กิจกรรม Informal Media Roundtable with APEC Experts เตรียมพร้อมสื่อมวลชน สู่การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคท่ามกลางความท้าทายในการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙

กิจกรรม Informal Media Roundtable with APEC Experts เตรียมพร้อมสื่อมวลชน สู่การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคท่ามกลางความท้าทายในการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 พ.ค. 2565

| 1,785 view

             เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักเลขาธิการเอเปคจัดกิจกรรม Informal Media Roundtable with APEC Experts ในหัวข้อ “Towards APEC to MRT 2022: Recovering from COVID-19 and Global Disruptions” ณ โรงแรมแชงกรี-ลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนไทยและต่างชาติได้รับทราบและแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการนำเสนอความคืบหน้าในประเด็นหลัก ๆ ที่ไทยและสมาชิกเอเปคกำลังขับเคลื่อนท่ามกลาง  ความท้าทายของโลกในปัจจุบัน โดยไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนกระบวนการในเอเปคไปข้างหน้าภายใต้แนวคิดหลัก "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" โดยมีนายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศเป็นผู้ดำเนินรายการ

กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศจำนวน ๑๔ คน โดยนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคไทย ได้สรุปความคืบหน้าของเอเปค ใน ๓ มิติ คือ

             ๑. การเปิดกว้างสู่ทุกโอกาส (Open.)

             การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ เป็นกลไกสำคัญในการสร้างพื้นฐานไปสู่การการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค โดยเฉพาะประเด็นการรื้อฟื้นการหารือเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่คำนึงถึงบทเรียนจากโควิด-๑๙ เป้าหมายสูงสุดของการหารือในประเด็นนี้ไม่ใช่การริเริ่มความตกลงใหม่แต่เป็นการปูพื้นฐานสำหรับการมีเขตการค้าเสรีที่ทันสมัยและสามารถตอบสนองต่อประเด็นท้าทายใหม่ ๆ ได้อย่างทันท่วงที สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ จะเป็นเวทีสำหรับการหารือระหว่างภาครัฐกับเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและส่งเสริมแนวคิดใหม่ ๆ ความสำเร็จของการประชุมนี้จะสะท้อนถึงความสำเร็จของเอเปคในฐานะองค์กรที่ relevant และตอบสนองต่อบริบทใหม่ ๆ ของโลกจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อไปยังการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๑๒ (the Twelfth Ministerial Conference: MC12) ในเดือนมิถุนายนนี้ด้วย

             ๒. การเชื่อมโยงในทุกมิติ (Connect.)

             คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ (APEC Safe Passage Taskforce) เป็นกลไกสำคัญเพื่อมุ่งหารือให้เขตเศรษฐกิจร่วมกันส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีการติดตามพัฒนาการของข้อเสนอโครงการที่สำคัญ โดยเป็นข้อเสนอของไทย ๓ โครงการ คือ (๑) โครงการจัดทำฐานข้อมูลเอเปค เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการเดินทางข้ามแดนของเอเปค  (๒) โครงการจัดทำระบบตรวจสอบใบรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกัน เพื่อให้การตรวจสอบเอกสารด้านสุขภาพประกอบการเดินทางในยุคโควิด-๑๙ ทำได้ง่ายและรวดเร็ว โดยทั้งสองโครงการอยู่ในกระบวนการรับรองระยะสุดท้าย เพื่อให้ไทยสามารถดำเนินโครงการและผลักดันให้เริ่มเปิดใช้งานได้จริงภายในไตรมาสที่สามของปีนี้  (๓) โครงการขยายกลุ่มผู้ใช้บัตรเดินทางนักธุรกิจเอเปค (ABTC) ให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSMEs และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนในหลักการและอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง และ (๔) ข้อเสนอโครงการจัดทำหลักการเพื่อส่งเสริมใช้งานร่วมกันของใบรับรองการฉีดวัคซีนในเอเปคที่เสนอโดยออสเตรเลีย ซึ่งการผลักดันในประเด็นดังกล่าวจะเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อความท้าทายในอนาคตและจะเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในสาขาการเชื่อมโยงภายใต้การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ในปี ๒๕๖๕

             ๓. การสร้างสมดุลในทุกด้าน (Balance.)

                โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) เป็นประเด็นหลักในการขับเคลื่อนวาระด้านการสร้างสมดุลในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ซึ่งไทยได้เสนอจัดทำเอกสารผู้นำ “เป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจ BCG” โดยเริ่มกระบวนการหารือเพื่อจัดทำเอกสารนี้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๖๔ ในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการที่ จ.ภูเก็ต ปัจจุบัน ร่างเอกสารฉบับนี้ตั้งเป้าหมายสำคัญ ๔ ข้อเพื่อสร้างความยั่งยืนในภูมิภาค ประกอบด้วย (๑) การจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศซึ่งรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (๒) การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน (๓) การบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ (๔) การลดและบริหารจัดการของเสีย

                นอกจากนี้ นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และนาย Carlos Kuriyama นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสนับสนุนนโยบาย สำนักเลขาธิการเอเปค ได้ร่วมบรรยายสรุป โดยเน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือกันในเขตเศรษฐกิจเอเปคและการรื้อฟื้นการหารือเรื่อง FTAAP ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการปิดพรมแดน โดยในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้รับผลกระทบทางตรงจากการกีดกันทางการค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัน ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยราว ๖ เท่า ประเด็นเร่งด่วนเหล่านี้ถูกสะท้อนผ่านการหารือในกรอบการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และกระบวนการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการหารือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Dialogue) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในกรอบเอเปค

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ