กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับ IOM ประเทศไทย จัดการประชุมหารือว่าด้วยการรับรู้ของสาธารณชนต่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ณ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตาก

กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับ IOM ประเทศไทย จัดการประชุมหารือว่าด้วยการรับรู้ของสาธารณชนต่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ณ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตาก

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 พ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 พ.ย. 2567

| 944 view

กระทรวงการต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประเทศไทย ร่วมจัดการประชุมหารือว่าด้วยการรับรู้ของสาธารณชนต่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567ณ จังหวัดจันทบุรี และวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ณ จังหวัดตาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติในการรายงานข่าวที่เสริมสร้างเรื่องเล่าเชิงบวกในประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งนี้ มีผู้แทน จากหน่วยงานด้านความมั่นคงและแรงงานในระดับจังหวัด มูลนิธิ สื่อมวลชนท้องถิ่น และนักวิชาการ เข้าร่วมในการประชุมหารือฯ จำนวน 32 คน (จังหวัดจันทบุรี) และ 27 คน (จังหวัดตาก)

นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ ได้กล่าวเปิดการประชุมหารือฯ ทั้งสองครั้งผ่านบันทึกวิดีทัศน์ โดยเน้นย้ำบทบาทสำคัญของผู้โยกย้ายถิ่นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม บทบาทของสื่อมวลชนที่ช่วยเสริมสร้างทัศนคติและความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในสังคมให้แก่สาธารณชนในประเด็นที่มีความสำคัญต่อสังคม และเศรษฐกิจไทย เช่นประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน ผ่านการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง โปร่งใส และปราศจากอคติ

ในห้วงการประชุมหารือฯ ผู้เข้าร่วมได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะบทบาทของภาครัฐในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารให้แก่สาธารณชนอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน รวมถึงบทบาทของภาคสื่อมวลชนในการรายงานข้อมูลเชิงบวกที่ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวที่อาจก่อให้เกิดทัศนคติเชิงลบจากสังคม ทั้งนี้ ที่ประชุมหารือฯ เห็นพ้องแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศด้วย

การประชุมหารือฯ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การส่งเสริมวาทกรรมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์ และการรายงานของสื่อมวลชนในประเทศไทย” ระยะเวลา 2 ปี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับ IOM ประเทศไทย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ