ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี OSCE ครั้งที่ ๓๐

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี OSCE ครั้งที่ ๓๐

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ธ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ธ.ค. 2566

| 5,234 view

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน - ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี OSCE ครั้งที่ ๓๐ ณ กรุงสกอเปีย นอร์ทมาซิโดเนีย โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือของ OSCE เข้าร่วมรวม ๖๘ ประเทศ โดยไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชียของ OSCE ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในช่วงการประชุมเต็มคณะ และการประชุม Troika ร่วมกับประเทศหุ้นส่วนฯ ฝ่ายเอเชีย

ในถ้อยแถลง ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางพลังงาน โดยไทยได้นำเสนอมุมมองในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดสันติภาพและการพัฒนามนุษย์

ประเด็นแรก การกลับมาให้ความสำคัญกับหลักพหุภาคีนิยม โดยมุ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยเฉพาะผ่านองค์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ไทยได้สนับสนุนการปฏิรูปสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อให้ดำเนินบทบาทที่มีประสิทธิภาพและและประสิทธิผล สะท้อนภูมิทัศน์ทางการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการหารือที่สร้างสรรค์และครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้ง

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความร่วมมือและการหารือระหว่างภูมิภาค โดยไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนหนึ่งเดียวใน OSCE พร้อมที่จะเป็นสะพานเชื่อมอาเซียนกับ OSCE ให้ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น อาทิ ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พร้อมกันนี้ ได้ย้ำว่าสันติภาพและความมั่นคงเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนฯ ในการสนับสนุนบทบาทของ OSCE เพื่อฟื้นฟูหลักพหุภาคีนิยมให้กลับมาเข้มแข็งและมุ่งเน้นความมั่นคงองค์รวมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน 

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังใช้โอกาสการเข้าประชุมครั้งนี้ หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนอร์ทมาซิโดเนียและอิสราเอล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี ญี่ปุ่น และผู้แทนอื่น ๆ อาทิ เกาหลีใต้ อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย ออสเตรีย ฟินแลนด์ เยอรมนี นอร์เวย์ มองโกเลีย มอลตา โปแลนด์ เติร์กเมนิสถาน ฯลฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขอการสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ของไทย วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗

OSCE เป็นเวทีปรึกษาหารือในลักษณะการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) เพื่อหาข้อยุติและระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในยุโรป โดยมีภารกิจหลักในการส่งเสริมความมั่นคงองค์รวมใน ๓ มิติ ได้แก่ (๑) มิติการเมือง-การทหาร (๒) มิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และ (๓) มิติมนุษย์ โดยไทยให้ความสำคัญกับ OSCE ในฐานะที่เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในประเด็นความมั่นคง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นคง (Confidence- and Security-Building Measures: CSBMs) ระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ