ไทยและแอลเบเนียจัดการประชุม Asian Partners for Co-operation Group เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการส่งเสริมบทบาทนำของสตรีในการรับมือโควิด-๑๙

ไทยและแอลเบเนียจัดการประชุม Asian Partners for Co-operation Group เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการส่งเสริมบทบาทนำของสตรีในการรับมือโควิด-๑๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 6,490 view

ไทยและสาธารณรัฐแอลเบเนียร่วมจัดการประชุม Asian Partners for Co-operation Group (APCG) เรื่องการส่งเสริมบทบาทนำของสตรีในการรับมือโควิด-๑๙ โดยมีนางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และพญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (ศบค.) และ สพ.ญ. เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ร่วมแบ่งปันประสบการณ์

เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ประเทศไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชียขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe – OSCE) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asian Partners for Co-operation Group (APCG) ภายใต้หัวข้อ “Empowering Women Leadership during Global Health Emergencies” ร่วมกับสาธารณรัฐแอลเบเนีย โดยมีนางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และมีผู้เชี่ยวชาญไทยสองท่านร่วมบรรยายด้วย ได้แก่ พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ และผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (ศบค.) และ สพ.ญ. เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค การประชุมฯ มีผู้เข้าร่วมระดับเอกอัครราชทูตประจำกรุงเวียนนา หัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่จากประเทศสมาชิก OSCE และประเทศหุ้นส่วนฯ กว่า ๘๐ คน ซึ่งรวมถึงนาง Helga Schmid เลขาธิการ OSCE และผู้แทนจาก UN Women ด้วย

ที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญปัญหาความไม่สมดุลทางเพศในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการรับมือกับผลกระทบของโควิด-๑๙ ต่อระบบสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจโลก โดย WHO ได้ร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และยกระดับบทบาทของสตรีด้านสาธารณสุขในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง

พญ. อภิสมัยฯ ได้แบ่งปันประสบการณ์การทำหน้าที่ผู้รายงานสถานการณ์โควิด-๑๙ ประจำวันภายใต้ ศบค. โดยย้ำถึงศักยภาพของสตรีในการจัดการปัญหาความแปลกแยกทางสังคม การตีตรา และการเลือกประติบัติต่อแรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ผ่านการสื่อสารอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเน้นสร้างความเข้าใจ รวมถึงรับประกันว่าการออกแบบนโยบายจะเป็นไปอย่างครอบคลุมและมีการประสานงานกัน นอกจากนี้ พญ. อภิสมัยฯ ยังได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยยกตัวอย่างบทบาทขององค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (NGO) เช่น สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการส่งเสริมบทบาทของสตรีในมิติด้านการแพทย์และการรับมือกับการแพร่ระบาดฯ

สพ.ญ. เสาวพักตร์ฯ ได้บรรยายเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของสตรีในฐานะผู้ปฏิบัติด่านหน้า โดยยกตัวอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งร้อยละ ๘๐ เป็นสตรีที่เป็นผู้ให้ความรู้ด้านสุขอนามัย สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-๑๙ และแนวทางการป้องกันการติดเชื้อฯ ในชุมชน แม้ว่าการระบุตัวผู้ติดเชื้อในพื้นที่ห่างไกลและการติดตามผู้ติดเชื้อข้ามจังหวัดจะเป็นประเด็นที่มีความท้าทาย แต่การปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่ม อสม. ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของสตรีในการเข้าถึงและเข้าใจบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ระดับชุมชนในภาพรวม

ที่ประชุมฯ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเน้นย้ำความสำคัญของการเสริมพลังสตรีด้านเศรษฐกิจและการทำให้ความเท่าเทียมทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบายในการรับมือกับวิกฤตโควิด-๑๙ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงทางเพศ อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดฯ พร้อมส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุม และตอบสนองต่อความต้องการและข้อจำกัดที่แตกต่างกันของเพศหญิงและชาย

การประชุม APCG เป็นการประชุมระดับเอกอัครราชทูตที่จัดขึ้นเป็นประจำ ๕ ครั้งต่อปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกกับประเทศหุ้นส่วนฯ OSCE ในประเด็นด้านความมั่นคงที่ทุกฝ่ายสนใจร่วมกัน และมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำความสำคัญและบทบาทนำของสตรีในการรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีของไทยในการสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขในช่วงที่ประเทศกำลังประสบการระบาดระลอกใหม่ และในการประชาสัมพันธ์ความสำเร็จด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางสุขภาพเชิงรุกต่อประชาคมโลก ตลอดจนยังสะท้อนให้เห็นว่าการเสริมพลังและบทบาทนำของสตรีในช่วงวิกฤตเป็นประเด็นที่ทั้งประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนฯ OSCE ให้ความสำคัญและพร้อมร่วมมือกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ