นางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ACMECS อย่างไม่เป็นทางการ

นางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ACMECS อย่างไม่เป็นทางการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 มิ.ย. 2566

| 6,962 view

เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๖ นางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) อย่างไม่เป็นทางการ (Informal ACMECS Senior Officials’ Meeting) ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้แทนประเทศสมาชิก ACMECS เข้าร่วม

ที่ประชุมได้ทบทวนความคืบหน้าของการดำเนินการความร่วมมือในกรอบ ACMECS ได้แก่ โครงการภายใต้แผนแม่บท ACMECS ฉบับปัจจุบัน (ค.ศ. ๒๐๑๙ - ๒๐๒๓) และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS (ACMECS Development Fund: ACMDF) โดยเห็นพ้องให้เร่งรัดการจัดตั้งกองทุน ACMDF เพื่อให้เป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๑๐ ซึ่ง สปป. ลาว ในฐานะประธาน ACMECS ปัจจุบัน จะเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๖๗

ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการยกร่างแผนแม่บท ACMECS ฉบับใหม่ (ค.ศ. ๒๐๒๔ – ๒๐๒๘) โดยเห็นชอบกับข้อเสนอของไทยให้ร่างแผนแม่บทฉบับใหม่คงไว้ ๓ เสาหลักของความร่วมมือ ได้แก่ เสาที่ ๑ ความเชื่อมโยงไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) เสาที่ ๒ การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS Economies) และเสาที่ ๓ ACMECS อัจฉริยะและยั่งยืน (Smart and Sustainable ACMECS) และรับที่จะพิจารณาข้อเสนอของฝ่ายไทยในการเพิ่มสาขาความร่วมมือในร่างแผนแม่บท ACMECS ฉบับใหม่ อาทิ ด้านห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ ความมั่นคงทางอาหาร และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยินดีต่อการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS (ACMECS Interim Secretariat) ที่ไทย โดยมีสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) สนับสนุนด้านเทคนิค และเห็นชอบกับข้อเสนอของไทยในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในโอกาสการครบรอบ ๒๐ ปีของการจัดตั้ง ACMECS ในปี ๒๕๖๖ เช่น การจัดทำเว็บไซต์ทางการของ ACMECS การประกวดตราสัญลักษณ์ของ ACMECS และการจัดสัมมนาวิชาการ

ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ริเริ่มโดยไทยเมื่อปี ๒๕๔๖ และมีประเทศลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม เป็นสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ ความเชื่อมโยงและการพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาคฯ เพื่อผลประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของประเทศสมาชิก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ