กระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมเครือข่ายสำนักนโยบายและแผน สำนักวิเทศสัมพันธ์ และสำนักการต่างประเทศของส่วนราชการไทย ครั้งที่ 1/2563 เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผน “การต่างประเทศ 5S/ 5 มี” ในยุคโควิด-19

กระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมเครือข่ายสำนักนโยบายและแผน สำนักวิเทศสัมพันธ์ และสำนักการต่างประเทศของส่วนราชการไทย ครั้งที่ 1/2563 เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผน “การต่างประเทศ 5S/ 5 มี” ในยุคโควิด-19

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,114 view

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมเครือข่ายสำนักนโยบายและแผน สำนักวิเทศสัมพันธ์ และสำนักการต่างประเทศของส่วนราชการไทย เพื่อผนึกพลังระหว่างทุกส่วนราชการ ในการขับเคลื่อนแผน "การต่างประเทศ 5s/ 5มี" ในยุคโควิด-19 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ชูสถานะประเทศไทยในเวทีโลก และส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพ

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมเครือข่ายสำนักนโยบายและแผน สำนักวิเทศสัมพันธ์ และสำนักการต่างประเทศของส่วนราชการไทย ครั้งที่ 1/2563 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลงานด้านการต่างประเทศของส่วนราชการต่าง ๆ กว่า 30 หน่วยงาน รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานกลาง อาทิ สศช. ก.พ. ก.พ.ร. และ ป.ป.ช. เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมอนันตรา สยาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมสมองผนึกพลังของภาครัฐเป็นทีมประเทศไทยในการขับเคลื่อนการต่างประเทศในสถานการณ์โควิด-19 ให้เป็นทิศทางเดียวกัน เสริมกันและกันอย่างมีพลวัต

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงภาพรวมของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่างประเทศ (พ.ศ. 2561- 2580) หรือ “การต่างประเทศ 5S/ 5มี” ที่มุ่งให้ประเทศไทยและคนไทย “มี” 5 สิ่ง ได้แก่ Security/มีความมั่นคง Sustainability/มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน Standard/มีมาตรฐานสากล Status/มีสถานะและเกียรติภูมิ และ Synergy/มีพลัง ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศได้รับหน้าที่เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการขับเคลื่อนแผนแม่บทนี้

ที่ประชุมได้รับทราบถึงจุดเน้นของการต่างประเทศไทยในช่วงที่บริบทโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในด้านความมั่นคง ไทยจะต้องเสริมสร้างความร่วมมือกับมหาอำนาจอย่างสมดุล กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์อื่น ๆ ในช่วงที่สถานการณ์ระหว่างขั้วมหาอำนาจมีความตึงเครียดมากขึ้น โดยร่วมมือกับอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เข้มแข็ง รวมทั้งดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในกรอบอาเซียนและในกรอบพหุภาคีในการต่อสู้กับโควิด- 19

ในด้านการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จะใช้แนวทางการขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจภูมิภาค และอนุภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือในกรอบลุ่มน้ำโขง ดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงทุนในประเทศไทย ยกระดับการท่องเที่ยวเป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ สร้างความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกับต่างประเทศ

ในด้านมาตรฐานสากล ควรทบทวนปรับปรุงกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ภายในประเทศให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสากล และอนุวัตพันธกรณีระหว่างประเทศ ร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยมีผลการดำเนินการเป็นลำดับที่หนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน

ในด้านการเสริมสร้างสถานะและเกียรติภูมิของไทย ไทยสามารถนำความสำเร็จของไทยด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ไปต่อยอดสร้างความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และเสริมสร้างบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศ ให้ไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นสมาชิกที่รับผิดชอบของประชาคมโลก

ในการดำเนินงานอย่างมีพลัง ส่วนราชการจะต้องบูรณาการการทำงานระหว่างกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ทีมประเทศไทยในต่างประเทศได้ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการดูแลช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด- 19 ร่วมกับหลายภาคส่วนในส่วนกลางอย่างมีประสิทธิภาพ

ในโอกาสนี้ ผู้แทนจาก สศช. ได้แจ้งให้ส่วนราชการทราบถึงการปรับแผนแม่บทเฉพาะกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในช่วงปี 2564-2565 ให้รองรับการขับเคลื่อนประเทศไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ