ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมทางไกลระดับรัฐมนตรี COVID-19 Global Action Plan (GAP) for Enhanced Partnership

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมทางไกลระดับรัฐมนตรี COVID-19 Global Action Plan (GAP) for Enhanced Partnership

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.พ. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 ก.พ. 2566

| 16,727 view

เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี COVID-19 Global Action Plan (GAP) for Enhanced Partnership Ministerial Meeting จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยมีนาย Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นประธาน

การประชุมฯ มีผู้เข้าร่วมจากกว่า ๒๕ ประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ที่ทำงานร่วมกันในฐานะพันธมิตรเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการยุติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายสาขาตลอดจนเสริมสร้างความพร้อมและการตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในอนาคต

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการสนับสนุนการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องของพันธมิตรในกรอบ GAP นอกเหนือจากเรื่อง COVID-19 โดยเฉพาะผ่านช่องทางของกระทรวงการต่างประเทศ ดังนี้

(๑) ความเชื่อมโยงระหว่าง “นโยบายต่างประเทศ” และ “สุขภาพโลก” สะท้อนให้เห็นว่า “นโยบายต่างประเทศ” สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในประเด็นด้านสุขภาพโลก อีกทั้งยังส่งเสริมค่านิยมพื้นฐาน อาทิ ความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์

(๒) ประชาคมระหว่างประเทศควรมองเรื่อง “สุขภาพ” เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการดำเนินนโยบาย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า (Health for All) ซึ่งครอบคลุมการเข้าถึงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม และสนับสนุนการพัฒนาและการจัดสรรสินค้าสาธารณะโลกด้านสุขภาพ ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน

(๓) พันธมิตรควรยกระดับความมุ่งมั่นทางการเมือง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนของประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากความท้าทายใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยการยกระดับความมุ่งมั่นดังกล่าวรวมถึงการย้ำคำมั่นเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายน ๒๕๖๖ และการผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

การประชุมฯ เป็นเวทีสำหรับไทยในการย้ำความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมด้านสาธารณสุข เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีพื้นที่ในการดำเนินการทางนโยบายได้เพิ่มขึ้น ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมในประเด็นต่าง ๆ นอกเหนือจาก COVID-19 อีกทั้งยังจะเป็นโอกาสในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมและมาจากแง่มุมที่หลากหลายเกี่ยวกับโครงสร้างดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความพร้อมและขีดความสามารถในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ดังกล่าวยังครอบคลุมการขับเคลื่อน “ความมั่นคงทางสุขภาพ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ “ความมั่นคงประเทศ” อีกด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ