กระทรวงการต่างประเทศจัดการสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-EU (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: TH-EU PCA)

กระทรวงการต่างประเทศจัดการสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-EU (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: TH-EU PCA)

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ก.ย. 2565

| 10,597 view

เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๕ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างกรอบความตกลง PCA
ไทย-EU มีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมกว่า ๑๒๐ คน จากกว่า ๖๐ หน่วยงาน และผู้ร่วมบรรยายจากหลากหลายภาคส่วน เช่น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาฯ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา และผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เป็นต้น การสัมมนาฯ สร้างความตระหนักรู้และเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-EU โดยมีร่างกรอบความตกลง PCA เป็นแผนงานความร่วมมือ ซึ่งมีจุดเน้นสำคัญ คือ
การยึดมั่นในค่านิยมสากล ส่งเสริมการพัฒนาและการค้าที่ยั่งยืนบน
พื้นฐานของผลประโยชน์ร่วม รวมทั้งการเป็นหุ้นส่วนรอบด้านภายใต้บริบทโลกปัจจุบัน

ในช่วงพิธีเปิด นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดการสัมมนาฯ โดยเน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือกับ EU เพื่อการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ในระยะยาว โดยอาศัยความเป็นเลิศของ EU ในด้านนั้น ๆ ที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก นอกจากนี้ นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป และนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้ร่วมกล่าวถึงกระบวนการจัดทำ PCA และพลวัตที่ดีของความสัมพันธ์ไทย-EU ในปัจจุบันด้วย

ในการสัมมนาช่วง plenary นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ/หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ได้ให้ภาพรวมของการเจรจากับฝ่าย EU และเนื้อหาของร่างกรอบความตกลงฯ ซึ่งครอบคลุมการเดินหน้าความร่วมมือทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปอย่างมีทิศทางและมีจุดเน้นที่ชัดเจน นอกจากนั้น การมี PCA จะช่วยรับประกันว่า ไทยมีค่านิยมที่สอดคล้องกับ EU ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อการเปิดเจรจา FTA รอบใหม่กับ EU ด้วย

การสัมมนารายหัวข้อ แบ่งเป็น ๓ กลุ่มย่อย เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกและรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือเฉพาะด้าน ดังนี้ (๑) นโยบายการค้าและมาตรฐาน เน้นประเด็นที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุน สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกษตร และมาตรฐานอุตสาหกรรม (๒) การเมืองและความมั่นคง เน้นประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรี และ (๓) ความร่วมมือรายสาขาอื่น ๆ เน้นด้านสาธารณสุข วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ICT และการวิจัยและพัฒนา โดยมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตามร่างกรอบความตกลงฯ และโอกาสของไทยในการร่วมมือกับ EU เพื่อยกระดับมาตรฐานและการดำเนินการด้านต่าง ๆ ไปสู่ระดับสากล

การสัมมนาฯ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในการเจรจาร่างกรอบความตกลงฯ รอบใหม่นี้ ได้ทำให้เห็นภาพกิจกรรมความร่วมมือกับ EU ที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ไทย-EU ยุคใหม่ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศมีแผนจะจัดการสัมมนาเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นอีกในช่วงปี ๒๕๖๖

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ