รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้างความยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับโลก ความร่วมมือเกี่ยวกับวัคซีน และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการประชุม G7 Foreign and Development Ministers' Meeting

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้างความยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับโลก ความร่วมมือเกี่ยวกับวัคซีน และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการประชุม G7 Foreign and Development Ministers' Meeting

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,128 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อสร้างความยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับโลก ความร่วมมือเกี่ยวกับวัคซีน และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางสาธารณสุขของโลกในการประชุม G7 Foreign and Development Ministers' Meeting

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม G7 Foreign and Development Ministers’ Meeting ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยการประชุมดังกล่าวมีนางเอลิซาเบท (ลิซ) ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและความเท่าเทียมสหราชอาณาจักรเป็นประธาน และผู้เข้าร่วมประกอบด้วยประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น รวมถึงสหภาพยุโรป และแขกของประธาน ได้แก่ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพแอฟริกา และประเทศสมาชิกอาเซียน

การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่ม G7 เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้งหมดเข้าร่วม โดยในส่วนของการประชุมอาเซียน-G7 นั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสมาชิก G7 ซึ่งต่างมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับอาเซียนในฐานะคู่เจรจาหรือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อสนับสนุนอาเซียนในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาค และฟื้นฟูอย่างยั่งยืนภายหลังโควิด-๑๙ นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังได้เข้าร่วมการประชุม G7 ในหัวข้อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล และการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีนและความมั่นคงด้านสาธารณสุข

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ และบทบาทที่สร้างสรรค์ของ G7 ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกผ่านการดำเนินความร่วมมือในสาขาภายใต้ ASEAN Outlook on the Indo-Pacific รวมทั้งได้ผลักดันความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลสำหรับ MSMEs การส่งเสริมการเงินสีเขียวเพื่อระดมทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการนำแนวทางเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับโลก ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือเกี่ยวกับการเข้าถึงและการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนวาระเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) เพื่อช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางสาธารณสุขของโลกในภาพรวม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ