รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ก.ค. 2566

| 7,349 view

เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหน้าที่ผู้แทนรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งนาง Gina Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เป็นประธานการประชุม โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการไทยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เข้าร่วมด้วย

ที่ประชุมฯ ได้หารือแนวทางการดำเนินการระยะต่อไปของ IPEF โดยเฉพาะในส่วนเสาความร่วมมือที่ ๓ ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Pillar III: Clean Economy) และเสาความร่วมมือที่ ๔ ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Pillar IV: Fair Economy) และได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการดำเนินโครงการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมภายใต้เสาความร่วมมือที่ ๓ อาทิ ข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการสนับสนุนเงินทุนจำนวน ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศหุ้นส่วน IPEF แผนการจัดการประชุม Investor Forum เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการลงทุน แนวคิดในการจัดตั้งกองทุนสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมนวัตกรรม ผ่านการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และภายใต้เสาความร่วมมือที่ ๔ ได้แก่ การจัดตั้งกลไกการส่งเสริมขีดความสามารถ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาขีดความสามารถผ่านการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคนิคระหว่างประเทศหุ้นส่วน

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำแนวทางการดำเนินความร่วมมือภายใต้เสาความร่วมมือที่ ๓ โดยให้ความสำคัญกับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว สำหรับเสาความร่วมมือที่ ๔ ได้ย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านภาษีและการต่อต้านการทุจริตตามมาตรฐานสากล เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น และสนับสนุนกลไกการส่งเสริมขีดความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศผู้รับเพื่อการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องของแต่ประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ