แถลงการณ์ร่วมของการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔

แถลงการณ์ร่วมของการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ก.ค. 2565

| 1,937 view

 

คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ

แถลงการณ์ร่วมของการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔

 

๑. การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ ณ กรุงลอนดอน โดยมีนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรไทย และนางอะแมนดา มิลลิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ด้านเอเชีย) สหราชอาณาจักร เป็นประธานร่วมไทยและ
สหราชอาณาจักรตระหนักว่า แถลงการณ์ร่วมนี้ใช้อ้างอิงถึงข้อริเริ่มกลไกการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย -สหราชอาณาจักร และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย


ด้านความร่วมมือทวิภาคี

๒. ไทยและสหราชอาณาจักรเน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ยาวนาน และการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔ เป็นการสานต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ ความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองฝ่ายครอบคลุมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ความร่วมมือด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
ความร่วมมือด้านการกลาโหมและความมั่นคง สาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเติบโตอย่างยั่งยืน

๓. ไทยและสหราชอาณาจักรตระหนักถึงความร่วมมือระหว่างกันทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ซึ่งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  บนพื้นฐานของนโยบายโน้มเอียงสู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
(Indo-Pacific Tilt)และการได้รับสถานะคู่เจรจาของอาเซียน (ASEAN Dialogue Partner) ของสหราชอาณาจักร ในปีพ.ศ. ๒๕๖๔ ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนการเยือนของรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของเป้าประสงค์ที่มีร่วมกัน ฝ่ายไทยแสดงความสนใจที่จะหารือเรื่องความเป็นไปได้ในการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตระหว่างทั้งสองประเทศ

๔. ไทยและสหราชอาณาจักรรับทราบว่า การหารือในครั้งนี้เป็นกลไกที่ส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญในด้านอื่น ๆ รวมถึง คณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร การประชุมหารือด้านการกงสุล บันทึกความเข้าใจ และหนังสือแสดงเจตจำนงกับหน่วยงานหลักต่าง ๆ รวมทั้งการเยือนในระดับรัฐมนตรี และการเยือนทางการ ทั้งสองฝ่ายได้รับทราบและเฉลิมฉลองความร่วมมือที่ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น ในระดับประชาชน
ภาคธุรกิจ สมาชิกรัฐสภา นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่าง ๆ

 

นโยบายต่างประเทศ

๕. ไทยและสหราชอาณาจักรยึดมั่นที่จะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นผ่านเวทีพหุภาคี ซึ่งรวมถึงองค์การสหประชาชาติและภายใต้กรอบของอาเซียน ครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนในการส่งเสริมระบบระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนกฎระเบียบสากล ความมั่นคงทางทะเล การป้องกันความขัดแย้ง การลดอาวุธและไม่แพร่ขยายอาวุธ (นิวเคลียร์) พฤติกรรมที่รับผิดชอบของภาครัฐในพื้นที่ไซเบอร์ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เสรีภาพสื่อ การค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนผิดกฎหมาย ความเสมอภาคทางเพศ สันติภาพและความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม

๖. ในบริบทของสถานการณ์ความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในยูเครน ไทยและสหราชอาณาจักรยึดมั่นการเคารพในหลักการอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งสองฝ่ายแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรม และความโหดร้าย ตลอดจนผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความขัดแย้งดังกล่าวที่ได้ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ไทยและสหราชอาณาจักรเน้นย้ำความจำเป็นที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องจัดการกับความทุกข์ยากและความเจ็บปวดของทุกผู้คนที่ได้รับผลกระทบ

 

ประเด็นระดับโลก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การเติบโตอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสาธารณสุข

๗. โดยตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปกป้องโลกของเรา และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อต่อสู้กับความท้าทายเร่งด่วนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน ๑.๕ องศาเซลเซียส และทั้งสองฝ่ายจะกระชับความร่วมมือและการหารือเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงใน การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ ๒๖ (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ โดยสหราชอาณาจักรจะสนับสนุนไทยในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปีพ.ศ. ๒๕๙๓ (ค.ศ. ๒๐๕๐) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี พ.ศ. ๒๖๐๘ (ค.ศ. ๒๐๖๕) โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ ๔๐ เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซในช่วงการดำเนินการตามปกติ (Business as Usual) ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ (ค.ศ. ๒๐๓๐) โดยการสนับสนุนจากนานาชาติ

๘. ไทยและสหราชอาณาจักรรับทราบถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิดและหยั่งรากลึกระหว่างกันในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานคาร์บอนต่ำ ยานยนต์ไฟฟ้า การเงินเพื่อความยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน และความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ รวมทั้งวางแผนที่จะสำรวจความร่วมมือเพิ่มเติมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฝ่ายไทยรับทราบความสนใจของสหราชอาณาจักรที่จะดำเนินโครงการ “หุ้นส่วนด้านการลงทุนบริติช” (British Investment Partnerships) ในประเทศไทย

๙. ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญเชิงกว้างและเชิงยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ด้านสาธารณสุขและความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการที่สหราชอาณาจักรบริจาควัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ AstraZeneca จำนวน ๔๑๕,๐๔๐ โดส ให้แก่ไทย ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ หลังจากที่บริษัท AstraZeneca และบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้ตกลงเป็นหุ้นส่วนในการจัดตั้งศูนย์กลางการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ของ Oxford/AstraZeneca ในภูมิภาค ไทยและสหราชอาณาจักรให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันพัฒนาข้อเสนอการจัดทำตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยโรคระบาดผ่านกลไกการเจรจาระหว่างรัฐ (Intergovernmental Negotiating Body) ภายใต้องค์การอนามัยโลก ซึ่งไทยเป็นรองประธาน

๑๐. ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการรับประกัน การเข้าถึงและความสามารถในการชำระค่าบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นในช่วงของการรับมือกับโรคโควิด-๑๙ นอกเหนือจากสถานการณ์โรคระบาดแล้ว ไทยและสหราชอาณาจักรยินดีที่จะมีความร่วมมือด้านสาธารณสุข ในสาขาต่าง ๆ รวมถึง
การดื้อยาของเชื้อโรค โรคติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สุขภาพดิจิทัล เครื่องมือทางการแพทย์ เทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุในสถานที่ การพัฒนาวิชาชีพ การรับรองคุณภาพโรงพยาบาล และจีโนมิกส์ ไทยและสหราชอาณาจักรรับทราบว่า ปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร พร้อมมีแผนการขยายความร่วมมือเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับความท้าทายที่โดดเด่นที่สุดด้านการดูแลสุขภาพ ชีววิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในสาขาจีโนมิกส์

 

ความร่วมมือด้านไซเบอร์ ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

๑๑. ไทยและสหราชอาณาจักรตระหนักถึงวิสัยทัศน์ร่วมในการแสวงหาประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัลในการยกระดับความเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มพูนการค้าระหว่างกัน ในขณะที่ต้องรับมือกับความท้าทายเกี่ยวกับความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางดิจิทัล ทั้งสองฝ่ายรับทราบถึงความร่วมมือระยะยาวในสาขาดิจิทัล ซึ่งรวมถึง
การทำงานร่วมกันในประเด็นรัฐบาลดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ การค้าไร้กระดาษ (paperless trade) การจัดซื้อทางอิเล็กทรอนิกส์ การยืนยันตัวตนดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบบล็อกเชน สำหรับบริการการเงินเพื่อการค้า การค้าพลังงาน และทรัพย์สินทางปัญญา

๑๒. นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีความปรารถนาร่วมกันที่จะแสวงหาโอกาสสำหรับความร่วมมือในอนาคตระหว่างภาครัฐและเอกชนในสาขาต่าง ๆ เช่น ดิจิทัลสตาร์ทอัพ การค้าดิจิทัลและการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มาตรฐานและกฎระเบียบด้านการค้าดิจิทัล การกำกับดูแลด้านดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงยินดีต่อ
การลงนามหนังสือแสดงเจตจํานงระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย และกระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อ และการกีฬา สหราชอาณาจักร

๑๓. ไทยและสหราชอาณาจักรรับทราบเรื่องการเยือนไทยของผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ของสหราชอาณาจักร เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นผลจากการหารือระหว่าง
นางเอลิซาเบธ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร และ พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ทั้งสองฝ่ายรับทราบการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนที่สำคัญของหน่วยงานไทยในระหว่างการเยือนไทยดังกล่าว และยินดีต่อข้อเสนอแนะต่างๆ ที่สหราชอาณาจักรจะสนับสนุนไทยได้ในอนาคต ทั้งสองฝ่ายรับทราบว่า ในขณะนี้มีการหารืออย่างต่อเนื่องเพื่อปรับรายละเอียดข้อเสนอของสหราชอาณาจักร และเพื่อให้สามารถบรรลุจุดประสงค์ทางไซเบอร์ของไทย

๑๔. ไทยและสหราชอาณาจักรตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STI) ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และในการจัดการกับ
ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและความท้าทายภายในประเทศ อีกทั้งรับทราบว่า STI เป็นองค์ประกอบสำคัญของการเปลี่ยนผ่านที่ยั่งยืน การแสวงหาความเป็นกลางทางคาร์บอน และกาปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสถาบันวิจัย ภาคเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาของไทยและสหราชอาณาจักร เพื่อการแลกเปลี่ยนและพัฒนาขีดความสามารถด้าน STI รวมถึงสำรวจความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ ซึ่งในการนี้ ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญยิ่งของกองทุนวิจัยนิวตัน (Newton Fund)

 

วัฒนธรรม และการเชื่อมโยงในระดับประชาชน

๑๕. ไทยและสหราชอาณาจักรยึดมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนผ่านการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านศิลปะอย่างครอบคลุม โดยเน้นประเด็นสำคัญ อาทิ เขตและเมืองสร้างสรรค์ มรดกทางวัฒนธรรมสำหรับการเติบโตอย่างครอบคลุม ศิลปะ รวมถึงนวัตกรรมดิจิทัลในศิลปะ ตลอดจนผู้ประกอบการด้านศิลปะ ทั้งสองฝ่ายเฉลิมฉลองความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่สำคัญของไทยและสหราชอาณาจักร โดยคำนึงถึงว่า ภาคส่วนด้านวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์จะสร้างอิทธิพลต่อเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม ในสังคมในวงกว้างได้

 

ความร่วมมือด้านการวิจัยและการศึกษา

๑๖. ไทยและสหราชอาณาจักรตระหนักถึงความสัมพันธ์
ด้านการศึกษาวิจัยที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน โดยเฉพาะในภาคอุดมศึกษา ทั้งสองประเทศมุ่งส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านการอุดมศึกษาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยมุ่งเน้นคุณภาพ ความครอบคลุม และความเป็นสากล ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการวิจัยและความสามารถพิเศษระหว่างกัน และรับทราบถึงบทบาทที่สำคัญของทุนการศึกษา Chevening ซึ่งผลิตและสนับสนุนผู้นำในอนาคตของไทย และโครงการ Turing Scheme จะสนับสนุนให้นักเรียนของสหราชอาณาจักรได้มีการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาในไทย ไทยและสหราชอาณาจักรตกลงที่จะปรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันอย่างดีที่สุดระหว่างภาคการศึกษาและวิจัยของทั้งสองประเทศ เพื่อให้สร้างแรงงานทักษะในอนาคตที่ตอบสนองต่อโลกาภิวัตน์ ซึ่งรวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งในระบบการเรียนการสอน และการประเมินภาษาอังกฤษในทุกระดับ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีด้านการศึกษา

 

ความร่วมมือภายในอาเซียน

๑๗. ไทยและสหราชอาณาจักรมุ่งมั่นที่จะขยายความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ไทยยินดีต่อนโยบายการโน้มเอียงสู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของสหราชอาณาจักร และความมุ่งมั่นชัดเจนซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นหุ้นส่วนของสหราชอาณาจักรกับประเทศในภูมิภาคทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะประสานงานอย่างใกล้ชิดผ่านเวทีระดับพหุภาคีในภูมิภาค รวมถึงอาเซียน โดยปัจจุบัน สหราชอาณาจักรมีสถานะเป็นคู่เจรจาของอาเซียนแล้ว ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะกระชับความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร - อาเซียน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือตามสามเสาหลักของอาเซียน ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ ไทยและสหราชอาณาจักรจะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในระดับภูมิภาคที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน อาทิ บทบาทของวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมใน
การพัฒนาระดับภูมิภาค

๑๘. โดยตระหนักถึงบทบาทเชิงบวกและสร้างสรรค์ของอาเซียนในเมียนมา ไทยและสหราชอาณาจักรยินดีที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนฉันทามติห้าข้อ (Five Point Consensus) และยืนยันที่จะสนับสนุนการทำงานของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนว่าด้วยเรื่องเมียนมา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต่อความจำเป็นในการดำเนินการตามฉันทามติห้าข้ออย่างทันท่วงทีและครบถ้วนเพื่อไม่ให้วิกฤตขยายตัว และรับทราบถึงบทบาทของศูนย์ประสานงานอาเซียน เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) ในการตอบสนองต่อวิกฤต โดยไทยและสหราชอาณาจักรจะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และตระหนักถึงความสำคัญของการนำส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีประสิทธิภาพและเป็นกลางไปยังผู้คนในเมียนมาที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไทยและสหราชอาณาจักรยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมามีส่วนร่วมในการเจรจาอย่างสันติ ละเว้นจากความรุนแรงและกลับสู่เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

 

สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

๑๙. ไทยและสหราชอาณาจักรมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันทั้งในเวทีระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึง
การดำเนินการตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคีอยู่ และตามข้อเสนอแนะที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกันก่อนหน้านี้ในระหว่างการดำเนินกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ไทยและสหราชอาณาจักรยังมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อขยายความร่วมมือกับประเทศที่มีความสนใจ ผ่านความร่วมมือทางวิชาการและการเสริมสร้างขีดความสามารถ

๒๐. ไทยและสหราชอาณาจักรตระหนักดีว่า หลักธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม เสรีภาพของสื่อ และพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างและมีชีวิตชีวา ซึ่งเป็นหลักประกันของเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ล้วนแต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและประชาธิปไตย ทั้งสองฝ่ายรับทราบถึงความสำคัญของสังคมเสรี และจะสานต่อการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุน
ความพยายามในการเสริมสร้างเสรีภาพ หลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และหลักนิติธรรม ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ

 

การค้า การลงทุน เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

๒๑. ไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหราชอาณาจักร และทั้งสองประเทศตระหนักถึงความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าระหว่างกันที่ยาวนาน โดยหลังจากกระบวนการทบทวนทางการค้าร่วม (Joint Trade Review) เมื่อปีที่แล้ว ทั้งสองประเทศได้จัดตั้งและจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่า การประชุม JETCO เปิดโอกาสใหม่ที่สำคัญในการยกระดับการค้าทวิภาคี และแสวงหาการค้าและการลงทุนที่เปิดเสรีมากขึ้น ผ่านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับโลกและระดับภูมิภาค

๒๒. ภายใต้กรอบ JETCO ไทยและสหราชอาณาจักรได้ตกลงที่จะร่วมมือกันเพื่อเสาะหาและจัดการกับอุปสรรคทางการค้า และแสวงหาลู่ทางความร่วมมือด้านเกษตรกรรม อาหารและเครื่องดื่ม ดิจิทัล สุขภาพ การเงิน และภาคส่วนอื่น ๆ ในทั้งสองประเทศ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีทางการค้า ทั้งสองฝ่ายยังเน้นย้ำความสำคัญของ
การพัฒนาความร่วมมือแบบธุรกิจต่อธุรกิจ และการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการค้าในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ในการนี้ ทั้งสองประเทศยินดีต่อการจัดประชุมโต๊ะกลมทางธุรกิจที่จัดขึ้นในช่วงการประชุม JETCO เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ โดยตระหนักถึงโอกาสที่จะเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะเริ่มการหารือเพื่อการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าระดับสูง (Enhanced Trade Partnership หรือ ETP) ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร และยังช่วยวางรากฐานสำหรับการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันในอนาคต

๒๓. ไทยและสหราชอาณาจักรรับทราบถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันที่ยาวนาน ซึ่งมุ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐบาล ความคุ้มค่า และความโปร่งใสใน
การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ทั้งสองฝ่ายรับทราบแผนการทบทวนและพัฒนาความร่วมมือในบริบทของความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักรในในฐานะคู่เจรจาของอาเซียน

๒๔. ไทยและสหราชอาณาจักรตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านการบริการทางการเงิน โดยสหราชอาณาจักรร่วมมือกับหน่วยงานด้านการเงินของไทย
เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศและกฎระเบียบของเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) รวมทั้งสนับสนุนข้อริเริ่มการเงินที่ยั่งยืนของไทย (Sustainable Finance Initiatives) โดยคำนึงถึงผลกระทบที่สำคัญยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งสองฝ่ายรับทราบแผนการขยายความร่วมมือทางวิชาการในสาขาดังกล่าวให้มากขึ้นในอนาคตผ่านบันทึกความเข้าใจกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนแผนการเยือนสหราชอาณาจักรโดยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต

 

การป้องกันประเทศ ความมั่นคง และการก่ออาชญากรรมร้ายแรง

๒๕. ไทยและสหราชอาณาจักรแสดงความตั้งใจที่จะเป็นผู้นำในประเด็นระดับโลกเพื่อส่งเสริมสันติภาพความมั่นคง และเสถียรภาพ โดยตระหนักถึงความสำคัญของเวทีพหุภาคีในการสนับสนุนความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างรัฐเพื่อบรรลุความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นไปโดยสันติ สหราชอาณาจักรเคารพต่อ “ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN Centrality)” และ “มุมมองของอาเซียนต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific)” ทั้งสองประเทศมุ่งหวังที่จะกระชับความร่วมมือด้าน
การป้องกันประเทศ โดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์ เวชศาสตร์ทหาร และการรักษาสันติภาพ บนพื้นฐานของการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกันเมื่อเดือนมีนาคม การมีส่วนร่วมด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งรวมถึงการเยือนระดับสูง และการริเริ่มการประชุมทวิภาคีประจำปี จะขยายความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกันอย่างฉันมิตร และจะนำไปสู่ความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคต

๒๖. ทั้งสองฝ่ายรับทราบว่า ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดอย่างยิ่งสำหรับชาวบริติชทั้งในฐานะนักท่องเที่ยวและผู้พำนักระยะยาว แต่เมื่อภัยคุกคามจาก
การก่อการร้ายยังคงแพร่หลายทั่วโลก การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร [ระหว่างการหารือ] จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในการป้องกัน และลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศจึงจะมุ่งเน้นไปที่การแบ่งปันองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในด้านการท่องเที่ยว ความมั่นคง และการตอบสนองด้านความมั่นคงต่อเหตุการณ์สำคัญ ทั้งสองฝ่ายหวังว่าจะร่วมมืออย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดต่อไป

๒๗. ไทยและสหราชอาณาจักรรับทราบถึงความร่วมมือที่สำคัญระหว่างผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ด้าน      ความมั่นคงทางทะเลของทั้งสองประเทศ เพื่อปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยของท่าเรือพาณิชย์หลัก    ของไทย ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสานต่อการดำเนินการร่วมกันในการประเมินระบบการรักษาความปลอดภัย  ของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ (International Ship and Port Facility Security: ISPS) ณ ท่าเรือพาณิชย์หลักของไทย รวมถึงกิจกรรมด้านการพัฒนาขีดความสามารถ ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อ
การเยือนสหราชอาณาจักรของคณะเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงทางทะเลของไทยในช่วงหลังของปี ๒๕๖๕ ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยหลักเกณฑ์การรักษาความปลอดภัยของระบบเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ

๒๘. ไทยและสหราชอาณาจักรรับทราบว่า หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ยาวนาน โดยมุ่งเน้นการปราบปรามการก่ออาชญากรรมร้ายแรงหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการรวบรวมและการเผยแพร่ข่าวกรองอย่างถูกกฎหมาย การติดตามผู้ลี้ภัย การสอบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศ การต่อต้าน/ขัดขวางการใช้แรงงานทาส การจัดการกับการค้ามนุษย์และการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติผ่านทางอากาศและเส้นทางที่ถูกกฎหมาย โดยไทยและสหราชอาณาจักรมุ่งหวังที่จะกระชับความร่วมมือให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

การกงสุล

๒๙. ไทยและสหราชอาณาจักรจะแสวงหาโอกาสสำหรับการหารือด้านการกงสุลในอนาคตอันใกล้ ซึ่งการหารือนี้จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมด้านกงสุลของทั้งสองประเทศ และ
ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน โดยตระหนักว่าไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการพักผ่อนของนักท่องเที่ยวชาวบริติช และสหราชอาณาจักรยังเป็นจุดหมายปลายทางลำดับต้นของนักเดินทางชาวไทย โดยเฉพาะนักศึกษาและนักวิจัยของไทย ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและผู้พำนักชาวต่างชาติในทั้งสองประเทศ และเพื่อส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างกัน

 

การหารือเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ ๕

๓๐. นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศของไทย และนางอะแมนดา มิลลิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา
(ด้านเอเชีย) สหราชอาณาจักร มุ่งหวังที่จะสานต่อการหารือเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีที่สำคัญต่อการกระชับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร ทั้งสองฝ่ายตกลงว่า การหารือเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ ๕ จะมีขึ้น ณ กรุงเทพมหานครในเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก

 

จบ