รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศต่าง ๆ และผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ ในโอกาสเดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศต่าง ๆ และผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ ในโอกาสเดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,999 view

เมื่อวันที่ ๒๐-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (Ministerial Forum for Cooperation in the Indo-Pacific) ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยในช่วงการประชุมฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือในลักษณะ corridor meeting กับนายเย็พเพอ โคโฟด (Jeppe Kofod) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกหลายประเทศ และผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ดังนี้

- นางมาริส เพย์น (Senator the Honourable Marise Payne) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ออสเตรเลีย ๗๐ ปี ฝ่ายออสเตรเลียเน้นย้ำการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ โดยนางเพย์นแสดงความสนใจที่จะเดินทางเยือนไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในประเด็นสถานการณ์ในเมียนมา

- นางนาไนอา มาฮูทา (The Honourable Nanaia Mahuta) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้านิวซีแลนด์ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในประเด็นความร่วมมือทวิภาคี อนุภูมิภาค และภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบอาเซียนและกรอบ ACMECS และกระชับความสัมพันธ์ที่ดำเนินมากว่า ๖๕ ปี และส่งเสริมความร่วมมือกับนิวซีแลนด์ในการฟื้นฟูประเทศและภูมิภาคจากผลกระทบโควิด-๑๙ โดยเน้นเพิ่มพูนความร่วมมือในสาขาที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย และแผนเศรษฐกิจ ๓๐ ปีของนิวซีแลนด์ (New Zealand Economic Plan) โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเกษตร นวัตกรรมอาหาร พลังงานทดแทน สาธารณสุข การศึกษา และ
การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รวมถึงติดตามและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการ
ในภูมิภาค โดยเฉพาะสถานการณ์ในเมียนมา

- นายฟรานส์ ทิมเมอร์มานส์ (Frans Timmermans) รองประธานบริหารคณะกรรมาธิการยุโรปด้านแผนปฏิรูปสีเขียว ซึ่งฝ่ายไทยยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) และความตกลงปารีส ในการนี้ ไทยจึงมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๖๕ โดยสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในด้าน
การเปลี่ยนผ่านสีเขียว ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา รวมทั้งสถานการณ์บริเวณชายแดนรัสเซีย – ยูเครน

- นายมาทีอัส คอร์มันน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ณ สำนักงานใหญ่ OECD
ณ กรุงปารีส รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันความร่วมมือกับ OECD ในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งในระดับทวิภาคี ในกรอบอาเซียน และในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค นอกจากนี้
ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการปรับทิศทางของโครงการ Country Programme (CP) ระหว่างไทยกับ OECD ระยะที่ ๒ ให้มุ่งยกระดับการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้ไทยมีกฎระเบียบที่สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD มากยิ่งขึ้นต่อไป

- นางโอเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความยินดีในโอกาสที่นางอาซูเลย์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO สมัยที่ ๒ รวมทั้งได้หารือกันในประเด็นบทบาทไทยในกรอบ UNESCO อาทิ การเป็นสมาชิกภาพของไทยในคณะกรรมการบริหารยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกโลก โดยฝ่ายไทยได้เชิญนางอาซูเลย์เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกฯ หรือ APREMC-II ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของคณะกรรมการอำนวยการของกระบวนการบาหลี (Bali Process Steering Group) ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียที่
กรุงปารีส อันเป็นเวทีหารือระดับภูมิภาค เพื่อการจัดการกับการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ การลักลอบขนคน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติ

ในการเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และข้าราชการทีมประเทศไทยประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส รวมทั้งรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตฯ และนโยบายของฝรั่งเศสภายใต้ประธานาธิบดี
เอมานูว์แอล มาครง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเดือนเมษายน ศกนี้

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ