รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมทางไกล COVID-19 Global Action Plan (GAP) Ministerial Meeting

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมทางไกล COVID-19 Global Action Plan (GAP) Ministerial Meeting

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 ก.ค. 2565

| 24,016 view

เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมทางไกล COVID-19 Global Action Plan (GAP) Ministerial Meeting ร่วมกับรัฐมนตรีจากกว่า ๒๐ ประเทศทั่วโลก และผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ตามคำเชิญของนาย Hiyashi Yoshimasa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และนาย Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

การประชุมดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการประชุม Global COVID-19 Summit ครั้งที่ ๑ และ ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔ และวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ที่นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วม รวมถึงการประชุมเตรียมการ GAP Senior Official Meeting ที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยเข้าร่วมเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ โดยสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะใช้ข้อริเริ่ม GAP ในการรักษา พลวัตรของกระบวนการหารือระหว่างประเทศพันธมิตรและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในความพยายามผลักดันการยุติการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือกับการระบาดในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม

ในการประชุมดังกล่าว รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ใช้โอกาสย้ำคำมั่น ของไทยที่จะทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศในการยุติการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเร็วที่สุด โดยบังคับใช้มาตรการที่บูรณาการและเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการรับมือกับ COVID-19 อย่างครอบคลุม เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขที่กำลังเพิ่มขึ้น อีกทั้งย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกับชุมชนในการลดผลกระทบจาก COVID-19 ต่อประชาชน รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังเน้นประเด็นสำคัญที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องดำเนินงานร่วมกัน ได้แก่ (๑) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขผ่านการบรรลุเป้าหมายเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุข และการสร้างบุคลากรฯ ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางให้เพียงพอต่อความต้องการ (๒) การส่งเสริมการเข้าถึงมาตรการป้องกันทางการแพทย์อย่างยั่งยืนและเท่าเทียม โดยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตในประเทศกำลังพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น และ (๓) การลงทุนในด้านการฝึกอบรมและการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุขในภูมิภาคและระดับโลก โดยในส่วนของไทย โครงการด้านการพัฒนาที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ครอบคลุมหลากหลายสาขาด้านสาธารณสุข อาทิ การบริหารจัดการและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐาน การป้องกันและการควบคุมโรค

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับเชิญให้ร่วมผนึกกำลังในการขับเคลื่อน GAP ร่วมกับประเทศพันธมิตรด้านสาธารณสุขโลกและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติการแพร่ระบาดของ COVID-19 และผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการระบาดในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยไทยได้มีบทบาทร่วมเป็นประเทศที่ผลักดันการดำเนินการในกรอบสาขาการดำเนินงาน (Line of Efforts: LOE) ที่ ๔ เรื่อง การสนับสนุนบุคลากรทางสาธารณสุข (Support Health Care Workers) ทั้งนี้ การดำเนินการตามข้อริเริ่ม GAP จะมีการสานต่อในการประชุมระดับสูงที่คาดว่าจะมีขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๗ ในเดือนกันยายนนี้ต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ