ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นจัดการประชุม Mekong - Japan SDGs Forum ครั้งที่ ๑

ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นจัดการประชุม Mekong - Japan SDGs Forum ครั้งที่ ๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,806 view
เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ ไทยและญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม Mekong - Japan SDGs Forum ครั้งที่ ๑ ภายใต้หัวข้อ Decisive Decade: Actions and Count Down Toward 2030 โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโส และผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชนของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และญี่ปุ่น เข้าร่วม จำนวนมากกว่า ๑๕๐-๑๗๐ คน ผ่านระบบการประชุมทางไกล
 
นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสไทยในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เป็นประธานและกล่าวเปิดงาน ร่วมกับนาย Takehiro Kano อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำความสำคัญของความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนและสนับสนุนให้ประเทศลุ่มน้ำโขงสามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี ๒๕๗๓ และก้าวข้ามอุปสรรคและความท้าทายในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
 
การประชุมดังกล่าวแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง/หัวข้อย่อย ได้แก่
(๑) ความร่วมมือด้านสาธารณสุข (Towards Partnership for Health) เน้นการหารือเรื่องการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะผ่านการเสริมสร้างสมรรถนะให้บุคลากรด้านสาธารณสุข การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Healthcare Coverage – UHC) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต
 
(๒) การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Towards Sustainable Economic Recovery) เน้นการหารือเรื่องแนวทางต่าง ๆ ในการเสริมสร้างความยืดหยุ่น (resilience) ให้แก่ภาคเศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยวิทยากรกล่าวถึงแผนงานและแนวทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่มุ่งสู่การเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในขณะที่ต้องรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ และความพยายามในการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ รวมทั้งหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ให้ความสำคัญกับความพอเพียง ความมีเหตุมีผลและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับสถานการณ์ความท้าทายในปัจจุบัน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางดิจิทัลในฐานะเครื่องมือในการส่งเสริมการบรรลุ SDGs และช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ รับมือกับสภาวะปกติใหม่ โดยได้กล่าวถึงแนวโน้มการพัฒนาทางดิจิทัล เช่น การชำระเงินดิจิทัล และเงินตราดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งเป็นสาขาความร่วมมือที่ประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นสามารถขยายความร่วมมือระหว่างกันได้ต่อไปในอนาคต
 
(๓) สังคมที่มีการมีส่วนร่วมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Towards Green and Inclusive Society) วิทยากรได้กล่าวถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายประเด็น เช่น ขยะ ขยะพลาสติกและมลภาวะ เป็นต้น และแนวการและวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน พลังงานหมุนเวียน การให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ความร่วมมือระหว่างประเทศ และความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทยและเป็นแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนในยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ
 
อนึ่ง การประชุม Mekong - Japan SDGs Forum เป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเพื่อช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (Mekong - Japan Initiative for SDGs toward 2030) ซึ่งได้รับการรับรองโดยการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๒ เมื่อปี ๒๕๖๒ ที่กรุงเทพฯ โดยที่ประชุมได้รับการยกระดับจากการประชุม Green Mekong Forum ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดร่วมกับญี่ปุ่นมาแล้ว ๖ ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติของ SDGs และให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อการบรรลุ SDGs ภายในปี ๒๕๗๓

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ