กระทรวงการต่างประเทศเปิดเวทีให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกำหนด “ทิศทางการพัฒนาหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ของไทย”

กระทรวงการต่างประเทศเปิดเวทีให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกำหนด “ทิศทางการพัฒนาหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ของไทย”

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ก.ย. 2566

| 4,718 view

เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดการสัมมนาในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ของไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมการกงสุล ณ ห้องสยามฮอลล์ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า ๑๔๐ คน จากหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การสัมมนาครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกระทรวงการต่างประเทศในการเปิดรับฟังความเห็นและระดมสมองในวงกว้าง เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก รวมถึงสร้างความโปร่งใสและเข้าถึงได้ในการพัฒนางานบริการหนังสือเดินทาง

ในการกล่าวเปิดการสัมมนาฯ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เน้นย้ำนโยบาย “การทูตเพื่อประชาชน” ซึ่งเป็นหัวใจในการดำเนินงานด้านการต่างประเทศที่เข้าถึงและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน นำมาสู่การบริการด้านกงสุลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ครอบคลุมทั้งการบริการด้านหนังสือเดินทาง งานคุ้มครองคนไทย และงานตรวจลงตราหรือวีซ่า โดยในส่วนของแนวทางการพัฒนาบริการหนังสือเดินทางในอนาคตจะเน้นการพัฒนาบริการหนังสือเดินทางที่ทันสมัย สะดวกสบาย และมีความมั่นคงปลอดภัย มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มากที่สุด ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงบริการ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ประชาชนทุกระดับ ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือของหนังสือเดินทางไทยในการเดินทางระหว่างประเทศ

นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล ได้กล่าวสรุปพัฒนาการโดยสังเขปตั้งแต่เริ่มใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปี ๒๕๔๘ โดยมีการออกหนังสือเดินทางที่มีคุณลักษณะต่าง ๆ ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และมุ่งยกระดับคุณภาพการให้บริการประชาชนให้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมาโดยตลอด ทั้งในด้านบริการ รูปเล่มหนังสือเดินทาง และระเบียบต่าง ๆ อีกทั้งได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาและยกระดับบริการหนังสือเดินทางไทยในอนาคต ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อรองรับหนังสือเดินทางดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง อันเป็นแนวทางที่จะต้องเจรจาทำความตกลงกับมิตรประเทศเพื่อการยอมรับร่วมกันต่อไป

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนายังได้รับฟังข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศและมุมมองจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาหนังสือเดินทางของไทยในอนาคต อาทิ (๑) ความเป็นไปได้ในการยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางแบบออนไลน์โดยไม่ต้องไปด้วยตนเอง ซึ่งต้องมีระบบยืนยันตัวตนที่แม่นยำ (๒) การจัดทำหนังสือเดินทางรูปแบบดิจิทัล (๓) การเพิ่มคุณลักษณะความปลอดภัยให้แก่หนังสือเดินทาง (๔) การนำนวัตกรรมในอนาคตมาพัฒนางานบริการดิจิทัล และ e-service ต่าง ๆ เช่น เครื่องรับคำร้องขอหนังสือเดินทางแบบบริการด้วยตนเอง (kiosk) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้นและตอบโจทย์การให้บริการนอกเวลาทำการ เป็นต้น โดยกระทรวงการต่างประเทศมีแผนจะนำความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปพิจารณาและกำหนดแนวทางการพัฒนาหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ของไทย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในปี ๒๕๖๘ เพื่อให้เป็นความภูมิใจของคนไทยต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ