การประชุมหุ้นส่วนการเมืองไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๙

การประชุมหุ้นส่วนการเมืองไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ก.ค. 2567

| 1,749 view

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๗ นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมหุ้นส่วนการเมืองไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Political Partnership Consultations: JTPPC) ครั้งที่ ๙ ร่วมกับนายฟูนาโกชิ ทาเกฮิโระ (Funakoshi Takehiro) รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ที่ห้องประชุม ๓ กระทรวงการต่างประเทศ

ในที่ประชุมทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระดับประชาชนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ตลอดจนสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค และมุมมองเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ที่กำลังจะเข้าสู่การเฉลิมฉลอง ๑๔๐ ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในปี ๒๕๗๐

ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายทบทวนความร่วมมือภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น ระยะ ๕ ปี (๒๕๖๕-๒๕๖๙) ซึ่งได้สร้างประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในด้านการค้า การลงทุน การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน การศึกษาและแรงงาน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรสำหรับภาคอุตสาหกรรมผ่านระบบโคเซ็น (KOSEN) โดยทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้มีการหารือเพิ่มเติมในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูง (High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ ๖ ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นยังย้ำว่าสนับสนุนไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย เนื่องจากจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ฝ่ายไทยและญี่ปุ่นยังเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวและสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับประโยชน์จากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้ รับทราบถึงผลกระทบจากการเข้าเมืองและพำนักเกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องการเร่งแก้ไข

ในด้านการเมืองและความมั่นคง ฝ่ายไทยกับญี่ปุ่นได้หารือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การเสริมสร้างความร่วมมือทางการเมือง การทหารและความมั่นคงเพื่อรับมือกับความท้าทายรูปแบบต่าง ๆ และร่วมกันสร้างสันติภาพและความมั่นคงที่ยั่งยืนในภูมิภาค อาทิ ในเมียนมา ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นได้แสดงความชื่นชมข้อริเริ่มของไทยในการมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมาตามแนวชายแดน และย้ำความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อสันติภาพในเมียนมาต่อไป

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดทำสนธิสัญญาและความตกลง เพื่อเสริมสร้างกลไกความร่วมมือในทางอาญาและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคมของทั้งสองประเทศอีกด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ