ถ้อยแถลงข่าวร่วม การประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 7 ระหว่างนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกับนายกรัฐมนตรี 

ถ้อยแถลงข่าวร่วม การประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 7 ระหว่างนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกับนายกรัฐมนตรี 

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ธ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 ธ.ค. 2567

| 2,595 view

ถ้อยแถลงข่าวร่วม

การประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 7

ระหว่างนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกับนายกรัฐมนตรี 

วันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ เมืองปูตราจายา มาเลเซีย

 

* * * * *

 

1. การประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 7 ระหว่าง ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ เมืองปูตราจายา ประเทศมาเลเซีย ภายหลังจากการประชุมประจำปีครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ในปี 2559 การประชุมครั้งนี้มีขึ้นพร้อมกับการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2567

2. การประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 7 จัดขึ้นในบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นมิตร นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้แสดงความยินดีต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 31 และแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เข้มแข็ง ผู้นำทั้งสองต่างพอใจกับความสัมพันธ์เพื่อนบ้านที่ยาวนานและความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างมาเลเซียและไทย พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันและแสวงหาความเป็นหุ้นส่วนที่มีศักยภาพใหม่ ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและในกรอบอาเซียน เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศและภูมิภาค

 

ภาพรวมความสัมพันธ์มาเลเซีย-ไทย

3. นายกรัฐมนตรีทั้งสองแสดงความพอใจกับการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงบ่อยครั้ง นับตั้งแต่การประชุมประจำปีครั้งที่ 6 ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีและการทำงานร่วมกันของทั้งสองประเทศ การเยือนที่สำคัญ ได้แก่ การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 9 - 10 กุมภาพันธ์ 2566 ของดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย การลงพื้นที่ด่านสะเดา ประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ของนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ การเยือนมาเลเซียระหว่างวันที่ 11 - 12 ตุลาคม 2566 ของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีไทย การเยือนด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และด่านรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ร่วมกันของนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 และการเยือนมาเลเซียของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 3 - 4 กรกฎาคม 2567 เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ครั้งที่ 3 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

4. ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation : JC) ครั้งที่ 15 และ การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Joint Development Strategy for Border Areas : JDS) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 6 ระหว่างไทยและมาเลเซีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดียวกับการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 5 - 6 สิงหาคม 2567 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองได้ติดตามความคืบหน้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่การประชุม JC และ JDS ครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2565 ซึ่งได้กำหนดแนวทางและขับเคลื่อนการเตรียมการสำหรับการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 7 

5. ผู้นำทั้งสองได้ร่วมหารือถึงความคืบหน้าอย่างยิ่งของความร่วมมือทวิภาคี ซึ่งครอบคลุมหลายภาคส่วน อาทิ การค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน ความมั่นคง การศึกษา เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำถึงประสิทธิภาพของกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ เช่น JC JDS JTC รวมไปถึงคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee : GBC) และคณะกรรมการระดับสูง (High-Level Committee : HLC) ในการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี พร้อมทั้งแสดงความมุ่งมั่นที่จะเร่งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซีย 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงการค้าชายแดน (2) ด้านการท่องเที่ยว (3) ด้านความมั่นคง และ (4) ด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความร่วมมือด้านฮาลาล

 

ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง

6. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความพยายามในการบริหารจัดการชายแดนและความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงการค้ามนุษย์ การลักลอบขนมนุษย์เข้าเมือง อาชญากรรมทางไซเบอร์ การก่อการร้ายระหว่างประเทศ และแนวคิดสุดโต่ง ผ่านการแบ่งปันข้อมูลและข่าวกรอง การส่งเสริมความเป็นสายกลาง (Moderation) และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการสลายการบ่มเพาะความรุนแรง (Deradicalisation) ผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลบริเวณเขตแดนทางทะเลของทั้งสองประเทศที่มีอยู่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายยังได้ประกาศที่จะเสริมสร้างความร่วมมือและการประสานงาน โดยเฉพาะระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและการจัดการประเด็นชายแดน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการหลอกลวงทำงานทางออนไลน์ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ รวมถึงป้องกันไม่ให้เหยื่อผู้รอดพ้นถูกดึงกลับเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ซ้ำอีกจนนำมาสู่การถูกบังคับให้กระทำความผิดทางอาญา (forced criminality)

7. ผู้นำทั้งสองรับทราบถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านกลาโหมและความมั่นคงระหว่างมาเลเซียกับไทย ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการจัดการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ครั้งที่ 55 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 การจัดประชุมคณะกรรมการระดับสูง (HLC) ครั้งที่ 38 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 และการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC) ครั้งที่ 115 ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและกลาโหมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนและการฝึกร่วมอย่างสม่ำเสมอ ไทยยังจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม GBC ครั้งที่ 56 ในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งจะเป็นเวทีในการรับรองรายงานความคืบหน้าจาก HLC และ RBC

8. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังได้หารือเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดในประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทั้งสองฝ่ายชื่นชมความก้าวหน้าเชิงบวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งมุ่งสู่การบรรลุสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนในพื้นที่ดังกล่าว นายกรัฐมนตรีไทยแสดงความขอบคุณต่อมาเลเซียสำหรับบทบาทที่จริงใจและสร้างสรรค์ในการอำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมหาวิธีแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นไปที่วิธีแก้ปัญหาอย่างสันติและครอบคลุม ในขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายได้ยินดีกับดาตุ๊ก โมฮัมหมัด ราบิน บิน บาซีร์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567

9. ผู้นำทั้งสองยินดีกับความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Join Comprehensive Plan towards Peace : JCPP) ในฐานะแผนงานเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อสันติสุข และตระหนักว่า พัฒนาการของการจัดทำ JCPP สะท้อนถึงความไว้วางใจและความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้ทุกฝ่ายดำเนินการเจรจาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อกัน

10. ผู้นำทั้งสองประณามเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรียกร้องอย่างแข็งขันให้ยุติการกระทำที่รุนแรง  ผู้นำเห็นพ้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อยอดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการดำเนินความร่วมมือภายใต้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา อีกทั้ง ยังส่งเสริมโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถและมุ่งสร้างความเชื่อมั่นเพื่อนำไปสู่สันติสุขที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

11. นายกรัฐมนตรีทั้งสองแสดงความยินดีกับการเติบโตทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงสัดส่วนของการค้าชายแดนที่มีส่วนสำคัญต่อการค้าในภาพรวมทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความสำเร็จของการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570 โดยประเทศไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ครั้งที่ 4 ตามวันเวลาที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน

12. ผู้นำทั้งสองตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภาคเอกชนของมาเลเซียและไทยในการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ นายกรัฐมนตรีทั้งสองสนับสนุนต่อความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสร้างโอกาสในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยางพาราและอุตสาหกรรมฮาลาล

13. ผู้นำทั้งสองเน้นย้ำถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล และสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสวงหาแนวทางกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้ประโยชน์จากบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency : DEPA) ของไทย และ Malaysia Digital Economy Corporation (MDEC) ของมาเลเซีย ซึ่งได้ลงนามเมื่อปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดึงดูดนักลงทุนอิสระผู้มีเงินลงทุนสูง (Angel Investors) ในการสนับสนุนบริษัททางด้านเทคโนโลยีที่มีมีศักยภาพในทั้งสองประเทศ

14. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีกับความพยายามที่ผ่านมาในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวระหว่างมาเลเซียกับไทย ตลอดจนในระดับภูมิภาค ในการนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีที่เจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อเสนอ “Six Countries, One Destination” ของประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะศึกษาการจัดทำโครงการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวร่วมกัน เพื่อสนับสนุนข้อริเริ่ม Visit Malaysia ค.ศ. 2026 และข้อริเริ่ม Amazing Thailand Grand Tourism Year ค.ศ. 2025 รวมถึงจะสนับสนุนโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกันและกันด้วย

15. ตามที่ภาคเศรษฐกิจฮาลาลทั่วโลกอาจมีแนวโน้มที่จะเติบโตถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2030 ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะพัฒนาความส่งเสริมซึ่งกันและกันของอุตสาหกรรมฮาลาลระหว่างทั้งสองประเทศผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมไปถึงการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีและความรู้ด้านธุรกิจ และการส่งเสริมความร่วมมือที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นระหว่างภาคเอกชนของมาเลเซียกับไทย มาเลเซียยังพร้อมที่จะช่วยเหลือไทยในการพัฒนาระบบนิเวศฮาลาลภายในประเทศ ผ่านหลักสูตรภายใต้กรอบความร่วมมือด้านเทคนิคของมาเลเซีย (MTCP) ซึ่งข้อริเร่มนี้จะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรฐานและการปฏิบัติทางฮาลาลอันจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมฮาลาล

16. ผู้นำทั้งสองยินดีกับการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างคณะกรรมการการยางแห่งมาเลเซีย (Malaysian Rubber Board) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งจะปูทางไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างมาเลเซียและไทยในความพยายามร่วมกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องให้หน่วยงานทั้งสองร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นในด้านการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี รวมถึงการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางใน
อนุภูมิภาค IMT-GT ระหว่างหน่วยงาน Northern Corridor Implementation Authority (NCIA) ของมาเลเซีย การยางแห่งประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565

 

ความร่วมมือด้านชายแดน

17. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านชายแดนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงบริเวณชายแดน ในการนี้ ผู้นำทั้งสองแสดงความยินดีกับผลการประชุมคณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนร่วมระหว่างไทย - มาเลเซีย (Joint Thailand - Malaysia Land Boundary Committee - LBC) ครั้งที่ 25 ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2561 ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อสร้างและบำรุงรักษารั้วเดี่ยวบนเส้นเขตแดนที่บ้านด่านนอก/บูกิตกายูฮิตัม

18. ทั้งสองฝ่ายยังยินดีกับการจัดประชุมคณะอนุกรรมการเทคนิคร่วมว่าด้วยการสำรวจและกำหนดเขตแดนทางบกไทย-มาเลเซีย (Joint Technical Committee : JTC) ครั้งที่ 49 ที่จัดขึ้น ณ เมืองยะโฮร์บาห์รู มาเลเซีย ระหว่างวันที่ 29 - 31 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นการประชุม JTC ครั้งแรกในรอบ 6 ปี ผู้นำทั้งสองยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ยังคั่งค้าง รวมถึงการหาข้อสรุปของประเด็นคั่งค้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการของกรอบ LBC และเรียกร้องให้จัดการประขุม LBC ครั้งที่ 26 ในช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศยังให้ความสำคัญต่อการเร่งรัดการจัดทำบันทึกความเข้าใจ/ความตกลงว่าด้วยการรับรองผลการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนแบบคงที่ตามแม่น้ำโก-ลก (พื้นที่เร่งด่วน 8)

19. ที่ประชุมกล่าวถึงการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและไทยในระหว่างการเยือน อ. สุไหงโก-ลก จ. นราธิวาส และเมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ร่วมกันของนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 โดยผู้นำทั้งสองเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการเร่งรัดความร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยของลุ่มแม่น้ำโก-ลก โดยผู้นำทั้งสองได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงเทคนิคเพื่อให้สามารถบำรุงรักษาแม่น้ำสุไหงโก-ลก

20. ผู้นำทั้งสองยินดีต่อความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณชายแดนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งมาเลเซียและไทยทำงานร่วมกันเพื่อให้โครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงตามเวลาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของด่านบูกิตกายูฮิตัม-ด่านศุลกากรสะเดา ซึ่งเป็นประตูที่ใหญ่ที่สุดทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการขนส่งที่สำคัญระหว่างมาเลเซียกับไทย นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการก่อสร้างเส้นทางถนนเชื่อมต่อด่านบูกิตกายูฮิตัม-ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่ได้ตั้งไว้ของทั้งสองฝ่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดนให้ดียิ่งขึ้น

21. นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศยินดีต่อความคืบหน้าของก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก เนื่องจากสะพานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของทั้งสองประเทศ โดยผู้นำทั้งสองได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มกระบวนการก่อสร้างเพื่อให้เสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาสแรกของปี 2570 ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ผู้นำทั้งสองยังมุ่งหวังให้มีการลงนามความตกลงก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 ระหว่างกระทรวงโยธาธิการของมาเลเซียและกระทรวงคมนาคมของไทยในโอกาสแรก อันจะเป็นแรงผลักดันต่อความสำเร็จของโครงการดังกล่าว

22. นายกรัฐมนตรีทั้งสองส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อแสวงหาความร่วมมือที่เป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Border Economic Zones : SBEZs) ระหว่างมาเลเซียกับไทย โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดะห์ เขตอุตสาหกรรม Chuping Valley รัฐเประ และ Pasir Mas Halal Park รัฐกลันตัน ของมาเลเซีย กับเขตเศรษฐกิจพิเศษในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา และเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.นราธิวาส ของไทย โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในพื้นที่ชายแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

23. นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศพึงพอใจต่อความร่วมมือที่ดำเนินอยู่ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thai Joint Development Area : MTJDA) ซึ่งช่วยคงความมั่นคงของอุปทานก๊าซธรรมชาติไปยังมาเลเซียและไทยและช่วยส่งเสริมความกินดีอยู่ดีผ่านโอกาสด้านแรงงานและการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น ไทยยังขอบคุณมาเลเซียต่อความช่วยเหลือในช่วงการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในปี 2566 ซึ่งช่วยให้ไทยสามารถคงความมั่นคงทางด้านพลังงานได้

24. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันที่จะสนับสนุนความร่วมมือและข้อริเริ่มด้านพลังงานที่มีอยู่ ซึ่งเป็นแก่นของวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะสร้างอนาคตด้านพลังงานที่บูรณาการ ยั่งยืน และมั่นคงยิ่งขึ้นสำหรับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงข้อริเริ่มโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid Initiative)

25. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันความคืบหน้าในการบูรณาการรถไฟรางคู่ระหว่างอิโปห์-ปาดังเบซาร์ และปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ รวมทั้งการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับความปรารถนาร่วมกันในการส่งเสริมความเชื่อมโยง ตลอดจนเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชนข้ามพรมแดนระหว่างมาเลเซียกับไทย รวมไปถึงในภูมิภาคด้วย

26. นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่า การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือผู้โดยสารทางถนนและทางรถไฟเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างมาเลเซียและไทย และจะส่งเสริมการบูรณาการในภูมิภาคอาเซียน ผู้นำทั้งสองจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งสองประเทศเร่งรัดการเจรจาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะอำนวยความสะดวกเรื่องข้อกำหนดใบอนุญาตสำหรับผลิตภัณฑ์จากพืชที่ส่งผ่านประเทศไทยโดยบริการรถไฟเส้นทาง ASEAN Express ระหว่างมาเลเซียกับจีน

 

ความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม

27. นายกรัฐมนตรีทั้งสองตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาต่อเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเห็นพ้องถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านการศึกษาที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนในพื้นที่ชายแดนมาเลเซียและไทย ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงที่จะแสวงหาความร่วมมือในภาคการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา (TVET) ผ่านการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและการจัดตั้งโครงการฝึกอบรมร่วมกัน นอกจากนี้ ไทยยังได้ขอบคุณมาเลเซียที่ได้สร้างขีดความสามารถให้กับชุมชนไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ภายใต้หลักสูตรฝึกอบรมและการเสริมสร้างศักยภาพภายใต้โครงการ Malaysia Technical Cooperation Program (MTCP)

 

การพัฒนาในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

28. ผู้นำทั้งสองเน้นย้ำความสำคัญของความเป็นแกนกลางและความเป็นเอกภาพของอาเซียน พร้อมทั้งยืนยันความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน โดยผู้นำทั้งสองยินดีต่อความคืบหน้าของการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และยินดีต่อการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ปี ค.ศ. 2025 นอกจากนี้ ยังหวังที่จะรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 และแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในปี 2568 ไทยยังได้ประกาศสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียในปี 2568 อย่างเต็มที่ และย้ำความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับมาเลเซียอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในวาระด้านความยั่งยืน

29. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดในเมียนมา โดยผู้นำทั้งสองได้ย้ำถึงความปรารถนาร่วมกันในการหาทางออกด้วยสันติวิธีและยั่งยืนต่อสถานการณ์ในเมียนมา โดยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเมียนมา ผู้นำทั้งสองยังเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตาม ฉันทมติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus : 5PC) ซึ่งยังคงเป็นพื้นฐานหลักของการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาตามเอกสารการทบทวนและข้อตัดสินใจของผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งได้รับการรับรอง ณ เวียงจันทน์ ในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 นอกจากนี้ มาเลเซียแสดงถึงความตั้งใจที่จะจัดตั้งสำนักงานผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนในประเด็นเมียนมา (the Office of the Special Envoy of ASEAN Chair on Myanmar) ฝ่ายไทยยังได้สนับสนุนมาเลเซียอย่างเต็มที่ในการเป็นแกนนำเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา ในฐานะประธานอาเซียนปี 2568

30. ผู้นำทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้ โดยเน้นย้ำว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างสันติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) โดยทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการตามหลักปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC) อย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนการเร่งจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

 

ข้อสรุป

31. นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์จาก (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรม และ (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาการค้ายางพาราและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้ลงนามในช่วงการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 7 เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนของทั้งสองประเทศ

32. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จากทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปต่อความตกลง บันทึกความเข้าใจ (MOU) และเอกสารอื่น ๆ ที่ยังคงคั่งค้าง ให้เสร็จสิ้นก่อนการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 8 ได้แก่

      (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามแดน

      (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารข้ามแดน

      (3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร

      (4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา

      (5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา

      (6) บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

      (7) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านศุลกากร

      (8) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านกลาโหม

      (9) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยแผนดำเนินงานการบริหารจัดการลุ่มแม่น้ำโก-ลกแบบบูรณาการ

      (10) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย

      (11) บันทึกความเข้าใจ/ความตกลงว่าด้วยการรับรองผลการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนแบบคงที่ตามแม่น้ำโก-ลก (พื้นที่เร่งด่วน 8)

33. ตามที่ไทยและมาเลเซียมุ่งสู่ทศวรรษที่ 7 ของความสัมพันธ์ทวิภาคี นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำถึงความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้ผลของการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 7 เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศชาติและประชาชนทั้งสองประเทศ และประชาคมอาเซียน รวมถึงเพื่อการทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ

33. นายกรัฐมนตรีไทยขอบคุณนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและรัฐบาลมาเลเซีย สำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นและการเตรียมการที่ยอดเยี่ยมสำหรับการเยือนมาเลซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี และการจัด
การประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 7 ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการจัดการประชุมหารือ ครั้งที่ 8 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยประเทศไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพ ตามวันเวลาที่ได้ตกลงร่วมกัน

 

* * * * *