ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IORA) ครั้งที่ ๒๓ ที่กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IORA) ครั้งที่ ๒๓ ที่กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ต.ค. 2566

| 5,654 view

เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ ๒๓ (23rd Meeting of the Council of Ministers of the Indian Ocean Rim Association) ที่กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกาเป็นประธาน ในฐานะประธาน IORA วาระปี ๒๕๖๖ - ๒๕๖๘

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำความสำคัญของการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียและการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ ไทยได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก IORA กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกให้มีความเปิดกว้าง เสรี ครอบคลุม บนพื้นฐานของหลักกฎหมาย

ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์โคลัมโบ (Colombo Communiqué) เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การรับทราบผลการดำเนินงานของกลไกต่าง ๆ ที่จัดตั้งภายใต้ IORA เช่น พัฒนาการความร่วมมือกับองค์การระดับภูมิภาค และสหประชาชาติ การจัดทำความตกลงกับองค์การระหว่างประเทศ องค์กร และกลุ่มความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสาหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ซึ่งไทยเป็นประเทศสมาชิกก่อตั้งและมีบทบาทนำ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ “วิสัยทัศน์ IORA ค.ศ. ๒๐๓๐ และสืบต่อไป” เป็นวิสัยทัศน์ในการบรรลุสันติภาพ สันติภาพ และความมั่งคั่งในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย
โดยการส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการปรับตัวของภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียเพื่อเผชิญกับความท้าทายในอนาคต

สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๘ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน และการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค ปัจจุบันมีสมาชิก ๒๓ ประเทศ และประเทศหุ้นส่วนคู่เจรจา ๑๑ ประเทศ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ