทุกประเทศ เช่น แนวทางการมุ่งสู่
smart farming การใช้นวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหาร
และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ดังนั้น โมเดล BCG จึงน่าจะเป็นหนึ่งในหนทางที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุมอย่างแท้จริง อีกทั้งยังสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอีกด้วย

 

๘. กุญแจสำคัญดอกที่สอง ก็คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานระหว่างภูมิภาค โดย ILO ได้คาดการณ์ตัวเลขการว่างงานทั่วโลกในปี ๒๐๒๒ ว่าจะอยู่ที่ ๒๐๕ ล้านคน ซึ่งจะทำสถิติสูงกว่าสถิติเดิมในปี ๒๐๑๙ ที่ ๑๘๗ ล้านคน ตัวเลขการว่างงานนี้สะท้อนให้เห็นถึงการชะงักงันของระบบเศรษฐกิจโลกที่มีสาเหตุมาจากโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม MSMEs ซึ่งยังไม่มีขีดความสามารถที่เพียงพอในการรับมือกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

๙. ดังนั้น การฟื้นฟูจึงจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเปลี่ยนจากการค้าในรูปแบบเดิมเป็นการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้การมีระบบนิเวศระหว่างประเทศที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะการปรับกฎระเบียบของภาครัฐให้รองรับการค้าแบบดิจิทัล เช่น การยอมรับลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการค้าระหว่างกัน การปรับโครงสร้างภาคแรงงานที่มีความยึดหยุ่นและสามารถปรับตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ได้ ซึ่งรวมถึงการ upskill และ reskill ภาคแรงงานเพื่อจะพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้ก้าวทันเทคโนโลยี เป็นต้น

 

๑๐. ขณะเดียวกัน การเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ก็นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ ไทยได้จัดทำความตกลงด้านการค้าเสรีกับกว่า ๑๘ ประเทศกับอีก ๑ เขตเศรษฐกิจแล้ว และมุ่งหวังจะจัดทำ FTA เพิ่มเติมกับกลุ่มต่าง ๆ ในอีกหลายภูมิภาค รวมถึงสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ในภูมิภาคยูเรเซียที่มีศักยภาพเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ไทยจะเดินหน้าหารือกับประเทศสมาชิก EAEU รวมทั้งรัสเซียและคาซัคสถาน เพื่อผลักดันประเด็นสำคัญนี้ต่อไป

 

๑๑. กุญแจสำคัญดอกที่สาม ก็คือ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ซึ่งการได้มีส่วนร่วม
ในการประชุม Eastern Economic Forum ครั้งนี้ ทำให้ผมตระหนักถึงศักยภาพของภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งเป็นดินแดนที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และสอดคล้องกับนโยบาย Greater Eurasian Partnership อีกทั้งเป็นโอกาสที่ทั้งสองภูมิภาคจะได้ร่วมมือกันพัฒนาความเชื่อมโยงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว รวมไปถึงแลกเปลี่ยนแนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกัน

 

๑๒. ไทยอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศ และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก คล้ายคลึงกับแนวคิดของรัฐบาลรัสเซียที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกไกล โดยมีเมืองวลาดิวอสต็อคเป็นศูนย์กลาง ผมเห็นว่าพื้นที่ทั้งสองแห่งมีศักยภาพในหลากหลายมิติและสามารถจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคของกันและกันได้ โดย EEC มีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกันได้อย่างดีเลิศ และมีมาตรการส่งเสริม   การลงทุนที่ทันสมัยหลายด้าน ในการนี้ ผมจึงขอเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนใน EEC โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยพร้อมส่งเสริม ได้แก่ กลุ่มดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G กลุ่มสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และกลุ่มระบบขนส่งและโลจิสติกส์อัจฉริยะ

 

๑๓. การเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวเป็นอีกประเด็นที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้น การเริ่มเปิดให้มีการเดินทางข้ามพรมแดนจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยไทยได้ดำเนินโครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ที่กำหนดได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และหากสถานการณ์เอื้ออำนวย ก็จะทยอยเปิดในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป ผมเห็นว่า ในระหว่างที่รอการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ เราควรเริ่มหารือเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติด้านการเดินทาง และการใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกัน เพื่อจะอำนวยความสะดวก และกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่จะมีขึ้นในอนาคต

 

ทุกท่านครับ

๑๔. วิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ การที่เราจะกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมได้นั้น ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจอย่างจริงจังในทุกระดับ ซึ่งประเทศไทยได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในเรื่องนี้ ทั้งในกรอบ UN และองค์กรระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ASEAN ACMECS BIMSTEC ASEM และ APEC 

 

๑๕. ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ในปีหน้า ไทยจะผลักดันวาระที่มุ่งไปสู่การฟื้นตัวหลังโควิด-๑๙ ทั้งการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนต่าง ๆ การฟื้นฟูความเชื่อมโยงใน APEC โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งทั้งหมดนี้ เราจะต้องขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

๑๖. ประเทศไทยยินดีต้อนรับผู้แทนประเทศสมาชิกในการประชุมกรอบต่าง ๆ ของ APEC ในปี ๒๐๒๒ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำ APEC จะได้เดินทางมาพบหน้ากัน นับตั้งแต่การประชุมฯ ที่ปาปัวนิวกินี เมื่อปี ๒๐๑๘ ผมหวังว่าจะได้ต้อนรับท่านประธานาธิบดีปูติน รวมถึงท่านผู้นำต่าง ๆ รวมถึงในการประชุมครั้งนี้ด้วยครับ 

 

๑๗. กุญแจสามดอกที่ผมกล่าวถึงข้างต้น เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ผมหวังว่าจะได้ร่วมมือกับทุกท่านเพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคต่าง ๆ ของเราให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

 

ขอบคุณครับ

*****