“โนรา” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก

“โนรา” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 24,835 view

“โนรา” เป็นพิธีกรรมและศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ผูกพันกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผู้คนในภาคใต้ของประเทศไทย มีเอกลักษณ์เด่นในการร้องและการร่ายรำ ซึ่งสะท้อนมรดกที่สืบทอดต่อกันมาของชาวบ้านรุ่นต่อรุ่น“โนรา” ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะการแสดงอันวิจิตรงดงามที่ควรค่าแก่การเผยแพร่ให้ประชาคมโลกได้รับรู้

เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: ICS-ICH) ครั้งที่ ๑๖ ผ่านการประชุมทางไกลเต็มรูปแบบ มีมติให้ขึ้นทะเบียน “โนรา” หรือ “Nora, Dance Drama in Southern Thailand” ในบัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity – บัญชี RL) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. ๒๐๐๓ (2003 Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก โดย “โนรา” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโกลำดับที่สามของไทย

การขึ้นทะเบียนครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของไทยและถือเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในระดับสากลต่อคุณค่าและความสำคัญของ “โนรา” ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นการแสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคและในประเทศไทยด้วย รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมบทบาทอันแข็งขันของชุมชนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าถึง พัฒนา และสงวนรักษาประเพณีและศิลปะดังกล่าวไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังต่อไป

อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. ๒๐๐๓ ได้รับการรับรองในที่ประชุมสมัยสามัญ (General Conference) ของยูเนสโก เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ และประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๙ โดยอนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนรักษาแนวปฏิบัติการแสดงออกถึงความรู้และทักษะที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage - ICH) ของชุมชนหรือกลุ่มคน โดยต้องการสร้างความเคารพ และความตระหนักถึงความสำคัญของ ICH ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นจนถึงสากล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสงวนรักษา โดย ICH สามารถอยู่ในรูปแบบการแสดงออกทางวาจาและภาษา การแสดงศิลปะ แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีทางศาสนา เทศกาลเฉลิมฉลอง และ/หรืองานฝีมือ

ปัจจุบัน ไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในบัญชี RL แล้ว ๓ รายการ ได้แก่ โขน (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี ๒๕๖๑) นวดไทย (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี ๒๕๖๒) และโนรา (ขึ้นทะเบียนในปี ๒๕๖๔)