รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต (Summit of the Future) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต (Summit of the Future) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ก.ย. 2567

| 4,062 view

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต (Summit of the Future) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยการประชุมได้รับรองคำมั่นเพื่ออนาคต (Pact for the Future) เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม และเอกสารภาคผนวก ๒ ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาว่าด้วยอนุชนรุ่นหลัง (Declaration on Future Generations) และคำมั่นด้านดิจิทัลระดับโลก (Global Digital Compact)

รัฐมนตรีฯ กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “Multilateral Solutions for a Better Tomorrow” แสดงความเห็นต่อการสร้างอนาคตร่วมกันของโลกว่า ทุกคนจะได้รับการปกป้องและมีความเจริญรุ่งเรือง ผ่านความมุ่งมั่นทางการเมืองเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลกไปด้วยกัน โดยได้เน้นประเด็นต่าง ๆ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การต่อต้านยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติและไซเบอร์ การปฏิรูปสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้สถาปัตยกรรมโลกสะท้อนผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนามากยิ่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมพลังของเยาวชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างอนาคตที่ต้องการ

ประเทศไทยสนับสนุนให้กระบวนการจัดทำ Pact for the Future สะท้อนถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมให้ความเห็นต่อการยกร่างเอการดังกล่าว พร้อมหวังว่าเอกสารดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายของโลก และให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยในปีนี้ ไทยได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสหประชาชาติและ Summit of the Future ให้กับสาธารณชนด้วย

การประชุม Summit of the Future มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเร่งรัดการดำเนินการของภาคส่วนต่าง ๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และกำหนดประเด็นสำคัญและทิศทางการดำเนินงานของสหประชาชาติเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายในโลกปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งยังเป็นกระบวนการสำคัญในการส่งเสริมระบบพหุภาคีนิยมที่มีสหประชาชาติเป็นแกนกลาง และรักษาให้สหประชาชาติยังคงมีบทบาทและความหมาย (relevance) ตลอดจนสามารถตอบสนองต่อความต้องการของรัฐสมาชิก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ